บทที่ 1
การสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มศว ประสานมิตร:
กระบวนทัศน์“การส่งเปรต” (power-based paradigm)
VS กระบวนทัศน์“การสร้างปราชญ์”(wisdom-based paradigm)[1]
ตอนที่ 1
1.บทกล่าวนำ
เนื่องจากคณบดีคณะสังคมศาสตร์คนปัจจุบัน[2] กำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวาระแรกในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ดังนั้น ในช่วงระยะเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2550 จึงปรากฏกระแสเสียงจากประชาคมสังคมศาสตร์ เกี่ยวกับการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์คนต่อไป ในหลายลักษณะต่างๆกันไปตามความสนใจและข้อจำกัดในการรับรู้ของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม กระแสเสียงและกระแสความสนใจในประเด็นดังกล่าวสามารถประมวลได้เป็น 4 ลักษณะเป็นอย่างน้อย(ทั้งนี้ ไม่นับรวมเอาสมาชิกประชาคมสังคมศาสตร์ ประเภทที่เรียกว่า “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” ดังต่อไปนี้
(1)ความสนใจและความสงสัยว่า คณดีคณะสังคมศาสตร์คนต่อไปจะเป็นใคร กระแสความสนใจในในลักษณะแรกนี้ มีเพียงความอยากรู้คำตอบว่า “เป็นใคร” ก็เท่านั้นเอง
(2)การคาดคะเนเอาว่า คณบดีคณะสังคมศาสตร์คนต่อไปคงจะเป็นคณบดีคนเดิม ที่จะดำรงตำแห่งต่อในวาระที่สอง เนื่องจาก เป็นคนในฝ่ายของคณะผู้บริหาร มศว กระแสความสนใจในลักษณะที่สองนี้ อาศัยข้อมูลและประสบการณ์ในช่วงแรกๆของการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มาเป็นพื้นฐานการคาดคะเน แต่ก็มิได้นำไปสู่การกระทำใดๆที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เข้าลักษณะ “business as usual”
(3)การคาดคะเนเอาว่า คณบดีคณะสังคมศาสตร์คนต่อไปคงจะเป็นคณบดีคนใหม่ ที่ฝ่ายบริหารของ มศว เตรียมการเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว กระแสความสนใจในลักษณะที่สามนี้ อาศัยข้อมูลและประสบการณ์ในช่วงหลังๆของการดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสังคมศาสตร์ และการเข้าสู่ตำแหน่งของอธิการบดีในวาระที่สองของอธิการบดีคนเดิม[3] มาเป็นพื้นฐานการคาดคะเน แต่ก็มิได้นำไปสู่การกระทำใดๆที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง(แม้ต้องการให้เปลี่ยนก็ตามที) เข้าทำนอง “น้ำท่วมปาก” หรือ “no way out” และ
(4)แนวทางการสร้างความสนใจและความกระตือรือร้น ของประชาคมสังคมศาสตร์ในการร่วมกำหนดทิศทางและร่วมสร้างอนาคตระยะ 4 ปีข้างหน้าของคณะสังคมศาสตร์ เพื่อให้คณบดีคณะสังคมศาสตร์คนต่อไป(ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม)มีแนวทางการปฏิบัติภารกิจที่ชัดเจน บนพื้นฐานของความปรารถนาดีและจินตนาการร่วมกันของประชาคมสังคมศาสตร์ กระแสความสนใจนี้ อยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ภารกิจร่วมในอนาคตที่ชัดเจนของคณะสังคมศาสตร์ เป็นเงื่อนไขของความสำเร็จและความสุขของประชาคมสังคมศาสตร์ แม้เป็นเรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อนและมีความยากยิ่งก็ตาม แต่สมควรทำและควรผลักดันให้เป็นจริง กล่าวอีกนัยหนึ่ง กระแสความสนใจนี้เชื่อมั่นว่าประชาคมสังคมศาสตร์ร่วมสร้างอนาคตให้เป็นจริงได้ แม้อยู้ภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบปิดของ มศว ดังที่รับทราบกันดีอยู่ก็ตาม
ผู้เขียนบทความนี้ เป็นผู้หนึ่งในคนจำนวนน้อยในประชาคมสังคมศาสตร์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของกระแสความสนใจที่สี่ แม้จะไม่ปฏิเสธว่ากระบวนการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ถูกวางเงื่อนไขบางอย่างมาล่วงหน้าแล้วก็ตาม แต่ผู้เขียนยังเชื่อมั่นว่า การนำเสนอข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการอย่างตรงไปตรงมา และการวิเคราะห์ วิพากษ์ด้วยความปราถนาดี เป็นกลาง และไม่มีผลประโยชน์ซ่อนเร้น จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยก็ในทางสติปัญญาและในทางการเรียนรู้ของสมาชิกประชาคมสังคมสาสตร์ เป็นการเฉพาะ และของประชาคมมหาวิทยาลัยในวงกว้าง เป็นการทั่วไป
2.วัตถุประสงค์ของบทความ
วัตถุประสงค์ของบทความนี้ มีดังต่อไปนี้
ประการแรก ผู้เขียนต้องการนำเสนอข้อเท็จจริง เกี่ยวกับกระบวนการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์(ที่กำลังจะเริ่มบางขั้นตอนในวันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม 2550[4]) ตามเงื่อนไขของข้อบังคับ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2546
ประการที่สอง ผู้เขียนต้องการวิเคราะห์และวิพากษ์ เพื่อชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าภายใต้กรอบกฎหมายที่เป็นตัวกำหนดกระบวนการสรรหาคณบดีในปัจจุบัน[5] มีนัยยะซ่อนเร้นอะไรบ้าง ข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมของประชาคมสังคมศาสตร์ปรากฏในลักษณะใดบ้าง และอันตราย รวมทั้งความขัดแย้งที่อาจจะตามมาเป็นอย่างไรบ้าง
ประการที่สาม ผู้เขียนต้องการนำเสนอทิศทางในอนาคต เพื่อเป็นกรอบสำหรับกระบวนการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์(และคณบดีคณะอื่นๆด้วย) เพื่อให้เกิดความสำเร็จและความสุขในฐานะที่เป็นองค์การร่มเย็นเป็นสุข
3.วิธีการในการศึกษา
ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้เขียนใช้ประโยชน์จากวิธีการศึกษา 2 แบบ ดังนี้
(1)การศึกษาและวิเคราะห์เอกสาร(documentary study and analysis) เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความชัดเจนในเนื้อหาสาระของเอกสารที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การวิเคราะห์ในส่วนนี้ จึงเป็นการวิเคราะห์เนื้อหา(content analysis)เป็นหลัก
(2)การศึกษาด้วยวิธีการแบบนักมานุษยวิทยา(anthropological method) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะประยุกต์ใช้กับการศึกษาชุมชนเป็นหลัก ในกรณีนี้ ถือได้ว่าเป็นการประยุกต์ใช้ในระดับองค์การ(anthropology of organization)ในบางประเด็นที่สนใจ เนื่องจากผู้เขียนเป็นสมาชิกขององค์การที่ตนเองกำลังศึกษาอยู่ การมีโอกาสที่จะซักถามพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ(informal conversation)กับสมาชิกอื่นๆในองค์การที่มีส่วนได้เสีย(stakeholders) จึงสามารถทำได้โดยสะดวกและอยู่ในสภาวะที่เป็นธรรมชาติตามปกติ(natural setting) นอกจากนี้ ยังสามารถทำการสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง(direct observation) เพื่อทำความเข้าใจความคิดและพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาคณบดีด้วย
ด้วยวิธีการศึกษาใน 2 ลักษณะที่กล่าวมา ผู้เขียนจึงสามารถนำเอา “ทัศนะวงใน”(emic view) และ “ทัศนะวงนอก”(etic view) มาเป็นวัตุดิบที่สำคัญในการนำเสนองานศึกษาในครั้งนี้
4.ข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับการสรรหาคณบดีภายใต้กรอบกฎหมาย
ข้อเท็จจริงเบื้องต้น 10 ประการที่สำคัญ ในการทำความเข้าใจกระบวนการสรรหาคณบดีในปัจจุบัน มีดังต่อไปนี้
ประการแรก คณะกรรมการบริหาร มศว จะประชุมร่วมกับคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์(โปรดดูข้อเท็จจริงประการที่ 2 ประกอบ) เพื่อพิจารณากำหนดภารกิจและนโยบายในการพัฒนาคณะสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะภารกิจหลัก ที่ต้องการให้คณบดีคณะสังคมศาสตร์ดำเนินการในช่วง 4 ปีที่จะดำรงตำแหน่ง และพิจารณากำหนดสัดส่วนและน้ำหนักของคุณลักษณะ 5 ประการ[6]ของผู้สมควรดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสังคมศาสตร์(โปรดดูข้อเท็จจริงประการที่ 3 ประกอบ)
ประการที่สอง คณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ได้รับการแต่งตั้งจากสภา มศว ไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนคณบดีคณะสังคมศาสตร์ครบวาระ โดยมีจำนวน 7 คน และมีองค์ประกอบ ดังนี้
(1)อธิการบดีเป็นประธานกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์
(2)คณบดีคณะอื่น หรือผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก จำนวน 3 คน เป็นกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์(โปรดดูข้อเท็จจริงประการที่ 4 ประกอบ) และ
(3)ผู้แทนคณาจารย์ประจำของคณะสังคมศาสตร์ จำนวน 3 คน เป็นกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์[7](โปรดดูข้อเท็จจริงประการที่ 5 ประกอบ)
ประการที่สาม คุณสมบัติคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ตามพระราชบัญญัติ มศว มาตรา 29 ประกอบกับ มาตรา 27 มี 2 ประการ คือ
(1)ได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยที่สภา มศว รับรอง และ
(2)ทำการสอนหรือมีประสบการณ์การบริหาร ไม่น้อยกว่า 3 ปีในมหาวิทยาลัยที่สภา มศว รับรอง
นอกจากนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ยังต้องมีคุณลักษณะเพิ่มเติมอีก 5 ประการ ดังต่อไปนี้
(1)มีประสบการณ์ทางการบริหาร
(2)มีประสบการณ์ทางวิชาการและการวิจัย
(3)มีความสามารถในการทำงานร่วมกับหัวหน้าภาควิชา และผู้บริหารในมหาวิทยาลัย
(4)มีความสามารถในการติดต่อ และประสานงานกับวงการภายนอกมหาวิทยาลัย
(5)มีวิสัยทัศน์เหมาะสมกับการดำเนินงานและพัฒนาคณะวิชา ตามทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัย[8](ข้อบังคับ ข้อ 7)
ประการที่สี่ กรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ จำนวน 3 คน ที่เป็นคณบดีคณะอื่น หรือผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ได้รับการเสนอชื่อตามที่คณะกรรมการบริหาร มศว กำหนด[9]
ประการที่ห้า กรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ จำนวน 3 คน ที่เป็นตัวแทนคณาจารย์ ได้มาจากการเลือกตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหาร มศว กำหนด[10]
ประการที่หก คณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มีอำนาจพิจารณาและกลั่นกรอง รายชื่อบุคคลที่สมควรเป็นคณบดีคณะสังคมศาสตร์(โปรดดูข้อเท็จจริงประการที่ 7 ประกอบ) ให้เหลือจำนวน 1 ชื่อ เพื่อเสนอต่ออธิการบดี และอธิการบดีนำเสนอต่อสภา มศว ต่อไป พร้อมประวัติและผลงาน[11] (ข้อบังคับ ข้อ 10 และข้อ 11)
ประการที่เจ็ด รายชื่อบุคลลที่สมควรเป็นคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ต้องไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือการหยั่งเสียง แต่ได้มาจากการเสนอชื่อของภาควิชา[12] และสำนักงานคณบดีคณะสังคมศาสตร์(โปรดดูข้อเท็จจริงประการที่ 8 ประกอบ)ซึ่งผ่านการพิจารณาของที่ประชุมแล้ว[13]
ประการที่แปด ภาควิชาและสำนักงานคณบดีคณะสังคมศาสตร์ เสนอชื่อได้ไม่เกิน 3 ชื่อ พร้อมประวัติ ผลงาน และความเหมาะสมอื่นๆ(ดูข้อเท็จจริงประการที่ 9 ประกอบ)ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากำหนด[14]
ประการที่เก้า ผู้มีสิทธิเสนอชื่อในภาควิชาและสำนักงานคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มีคุณสมบัติเป็นข้าราชการหรือพนักงานมหาวิทยาลัย ที่ปฏิบัติงานใน มศว มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน[15]
ประการที่สิบ กรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสังคมศาสตร์ และไม่มีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสังคมศาสตร์[16]
5. ความหมายแฝงเร้นภายใต้กรอบกฎหมาย
หากเราละความสนใจไปจากประเด็นที่ว่า ข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาคณบดี ฉบับปัจจุบัน ร่างขึ้นเมื่อใด โดยใคร และเพื่อสนองวัตถุประสงค์หรือประโยชน์ของใครเป็นที่ตั้งแล้ว นัยยะสำคัญแฝงเร้นที่ปรากฏในโครงสร้างและกระบวนการสรรหาคณบดี ดังที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นนัยยะสำคัญทางด้านการเมืองในองค์การ(implication of administrative politics) ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญๆ 3 ประการ ดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง การสร้าง“เงื่อนไขเชิงโครงสร้าง”(structural conditioning) ให้คณะกรรมการบริหาร มศว สามารถมีอิทธิพลเหนือคณะกรรมการสรรหาคณบดีได้อย่างแยบยล(unnoticeably dominant positioning) โดยมีอธิการบดีทำหน้าที่เป็นปัจจัยเชื่อมโยง(functional linking pin)ให้เกิดสภาวะการมีอิทธิพลเหนือดังกล่าว เพราะอธิการบดีทำหน้าที่เป็นทั้งประธานคณะกรรมการบริหาร มศว และประธานคณะกรรมการสรรหาคณบดี ในขณะเวลาเดียวกัน
ประการที่สอง “เงื่อนไขเชิงโครงสร้าง”ที่เพิ่งกล่าวมา นำไปสู่“โอกาสทางพฤติกรรมแบบจำกัด”(limited behavioral opportunity)ที่อธิการบดีสามารถ“ครอบงำ”การได้มาซึ่งสิ่งสำคัญ 5 ประการ คือ
(1)ภารกิจและนโยบายในการพัฒนาคณะสังคมศาสตร์ ในระยะ 4 ปีข้างหน้า
(2)การกำหนดสัดส่วนและน้ำหนักของคุณลักษณะเพิ่มเติม 5 ประการของคณบดีคณะสังคมศาสตร์
(3)กรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ในฝ่ายของคณบดีคณะอื่นๆ หรือผู้อำนวยการสำนัก/สถาบันอื่นๆ จำนวน 3 คน
(4)หลักเกณฑ์ในการได้มาซึ่งกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ที่เป็นผู้แทนคณาจารย์ จำนวน 3 คน
(5)การมีสัดส่วนคะแนนเสียงของฝ่ายบริหาร มากกว่าคะแนนเสียงของฝ่ายผู้แทนคณาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ในคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์
ประการที่สาม การกำหนดเป็นข้อห้าม มิให้การได้มาซึ่งรายชื่อบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะสังคมศาสตร์ จากภาควิชาและสำนักงานคณบดีคณะสังคมศาสตร์ โดยการเลือกตั้งหรือการหยั่งเสียง
นัยยะสำคัญทางด้านการเมืองในองค์การ ทั้ง 3 ประการที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ข้อบังคับฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ มุ่งที่จะให้อธิการบดี มศว สามารถที่จะ“กุมบังเหียน”(manipulation)สถานการณ์ทั้งหมด ได้อย่างแยบยลและชอบธรรมตามเงื่อนไขของข้อกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้อง กลายเป็นพฤติกรรมแบบยอมจำนวน ไร้ทางออก และไร้ความหมาย (involuntary, desperate and meaningless behavior)
หากกล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้ว “เงื่อนไขเชิงโครงสร้าง” และ“โอกาสทางพฤติกรรมแบบจำกัด”ที่กล่าวมา ส่งผลให้ตำแหน่งคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มีลักษณะเป็นเพียง “ผู้สนองความต้องการในเชิงนโยบาย”(respondent of policy preference)ของอธิการบดีเท่านั้น มิใช่สถานะของผู้นำเชิงวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นสู่การปรับเปลี่ยนโครงรูปองค์การ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ของสมาชิกในประชาคมสังคมศาสตร์(visionary and transformational leadership on the basis of all members’ meaningful participation)แต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า พฤติกรรมของคณบดีสังคมศาสตร์ในอนาคตทุกคน จะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป แต่ทว่าด้วยโครงสร้างและกระบวนการที่ถูกจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า(pre-arranged structure and process)ดังที่กล่าวมา ทำให้ความหมายในเชิงสัญลักษณ์(symbolic meaning)ของตำแหน่งคณบดีสังคมศาสตร์ เป็นไปได้เพียงเท่านั้นนั่นเอง ขณะที่โดยหลักการแล้ว ภายใต้กรอบการบริหารองค์การของ มศว ตามพระราชบัญญัติ มศว พ.ศ.2541 นั้น นโยบายในการบริหาร มศว คือผลผลิตร่วมจากพลังความคิด จินตนาการ และความปรารถนาดีของประชาคม มศว ซึ่งสภา มศว เป็นผู้ริเริ่มกระบวนการและอนุมัติรับรองผลผลิตดังกล่าว[17] หาใช่เป็นนโยบายเฉพาะตัวของอธิการบดี มศว คนใดคนหนึ่งแต่อย่างใดไม่
6. ข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมของประชาคมสังคมศาสตร์
“เงื่อนไขเชิงโครงสร้าง”และ“โอกาสเชิงพฤติกรรมแบบจำกัด” ที่ผู้เขียนได้สะท้อนให้เห็นและนำเสนอมาข้างต้น กลายเป็น“กลเม็ดแฝงเร้นเชิงกลยุทธ์ที่คาดไม่ถึง”(unexpected strategic hidden tricks) ซึ่งนำไปสู่ข้อจำกัดที่สำคัญในการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ของประชาคมสังคมศาสตร์อย่างน้อย 3 ประการ ดังต่อไปนี้
ประการแรก ข้อจำกัดในการสร้างวิสัยทัศน์ร่วม(shared vision) และทิศทางอนาคตร่วม(common future direction)ของคณะสังคมศาสตร์ เพื่อเป็นวาระแห่งสถาบัน(organizational agenda)สำหรับคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ในการสร้างศรัทธา ในการระดมพลังสร้างสรรค์ และในการนำพาประชาคมสังคมศาสตร์ไปสู่ความสำเร็จ ความสุข และความภูมิใจ ภายใต้กรอบนโยบายมหภาคของ มศว เนื่องจากว่า ข้อบังคับในการสรรหาคณบดีข้างต้น“ตีวง”(demarcate)อย่างคับแคบให้วิสัยทัศน์ร่วมและทิศทางอนาคตร่วมของคณะสังคมศาสตร์ ถูก“ปั้นแต่ง”(constructed) และถูก“ตีความ”(interpreted) โดยคณะกรรมการบริหาร มศว และคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์เท่านั้น
เป็นที่แน่นอนว่า หากตั้งคำถามทางวิชาการว่าคณะสังคมศาสตร์มีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข และมีข้อจำกัดอะไรอยู่บ้าง มีความเข้มแข็งและมีโอกาสอะไรอยู่บ้าง ในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าบนหนทางสายเดียวกันกับ มศว อย่างเสมอบ่าเสมอไหล่และอย่างรู้สำนึก คณะกรรมการบริหาร มศว และคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ย่อมไม่สามารถตอบได้อย่างถูกต้องและชัดเจนได้เลย ทั้งนี้ เพราะเหตุว่า คณะสังคมศาสตร์เป็นองค์กรทางสังคมบนฐานวิชาการแบบหนึ่ง(academic-based social organization) ที่มีชีวิตและความสลับซับซ้อนเป็นของตนเอง มิใช่วัตถุเชิงกายภาพ(physical object)ที่สามารถแสวงหาคำตอบสากล เกี่ยวกับโครงสร้างทางโมเลกุล ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ทางด้านเคมี ฟิสิกส์ หรือชีววิทยาได้เลย การกำหนดเอาเองเป็นลายลักษณ์อักษรในข้อบังคับว่า คณะกรรมการบริหาร มศว และคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ เป็นผู้กำหนดอนาคตคณะสังคมศาสตร์ จึงเป็นอาการของการ“ขี้ตู่” และการ“สำคัญตนเองผิด”อย่างน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะการทึกทักเอาว่า คณะกรรมการบริหาร มศว และคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์เป็น“ผู้รู้ดี” ในสาธารณกิจของคณะสังคมศาสตร์ ไม่สร้างประโยชน์ใดๆให้ประชาคมสังคมศาสตร์เกิดการยอมรับใน“ผลผลิตเชิงบังคับ”(coerced output) ที่ปรากฏออกมาในรูปของภารกิจและนโยบายการพัฒนาคณะสังคมศาสตร์ และเกิดความสนใจเข้าร่วมอย่างกระตือรือร้นและมีชีวิตชีวา(active and lively involvement) จนเกิดสัมฤทธิ์ผลในบั้นปลายที่น่าพอใจได้เลย หากจะมีบางสิ่งบางอย่างที่ถูกเรียกว่าเป็นความสำเร็จ ก็คงจะเป็นความสำเร็จในทัศนะส่วนบุคคลของอธิการบดี มากกว่าจะมาจาก“การชื่นชมอย่างลึกซึ้งและจริงใจ”(deep and sincere appreciation)ของประชาคมสังคมศาสตร์อย่างแท้จริง
ประการที่สอง ข้อจำกัดในการผลักดันให้รายชื่อที่ถูกเสนอเป็นว่าที่คณบดีคณะสังคมศาสตร์ จากภาควิชาและสำนักงานคณบดีคณะสังคมศาสตร์ เป็นชื่อที่มีความหมาย เพราะ“ช่องว่างให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน”(gap of deviant behavior) ของคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์นั้นกว้างใหญ่มาก ทั้งนี้ เนื่องจากมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับให้ชัดเจนว่า ทุกชื่อที่ถูกเสนอจากที่ประชุมของภาควิชาและสำนักงานคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มี“โอกาสโดยเท่าเทียมกัน”(equal opportunity)ที่จะนำเสนอตนเอง และแนวทางในการทำงานเพื่อพัฒนาคณะสังคมศาสตร์อย่างเปิดกว้าง ดังนั้น คณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ อาจจะฉวยใช้ประโยชน์จากช่องว่างข้างต้น โดยการ“คัดสรร”เฉพาะบางคน ที่คณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์เห็นเอาเองว่า“เหมาะสม” โดยประชาคมสังคมศาสตร์ทั้งหมดมิได้มีโอกาสรับทราบได้เลยว่า ผู้ที่ถูกคัดสรรไว้นั้น มีแนวทางการพัฒนาคณะสังคมศาสตร์อย่างไร อย่างน้อยก็ในแง่ของคุณลักษณะ 5 ประการ ดังนี้
(1)ความชัดเจน(clear)
(2)ความสร้างสรรค์(innovative)
(3)การมุ่งสู่การปลี่ยนแปลง(change-oriented)
(4)การเน้นฐานการมีส่วนร่วม(participation-based) และ
(5)ความสามารถในการนำไปปฏิบัติได้จริง(practicable)
สิ่งที่มีความสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง ก็คือ ผู้ที่ถูกคัดชื่อออกโดยคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์นั้น ด้อยกว่าอย่างไรบ้างในประเด็นที่กล่าวมาทั้ง 5 ประเด็นเป็นอย่างน้อย สิ่งนี้มักถูกปิดบังซ่อนเร้นมาโดยตลอด โดยไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงยังคงเป็นปัญหาในแง่ของความโปร่งใสตลอดมา
ประการที่สาม ข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของประชาคมสังคมศาสตร์ ผ่านภาควิชาและสำนักงานคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ในการได้มาซึ่งผู้แทนคณาจารย์คณะสังคมศาสตร์ จำนวน 3 คนในคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ทั้งนี้ เนื่องจากว่า
(1)การใช้โอกาสหรือการสร้างโอกาส ให้ประชาคมสังคมศาสตร์มีเวทีทางสังคม(social forum) เพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันว่า ผู้แทนคณาจารย์ จำนวน 3 คนในคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ควรเป็นผู้ใด มีอยู่น้อยมาก หรืออาจกล่าวได้อย่างไม่คลาดเคลื่อนได้ว่าไม่มีเลยในเชิงโครงสร้าง
(2)การได้มาซึ่งผู้แทนคณาจารย์คณะสังคมศาสตร์ จำนวนทั้ง 3 คน มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงอย่างใดเลยกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาคมสังคมศาสตร์ ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาคณะสังคมศาสตร์ ในอนาคต 4 ปีข้างหน้า ดังนั้น การตัดสินใจของผู้แทนคณาจารย์ทั้ง 3 คนในคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ จึงมิได้ยึดโยงกับจินตนาการ(imagination) แรงบันดาลใจ(inspiration) และศักยภาพเชิงองค์การ(organizational potential) ของประชาคมสังคมศาสตร์อย่างรอบด้านและอย่างเข้าใจแต่อย่างใด หากเป็นเช่นนี้แล้ว การมีผู้แทนคณาจารย์คณะสังคมศาสตร์ทั้ง 3 คน ในคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์จะมีความหมายอะไร หากมิใช่การเป็นเพียงอุปกรณ์รองรับ(rubber stamp)“ความถูกต้องตามกฎหมายอันไม่ชอบธรรม”(illegitimate legal correctness) เท่านั้น
(3)เป็นสิ่งที่ชัดเจนโดยไม่ต้องกังขาใดๆว่า เสียงข้างมาก 4 เสียงในคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ในส่วนของฝ่ายบริหาร มศว ย่อมเป็นตัวกำหนดที่สำคัญที่สุด(the most significant determiner)ที่กำหนดว่า ว่าที่คณบดีคณะสังคมศาสตร์ คือบุคคลที่อธิการบดี มศว ต้องการให้มาทำงานเพื่อสนองนโยบายของอธิการบดี โดยไม่จำเป็นว่าประชาคมสังคมศาสตร์มีความพึงพอใจหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด เพราะดังที่กล่าวมาแล้วว่า ภายใต้ข้อบังคับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ภารกิจของคณะสังคมศาสตร์ คือภารกิจที่อธิการบดี มศว ต้องการให้คณบดีคณะสังคมศาสตร์ดำเนินการ มิใช่ภารกิจร่วมของประชาคมสังคมศาสตร์แต่อย่างใด
7. อันตรายและความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นในฐานะผลพวงของกระบวนการสรรหาคณบดีที่มีลักษณะปิด
ปิดลับ และคับแคบ
ภายใต้ข้อบังคับว่ด้วยการสรรหาคณบดีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กระบวนการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์(และคณะอื่นๆ) มีลักษณะที่สำคัญ 2 ประการ กล่าวคือ
(1)ปิด(closed) ปิดลับ(secret) และคับแคบ(narrow-minded)
(2)ยึดบุคลาธิษฐานมากเกินไป(over person-oriented)
หากกล่าวในอีกลักษณะหนึ่ง การระบุให้ตรงไปตรงมาว่า อธิการบดี มศว คือผู้มีอำนาจสูงสุดและมีอำนาจเต็มเพียงหนึ่งเดียว(leader-oriented leading)ในการพิจารณาและตัดสินใจว่า จะให้บุคคลใดเป็นคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ก็เป็นเรื่องที่ไม่แตกต่างไปจากสาระสำคัญในข้อบังคับ ดังที่ผู้เขียนนำเสนอมาแต่อย่างใด หากแต่อาจจะดูประเจิดประเจ้อและดูน่าเกลียดเกินไปเท่านั้น
ปรากฏการณ์ของ“การครองความเป็นเจ้าในองค์การเชิงโครงสร้าง”(structurally organizational hegemony)ของอธิการบดี มศว ผ่านกระบวนการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มีความสุ่มเสียงอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่อันตรายและความขัดแย้งที่ไม่จำเป็น(unnecessary danger and conflict)อย่างน้อย 3 ประการ ดังต่อไปนี้
(1)คณาจารย์ในภาควิชาต่างๆ และบุคลากรของสำนักงานคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ย่อมเล็งเห็นได้โดยสามัญสำนึกและสติปัญญาขั้นพื้นฐานของตนเองว่า การสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ เป็นกระบวนการที่คล้ายพิธีกรรม(ritual-like process) มากกว่าจะเป็นกระบวนการอารยะเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคต(future change–oriented civilized process) สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ก็คือ ทัศนะและความรู้สึกที่เป็นความจริงแม้ไม่น่าพึงพอใจ(real but undesirable view and feeling)ก็ตาม ที่ว่า คณบดีคณะสังคมศาสตร์คือ “คนของอธิการบดี มศว”[18]
(2)ทัศนะและความรู้สึกที่ว่า คณบดีคณะสังคมศาสตร์เป็นคนของอธิการบดี มศว ดังที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกเชิงองค์การ(organizational alienation)ในหมู่สมาชิกของประชาคมสังคมศาสตร์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์จะกลายป็นบุคคลประเภท“คนนอก”(out-group member) และ“คนแปลกหน้า”(stranger)สำหรับประชาคมสังคมศาสตร์อย่างน่าเสียดายยิ่ง ทั้งนี้ สิ่งสำคัญ 3 ประการคือ (ก)ความผูกพันต่อคณบดีคณะสังคมศาสตร์ (ข)ความเคารพศรัทธาในตัวของคณบดีคณะสังคมศาสตร์ และ(ค)การอุทิศตนทำงานร่วมกับคณบดีคณะสังคมศาสตร์ จะกลายเป็น“ตัวแปรผล”(effect variable)ที่จะต้องพยายามสร้างให้เกิดขึ้นด้วยความยากลำบากยิ่ง ทั้งนี้ โดยไม่รู้ว่าจะใช้“ตัวแปรเหตุ”(causal variable)ตัวใดจึงจะเหมาะสม แทนที่สิ่งสำคัญ 3 ประการดังกล่าวจะมีฐานะเป็นต้นทุนเดิมขององค์การ(endowed organizational capital) ที่พร้อมเสมอสำหรับการแปลงสภาพให้กลายเป็นการสานพลัง(synergy)ทันที เมื่อคณบดีคณะสังคมศาสตร์ปรารถนาหรือเรียกร้อง อุปสรรคด้านองค์การดังกล่าวนี้ จะเป็นเครื่องถ่วงการทำงานให้ประสบความสำเร็จในคณะสังคมศาสตร์(self-destructive momentum)ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เว้นไว้เสียว่า คณบดีคณะสังคมศาสตร์จะกลายเป็น“ปทุมบานในบึงอาจม” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง “ผู้ผ่าเหล่าที่ประจักษ์แจ้งอย่างรู้สำนึก”(consciously enlightened mutant)เท่านั้น แต่กรณีนี้น่าจะเป็นข้อยกเว้น(exceptional case)มากกว่าจะเป็นกฏเกณฑ์ทั่วไป(general law)
(3)สัมพันธภาพที่ไม่น่าพึงใจในระยะยาว(long-term unpleasant relationship) ระหว่างคณบดีคณะสังคมศาสตร์(ซึ่งถูกประทับตราว่าเป็น“คนในกำกับของอธิการบดี”) กับหัวหน้าภาควิชาและคณาจารย์ในฐานะนักวิชาการหัวก้าวหน้า(progressive and critical scholar)จำนวนหนึ่ง จะกลายเป็นเครื่องทอนกำลังหรือพลังสร้างสรรค์ขององค์การ(organizational discouraging factor)ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะท่าทีของคณบดีคณะสังคมศาสตร์ในฐานะ“ฉนวน”(buffer or cushion) และในฐานะผู้นำเชื่อมประสาน(synaptic leader)อาจจะจืดจางลงเรื่อยๆ ในขณะที่ ท่าทีในฐานะของ“ผู้ขวางกั้น”(stumbling block-like leader)กลับจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และในท้ายที่สุดแล้ว ปฏิสัมพันธ์และความรู้สึกเชิงปฏิปักษ์(antagonistic interaction and feeling) จะปรากฏเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปรากฏการณ์แห่งการล่มสลายของคณะสังคมศาสตร์ ในฐานะองค์การทางวิชาการ(organizational decay)จะกลายเป็นปรากฏการณ์ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจริงได้โดยไม่ยาก ในรูปแบบต่างๆที่หลากหลาย ทั้งแบบเปิดเผย(explicit)และแบบซ่อนเร้น(implicit)
8. บทสรุปครั้งที่หนึ่งอันเสมือนเป็นบทเริ่มต้น
ความไม่พึงพอใจทั้งหลายที่เกี่ยวกับการบริหาร มศว ปรากฏออกมาในรูปของการบ่นงึมงำ(complaint) การจับกลุ่มนินทาและวิจารณ์(gossip and passive criticism) รวมทั้งการเลิกสนใจใดๆต่อฝ่ายบริหาร มศว(indifference) สิ่งเหล่านี้ ล้วนแต่ไม่ให้คำตอบใดๆในทางที่เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง จริงอยู่ แม้ว่าการกระทำหรือไม่กระทำ(doing or undoing)ดังกล่าว อาจจะสนองความรู้สึกส่วนตัวของบุคคลได้บ้างในบางระดับ หรือแม้ว่าในทางสังคม การกระทำเหล่านั้นเป็น sanction ที่อาจจะเกิดผลอยู่บ้างในสังภายนอกองค์การเช่น มศว แต่ในบริบทของ มศว ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยและองค์การของรัฐ การกระทำที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องกระทำที่องค์ประกอบวิกฤติ(critical component)อย่างน้อย 2 ประการคือ (1)ความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และ(2)โครงสร้างทางกฎหมายที่ครอบอยู่ข้างบน
ผู้เขียนได้พยายามแสวงหาความรู้ และนำความรู้ที่ได้เกี่ยวกับกระบวนการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มาเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง(entry point of organizational change) ผู้เขียนพบว่า โครงสร้างทางกฎหมายเกี่ยวกับการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ เป็นปัญหาในตัวของมันเอง กล่าวอีกทางหนึ่ง โครงสร้างทางกฎหมายที่เป็นอยู่ในการสรรหาคณบดี เป็นวงจรอิทัปปัจจยตาที่ทำลายตนเอง(self-destructive cyclical origination) และอาจจะนำไปสู่การทำลาย มศว ในระยะยยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในความหมายของความก้าวหน้าทางวิชาการ(academic progress) เสรีภาพทางวิชาการ(academic freedom) ความซื่อตรงทางวิชาการ(academic integrity) และการยังประโยชน์ต่อสังคมภายนอก(contribution to external society)
ประชาคมสังคมศาสตร์ รวมไปถึงประชาคมวิชาการสาขาอื่นๆภายใน มศว ควรให้ความสนใจในการบวนการสรรหาผู้นำขององค์การ ทั้งนี้ เพราะความคิดของผู้นำย่อมมีผลกำหนดการกระทำของผู้ตามเป็นอย่างยิ่ง การปล่อยให้ผู้นำผูกขาดการนำทางความคิดฝ่ายเดียว เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อองค์การ เพราะผู้นำองค์การมิใช่พหูสูตในทุกมิติ สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ ผู้คิดคือผู้ทำ เพราะผู้ทำจะทำด้วยความคิด และทำอย่างเข้าใจความคิดและรู้ตัวทั่วร้อม เมื่อเป็นดั่งนี้ หากเกิดความผิดพลาด ผู้ทำจะแก้ไขได้ทันกาลและเกิดผลเสียหายน้อยกว่า
ตอนที่ 2
ในตอนที่ 2 นี้ ประเด็นหลักที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ คือการชี้ให้เห็นว่าการยกเลิกข้อบังคับ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2546 และใช้ข้อบังคับใหม่ ฉบับเดือนธันวาคม 2546 นั้น มีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง และมีความหมายในทางบวกและทางลบ ต่อการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย และการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาคมสังคมศาสตร์ ในกระบวนการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์อย่างไรบ้าง
ในข้อบังคับใหม่ มีประเด็นสำคัญที่แตกต่างไปจากข้อบังคับเดิมหลายประการ สาระสำคัญและความหมายของประเด็นที่เปลี่ยนแปลงไป มีดังต่อไปนี้
1. ประเด็นสำคัญที่เปลี่ยนแปลงประการแรก:
การเปลี่ยนแปลงในคุณลักษณะที่เหมาะสมของผู้สมควรดำรงตำแหน่งคณบดี
ในข้อบังคับใหม่ กำหนดคุณลักษณะเหมาะสมของผู้สมควรดำรงตำแหน่งคณบดีไว้ ดังนี้
(1)เป็นผู้นำทางวิชาการและมีศักยภาพทางการบริหารมหาวิทยาลัย หรือการศึกษาระดับอุดมศึกษา
(2)เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับ มีวิสัยทัศน์ มีศักยภาพที่จะพัฒนาคณะ นำความเจริญและชื่อเสียงมาสู่มหาวิทยาลัย
(3)มีประสบการณ์ทางการบริหารวิชาการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับวิชาการ หรือโครงการอื่นๆ ที่มีลักษณะโดยตรงทางวิชาการ
(4)มีความสามารถในการทำงานร่วมกับหัวหน้าภาควิชาและผู้บริหารมหาวิทยาลัย
(5)มีความสามารถในการติดต่อและประสานงานกับวงการภายนอกมหาวิทยาลัย
(6)มีวิสัยทัศน์เหมาะสมกับการดำเนินงานและพัฒนาคณะตามแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย[19]
คุณลักษณะในข้อ(1)และข้อ(3) แม้มีถ้อยคำต่างไปจากข้อบังคับเดิม[คือข้อ(1)และข้อ(2)] และมีข้อ(2)ใหม่เพิ่มเติมมา โดยใช้ถ้อยคำที่มีลักษณะเป็น normative และ subjective มากกว่าเดิม และขึ้นอยู่กับผู้ที่มีอำนาจวินิจฉัยเป็นสำคัญ เช่นคำว่า “เป็นผู้นำ” “มีศักยภาพ” และ “ได้รับการยอมรับ” แต่โดยสาระสำคัญแล้วไม่มีความแตกต่างกันมากนัก และดูจะไม่มีวาระซ่อนเร้นอะไรเป็นพิเศษ ส่วนข้อ(4)และข้อ(5)ใหม่ เป็นสิ่งเดียวกับข้อ(3)และข้อ(4)เดิม
สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือคุณลักษณะเหมาะสมข้อ(6)ใหม่ ซึ่งปรับแก้ถ้อยคำในข้อ(5)เดิม จากคำว่า “ตามทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัย” มาเป็น “ตามแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย”[20] การใช้คำว่า“ตามแผนยุทธศาสตร์” แทนคำว่า“ตามทิศทางการพัฒนา”นี้ โดยทั่วไปอาจจะดูไม่แปลก และดูเป็นคำที่ดูสมสมัยอีกด้วย อย่างไรก็ตาม คำว่า“ตามแผนยุทธศาสตร์”ในบริบทของ มศว มีความหมายที่อิงกับตัวบุคคลที่เป็นอธิการบดีเฉพาะยุคสมัย มากกว่าคำว่า “ตามทิศทางการพัฒนา” ซึ่งเชื่อมโยงในเชิงสถาบันและเชิงโครงสร้าง กับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อันมีลักษณะทั่วไปไม่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและช่วงเวลาเป็นการเฉพาะ ความหมายที่แฝงเลศนัยของประเด็นนี้ ผู้เขียนจะวิเคราะห์ในประเด็นถัดไป
1.1 ความหมายในทางบวก
การปรับเปลี่ยนถ้อยคำและการเพิ่มเติมถ้อยคำใหม่ๆในข้อบังคับฉบับใหม่ เกี่ยวกับคุณลักษณะเหมาะสม ช่วยให้ผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งคณบดีต้องเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนการเข้าสู่ตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ เพราะเหตุว่าการมีประสบการณ์ทางด้านการบริหารและทางด้านวิชาการผนวกกับการวิจัย แม้เป็นสิ่งจำเป็นเบื้องต้นในการบริหารงานของคณะซึ่งเป็นองค์การทางวิชาการ แต่ไม่สะท้อนว่าทิศทางการทำงานของคณะจะเป็นไปในทางใด เพราะประสบการณ์ดังกล่าวเป็นประสบการณ์เฉพาะบุคคลและเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต การเข้าสู่ตำแหน่งคณบดีซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารระดับสูงประเภทหนึ่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประสงค์จะเข้าสู่ตำแหน่ง ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ไว้ล่วงหน้าเป็นเบื้องต้น เพื่อรองรับการปฏิบัติภารกิจต่างๆของคณะให้รอบด้าน ร่วมกับบุคลากรทุกสายงานและทุกระดับในอนาคต
กล่าวโดยย่อ แม้ประสบการณ์ด้านการบริหาร ด้านวิชาการ และด้านการวิจัย เป็นสิ่งจำเป็นเบื้องต้นสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี แต่การเตรียมการล่วงหน้าอย่างดีและอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างอนาคตให้เป็นจริงร่วมกับบุคลากรภายในคณะ เป็นประเด็นสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการวินิจฉัยความเหมาะสมสำหรับการดำรงตำแหน่งคณบดี ในแง่นี้ ข้อบังคับใหม่จึงเป็นเครื่องมือที่มีความสอดคล้องอย่างยิ่ง
1.2 ความหมายในทางลบ
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า มีการปรับเปลี่ยนจากคำว่า“ตามทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัย” มาเป็น“ตามแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย” การปรับเปลี่ยนนี้ มีความหมายในทางลบที่เป็นข้อกังขา ที่สำคัญ 2 ประการเป็นอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(1)การปรับเปลี่ยนถ้อยคำดังกล่าว เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2546 ประมาณครึ่งปีหลังจากศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ เข้าสู่ตำแหน่งอธิการบดี มศว ในเดือนมิถุนายน 2546 และได้ประกาศยุทธศาสตร์ 9 ประการเป็นแนวทางในการบริหาร มศว คำถามสำคัญที่เกิดขึ้น ณ จุดนี้ก็คือ คำว่า “ยุทธศาสตร์” ในที่นี้ คืออะไร ทำไมจึงสำคัญมากจนต้องกำหนดไว้เป็นคุณลักษณะสำคัญของคณบดี
คำว่า“ยุทธศาสตร์”นั้น เดิมทีเป็นศัพท์ทางด้านวิทยาการทางทหาร เมื่อนำมาใช้ในภาคเอกชนมีความสำคัญมาก เพราะนำไปสู่การจัดทำ“แผนยุทธศาสตร์ขององค์การ”(corporate strategic plan) ที่วางบทบาทของ CEO ไว้สูงมาก ในการสร้างผลกำไรสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นที่เป็นนายจ้าง และเมื่อนำมาใช้ในภาครัฐในช่วงหลังๆนี้ เป็นผลทำให้แผนพัฒนาประเทศต้องมีความชัดเจนในทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นตัวกำหนดแผนงานและโครงการต่างๆที่ตามมา เมื่อองค์การระดับกระทรวง กรม และจังหวัด นำเอาแผนพัฒนาประเทศไปเป็นกรอบในการบริหาราชการ ก็จะกำหนดยุทธศาสตร์เฉพาะของตนเองต่อไปอีก ตามระดับสายการบังคับบัญชาและภารกิจในระบบราชการที่แตกต่างกันไป
ในกรณีของ มศว คำว่า“ยุทธศาสตร์” ไม่ใช่คำสำคัญในเชิงสถาบันและเชิงโครงสร้าง(non-institutional / structural factor) เมื่อพิจารณาจากบริบทของพระราชบัญญัติ มศว เป็นสำคัญ ที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ หมายถึงว่า คำที่สำคัญสูงสุดสำหรับ มศว คือคำว่า“นโยบายของมหาวิทยาลัย” ซึ่งบัญญัติไว้ให้เป็นผลผลิตเชิงสถาบันและเชิงโครงสร้างของสภา มศว[21] กล่าวให้ชัดเจนขึ้นก็คือ สภา มศว มีฐานะเป็นผู้กำหนดนโยบายสูงสุด(supreme policy maker)ขององค์การหรือ governing board ขณะที่อธิการบดี มศว มีฐานะเป็นเพียง “ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ”(policy implementer) ดังที่มีบัญญัติระบุไว้ว่า อธิการบดีมีอำนาจและหน้าที่ “บริหารกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตาม..........นโยบายและวัตถุประสงค์[22]ของมหาวิทยาลัย”[23] และ “จัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัย.........ตามนโยบาย.........ของมหาวิทยาลัย”[24] ดังนั้นภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ จึงมีความชัดเจนว่า“ยุทธศาสตร์ของอธิการบดี” มิใช่นโยบายของ มศว แต่อย่างใด หากมีฐานะเป็นเพียง “แผนพัฒนามหาวิทยาลัย” ภายใต้กรอบนโยบายของ มศว เท่านั้น
เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคณะและคณบดีแล้ว จะเห็นได้ว่า ไม่มีข้อกำหนดให้มีการยึดโยงกับ“ยุทธศาสตร์ของอธิการบดี”แต่อย่างใดเลย ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ว่า“ในคณะหนึ่ง ให้มีคณบดีเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานของคณะ.......”[25] และข้อความที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคณะว่า “วางนโยบายและแผนงานของคณะให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย”[26] จุดเน้นในที่นี้ ก็คือข้อความที่ว่า“ให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย” ซึ่งมีความชัดเจนทางลายลักษณ์อักษรแล้ว่า มิได้หมายถึงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของอธิการบดี แต่อย่างใดเลย เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะกลายเป็นว่า อธิการบดีคือสภา มศว เสียเอง ซึ่งในทางหลักการบริหารองค์การวิชาการดังเช่นมหาวิทยาลัยแล้ว เงื่อนไขดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และไม่ได้รับการยอมรับอย่างแน่นอน ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล เว้นแต่เพียง 2 กรณีเท่านั้น คือ (1)มหาวิทยาลัยดังกล่าวเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ที่เจ้าของครอบงำเพื่อสนองกำไรสูงสุด(profit maximization-oriented privately own university) และ (2)มหาวิทยาลัยดังกล่าวเป็นองค์การของรัฐภายใต้ระบอบอำนาจนิยม(government university under authoritarian rule)
จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนจึงกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า คณบดีคือบุคคลที่ต้องมีกรอบความคิดในเชิงนโยบายสำหรับการบริหารคณะรองรับเอาไว้ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง เพื่อสนองวัตถุประสงค์ของ มศว ตามมาตรา 7 ภายใต้กรอบนโยบายของ มศว ซึ่งสภา มศว เป็นผู้กำหนดตามมาตรา 16(1) คณบดีจึงต้องเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์(creative idea)และมีความอิสระทางความคิด(free idea) เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการทำงานร่วมกับบุคลากรของคณะ(cooperative success) เช่นเดียวกับที่อธิการบดีต้องกระทำต่อมหาวิทยาลัยโดยรวม
ทั้งอธิการบดีและคณบดีล้วนเป็นผู้นำนโยบายไปปฏิบัติเช่นกัน(policy co-implementer) ต่างต้องยึดโยงกับวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย และนโยบายของสภา มศว โดยตรงเช่นกัน ต่างกันตรงที่ระดับองค์การและขอบเขตของภารกิจตามที่พระราชบัญญัติ มศว กำหนดไว้เท่านั้น สถานการณ์จึงมิใช่ว่า เพราะเหตุว่าอธิการบดีเป็นผู้กำหนด“นโยบายของมหาวิทยาลัย” ฉะนั้น จึงเป็นผู้มีสิทธิอำนาจโดยชอบธรรมในเชิงหลักการ(principle-based authority)ที่จะคัดสรรหาคณบดีโดยตรง ตามที่อธิการบดีต้องการแต่อย่างใด เพราะการกระทำเช่นนั้น หาใช่การบริหารองค์การที่ถูกต้องตามหลักวิชาการไม่
หากในทางปฏิบัติ มีการปล่อยให้เกิดสถานการณ์เช่นที่กล่าวมา โดยไม่คิดหาทางปรับปรุงแก้ไขแล้ว นั่นย่อมหมายถึงว่า ภาวะความสับสนและความวิปริต(pervert confusion)ระหว่างหลักการและการปฏิบัติ(principle/practice dichotomy) หรืออีกนัยหนึ่ง ระหว่างโครงสร้างกับพฤติกรรม(structure/behavior dichotomy) กำลังปรากฏอยู่ใน มศว อย่างแยบยล ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ การถูกกล่าวหาว่า มีการสมรู้ร่วมคิดกันในเชิงทำลายล้างองค์การสาธารณะให้เป็นองค์การส่วนบุคคล(subversive conspiracy for personalization of public organization) เป็นสิ่งที่ยากที่จะหลีกเลี่ยงและหาคำตอบที่น่าพอใจต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว และนี่คือวิถีที่นำไปสู่การทำลายตนเองขององค์การ(organizational self-destructive behavior)ในอนาคต เป็นวิถีที่ทำลายความศรัทธาในสุจริตธรรมของผู้นำ และพลังสร้างสรรค์เพื่อองค์การส่วนรวมอย่างน่าเสียดายยิ่ง
กลับไปสู่คำถามที่ตั้งเอาไว้ในตอนต้นของประเด็นนี้ จะเห็นได้ว่าการระบุคำว่า“ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย”ไว้ในข้อบังคับใหม่ หาใช่เพียงเพื่อกระตุ้นให้ว่าที่คณบดีต้อง“ทำการบ้าน”ล่วงหน้าเท่านั้น หากเป็นการบ้านที่มีต้องมีโจทย์เกี่ยวกับ“ยุทธศาสตร์ของอธิการบดี”เป็นตัวตั้งเท่านั้น มิใช่นโยบายของมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด หาก“ผู้ตรวจการบ้าน”ประสงค์จะให้คำตอบของบางคน“ไม่ตรงใจ” ย่อมเป็นเอกสิทธิ์ที่ดูจะชอบจะชอบธรรม เพราะโจทย์ดังกล่าวมีลักษณะอัตวิสัยตามผู้กำหนดโจทย์อย่างยิ่ง(highly subjective) การใส่คำว่า “มหาวิทยาลัย” ไปอยู่ท้ายคำว่า “ยุทธศาสตร์” เป็นความแยบยลและความชำนาญในเรื่องการเมืองในองค์การที่ลึกล้ำอย่างยิ่ง นี่คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างยิ่งของปรากฏการณ์ที่ผู้เขียนเรียกว่า “การครองความเป็นเจ้าในองค์การเชิงโครงสร้าง”(structurally organizational hegemony) ดังที่ผู้เขียนเคยวิเคราะห์และนำเสนอมาก่อนหน้านี้ในตอนที่ 1
(2)ข้อบังคับในการสรรหาอธิการบดีฉบับที่บังคับใช้อยู่ ก่อนที่ศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ จะเข้าสู่ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน 2546 ประกอบกับ พระราชบัญญัติ มศว ดังที่กล่าวมาแล้ว มิได้มีบทบัญญัติที่เป็นข้อกำหนด ให้ว่าที่อธิการบดีต้องนำเสนอสิ่งที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย”แต่อย่างใด เช่นเดียวกับข้อบังคับการสรรหาคณบดีฉบับเดิม(กุมภาพันธ์ 2546) ซึ่งไม่ได้ระบุคำว่า“ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย”เช่นเดียวกัน แต่เมื่อศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ เข้าสู่ตำแหน่งอธิการบดี ข้อบังคับเดิมถูกยกเลิกไปในเดือนธันวาคม 2546 และคำว่า“ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย”ก็ถูกบัญญัติไว้ในข้อบังคับฉบับใหม่ ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ มิใช่เหตุบังเอญร่วม(coincidence) หากเป็นความเชื่อมโยงระหว่าง (ก)อธิการบดี มศว (ข)“ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย”ของศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ ในฐานะอธิการบดี และ (3)การยึดเอา“ยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย” เป็นเกณฑ์วินิจฉัยผู้สมควรดำรงตำแหน่งคณบดี ความหมายของความเชื่อมโยงของ 3 ปัจจัยน็ ก็คือ การวางโครงสร้างอำนาจให้อธิการบดีตามข้อบังคับ ฉบับเดือนธันวาคม 2546 เป็นผู้มีอำนาจตัวจริงในการคัดเลือก(real decision maker in recruitment process) และเมื่อพิจารณาจากประเด็นนี้ ร่วมกับประเด็นอื่นๆ เช่น (ก)จำนวนกรรมการสรรหาคณบดี (ข)ประธานคณะกรรมการสรรหาคณบดี และ (ค)ข้อกำหนดให้มีการสอบถามความคิดเห็นจากประชาคมสังคมศาสตร์ จะทำให้เห็นบทบาทรวมศูนย์(centralized role)ของอธิการบดีได้อย่างชัดเจน
2. ประเด็นสำคัญที่เปลี่ยนแปลงประการที่สอง:
การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเวลาในการเริ่มกระบวนการและการกำหนดขอบเขตเวลาในการสรรหา
จากข้อบังคับฉบับเดิมที่ระบุให้เริ่มมีการดำเนินการกระบวนการสรรหาคณบดี ไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนคณบดีครบวาระ ในข้อบังคับฉบับใหม่ ได้มีการกำหนดให้เริ่งดำเนินการสรรหาคณบดีไม่น้อยกว่า 120 วันก่อนคณบดีครบวาระ และระบุขอบเขตของเวลาในการสรรหาคณบดีให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
2.1 ความหมายในทางบวก
การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเวลาเกี่ยวกับการสรรหาคณบดี ในข้อบังคับฉบับใหม่ มีความหมายในทางบวกอย่างน้อย 3 ประการ ดังนี้
(1) เป็นการสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขเวลา ในภารกิจสำคัญ 2 ประการคือ ประการแรก การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหคณบดี ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จไม่น้อยกว่า 120 ก่อนครบวาระของคณบดี และประการที่สอง การดำเนินการสรรหาเพื่อให้ได้ชื่อว่าที่คณบดี 1 ชื่อ ภายใน 90 วัน ขณะที่ข้อบังคับฉบับเดิม ระบุแต่เพียงเวลาเริ่มต้นก่อนครบวาระไม่น้อยกว่า 60 วัน แต่ไม่กำหนดว่าให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน
(2)ความชัดเจนดังที่กล่าวมา ทำให้มีเวลานานขึ้นในการเตรียมการในการสรรหาคณบดีคนใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการประกันความต่อเนื่องในการบริหารงานของคณะ เพราะคณบดีคนใหม่จะทำงานสืบต่อจากคณบดีคนเก่าได้ทันที โดยอาจจะไม่ต้องมีขั้นตอนการรักษาราชการแทนคณบดี มาคั่นแทรกระหว่างกลาง ทั้งนี้ เนื่องจากว่า เมื่อการได้ชื่อว่าที่คณบดีเสร็จสิ้นภายใน 90 วัน เวลาที่เหลืออีก 30 วันจึงมีเพียงพอสำหรับขั้นตอนทางธุรการในการมีคำสั่งแต่งตั้งต่อไป
(3)การกำหนดให้เวลาเริ่มต้นกระบวนการสรรหาคณบดีนานขึ้น ย่อมมีความหมายว่า เวลาเตรียมการตามช่วงเวลา 60 วันเดิมนั้นไม่เหาะสม มองอีกแง่หนึ่ง การแก้ไขเงื่อนไขเวลาใหม่มีเจตนาให้เวลาในการเตรียมการมีมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงว่าฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้เริ่มดำเนินการกระบวนการสรรหาคณบดีล่วงหน้า 150 วัน หรือ 180 วันก็ย่อมได้[27] หากประสงค์ให้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาคมในคณะต่างๆมีความจริงจัง มีชีวิตชีวา และมีความหมายต่ออนาคตของคณะนั้นๆ
2.2 ความหมายในทางลบ
นัยยะในทางลบของการแก้ไขเงื่อนเวลา ที่สำคัญก็คือ การกำหนดกรอบเวลาไม่เกิน 90 วันในการได้มาซึ่งชื่อว่าที่คณบดีคนใหม่นี้ ไม่มีการระบุให้ชัดเจนว่า ในช่วงเวลานี้ กิจกรรมใดบ้างจะต้องใช้เวลาเท่าใดเป็นอย่างน้อยหรือเป็นอย่างมาก แล้วแต่กรณี ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างความปรารถนาของประชาคมสังคมศาสตร์ ในการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และกระตือรือร้น ฝ่ายหนึ่ง กับการดำเนินการของคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ อีกฝ่ายหนึ่ง ในขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
(ก)การวิเคราะห์สถานภาพ ความต้องการ และทิศทางการพัฒนาของคณะสังคมศาสตร์[28]
(ข)การกำหนดเป้าหมาย ภารกิจ และพันธกิจที่ต้องการให้คณบดีคณะสังคมศาสตร์คนใหม่ทำในช่วง 4 ปีข้างหน้า โดยการแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ[29]ในเวทีร่วม และ
(ค)การเสนอชื่อผู้ควรดำรงตำแห่งคณบดี[30] บนพื้นฐานของการสื่อสารเชิงปฏิสัมพันธ์โดยมีเป้าหมายร่วม ของประชาคมสังคมศาสตร์ที่ชัดเจน(purposively interactive communication)
3. ประเด็นสำคัญที่เปลี่ยนแปลงประการที่สาม:
การเปลี่ยนแปลงถ้อยคำที่ใช้เรียกผู้แทนในคณะกรรมการสรรหาคณบดี
ในข้อบังคับเดิม ถ้อยคำที่ใช้เรียนผู้แทนในคณะกรรมการสรรหาคณบดีคือ “ผู้แทนคณาจารย์ประจำ” แต่ในข้อบังคับฉบับใหม่ ใช้คำว่า “ผู้แทนบุคลากรมหาวิทยาลัย”[31] การวิเคราะห์ความหมายของการเปลี่ยนแปลงในประเด็นนี้ ทั้งทางบวกและทางลบ จำเป็นต้องพิจารณาควบคู่ไปกับประกาศฉบับหนึ่งซึ่งมีชื่อยาวมาก คือ “ประกาศมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกผู้แทนคณาจารย์ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ หรือพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการสรรหาคณบดี”[32] ประกาศ ณ วันที่ 9 มกราคม 2550 ด้วย
3.1 ความหมายในทางบวก
การใช้คำว่า“ผู้แทนบุคลากรมหาวิทยาลัย”ในกรณีนี้ ช่วยให้เกิดผลในทางจิตวิทยา อย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ
(1)ผู้ใช้สิทธิ์เสนอชื่อที่มิใช่คณาจารย์ จะเกิดความรู้สึกว่าผู้แทนดังกล่าวในคณะกรรมการสรรหาคณบดี คือผู้แทนของตนเองด้วย
(2)ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นผู้แทนฯข้างต้นก็จะต้องคำนึงถึงว่า ผู้ที่ตนแทนที่มิใช่เฉพาะคณาจารย์เท่านั้น
กล่าวอีกนัยยะหนึ่ง เป็นกลไกที่ช่วยให้เกิดความรู้สึก“เอาใจเขา มาใส่ใจเรา” ระหว่างผู้เสนอชื่อและผู้แทน นอกจากนี้ ยังถือว่าเป็นการใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม สำหรับเตรียมการล่วงหน้าไว้ในการบริหารมหาวิทยาลัยในอนาคต ซึ่งจำนวนข้าราชการจะลดลงเรื่อยๆ
3.2 ความหมายในทางลบ
ความหมายในทางลบของการใช้ถ้อยคำดังกล่าว มีดังต่อไปนี้
(1)แม้จะใช้ถ้อยคำใหม่ที่ดูดี ในความหมายที่ว่าครอบคลุมประเภทของบุคคลมากกว่า แต่คุณสมบัติจริงๆแล้วก็คือ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งอาจารย์ นั่นเอง ไม่ว่าจะมีสถานภาพเป็นข้าราชการหรือเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยก็ตาม ดังที่บัญญัติไว้ว่า “คุณสมบัติของผู้แทน.......... เป็นคณาจารย์ หรือพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการสังกัดคณะที่มีการสรรหาคณบดี”[33] มองจากแง่มุมนี้ กลายเป็นการกระทำในทำนอง“เหล้าเก่า ในขวดใหม่” ซึ่งมีความหมายไม่ค่อยดีนัก อาจจะทำให้บุคลากรที่มิใช่คณาจารย์รู้สึกว่า การเปลี่ยนถ้อยคำข้างต้น เป็นเพียงการกระทำแค่ “พอเป็นพิธี”เท่านั้น ความรู้สึกนี้จะเป็นความรู้สึกที่เป็นลบต่อคณาจารย์ เพราะบุคลากรที่มิใช่สายวิชาการก็จะกล่าวหา หรือรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจได้ว่า คณาจารย์แก้ไขอะไร ก็เพื่อประโยชน์ของพวกตนเองเท่านั้น ในทัศนะของผู้เขียน ถ้าหากประสงค์ให้ผู้แทนฯกลุ่มนี้เป็นคณาจารย์ เพราะเป็นความเกี่ยวเนื่องทางด้านเนื้อหาภารกิจแล้วละก็ ใช้ถ้อยคำเดิมจะเหมาะสมกว่า แต่หากประสงค์ให้บุคลากรนอกสายวิชาการร่วมเป็นผู้แทนฯ ก็กำหนดสัดส่วนลงไปให้ชัดเจนเลย จะได้ไม่เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยใดๆ
(2)การบัญญัติไว้ในข้อบังคับว่า คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกผู้แทนฯทั้ง 3 คน ทำให้เกิดช่องว่างในทางปฏิบัติ และทำให้บทบาทของอธิการบดีมีมากเกินไป จนนำไปสู้ข้อกังขาว่าอธิการบดีอาจครอบงำกระบวนการสรรหาคณบดีอย่างไม่เหมาะสม หากมีการระบุบางประเด็นที่สำคัญให้ชัดเจนไว้ในข้อบังคับตั้งแต่ต้น จะทำให้บทบาทของสภา มศว เด่นชัดขึ้นตามที่ควรจะเป็น ที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ เนื่องจากว่าในประกาศดังกล่าว ระบุว่าผู้แทนต้อง “ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันเลือกผู้แทน”
คำถามคือ ทำไปต้อง 5 ปี ผู้เขียนไม่ทราบเหตุผลข้อนี้ และผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่าประชาคม มศว ทั้งหมดทราบเหตุผลดังกล่าวหรือไม่ แต่ที่แน่ๆก็คือ การใช้เวลาเป็นอาจารย์ในคณะหนึ่งประมาณ 2 ปีเป็นอย่างน้อย เป็นเวลาที่เพียงพอที่จะประเมินได้ว่า คณบดีคนเดิมปฏิบัติภารกิจของคณะน่าพอใจหรือไม่ หรือคณาจารย์ท่านอื่นๆมีคุณสมบัติและผลงานน่าพอใจในการเป็นคณบดีได้หรือไม่ ประเด็นนี้ คณาจารย์รับรู้กันดี เพราะ 4 ภาคการศึกษาที่ผ่านมา คณาจารย์ทุกคนในคณะเรียนรู้ประสบการณ์ด้วยตนเองเพียงพอ เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน การส่งเสริมการวิจัย การบริการชุมชน การบำรุงศิลปวัฒนธรรม การพัฒนานิสิต และการพัฒนาบุคลากรของคณะ การทำหน้าที่ของกรรมการสรรหาคณบดีตามข้อบังคับ ข้อ 8 ไม่จำเป็นต้องอาศัยเวลาถึง 5 ปีก็ได้ หากกล่าวกันในเชิงเปรียบเทียบ เรากำลังสรรหานักวิชาการในคณะเดียวกัน ที่เหมาะสมจะบริหารงานวิชาการในตำแหน่งคณบดี มิใช่การสรรหา“ลูกเขย”หรือ “ลูกสะใภ้” มิใช่หรือ
นอกจากนี้ เป็นสิ่งที่ดูจะแปลกประหลาดอย่างยิ่ง หากอาจารย์จำนวนหนึ่งทำงานมาเป็นเวลา 4 ปี พร้อมๆกับการเข้าสู่ตำแหน่งของคณบดีคนเดิม และพวกเขาได้ผ่านประสบการณ์ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและลบจากคณบดีท่านนั้น พอถึงเวลาที่พวกเขาจะได้มีส่วนในการเป็นผู้แทนในคณะกรรมการสรรหาคณบดีคนใหม่ กลับกลายเป็นว่าต้องรออีก 1 ปีจึงจะมีสิทธิ์ ซึ่งหมายความว่า ประสบการณ์ 4 ปี ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการทำงานของคณบดีคนเดิม ไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าเช่นนั้น อะไรคือคำอธิบายที่เหมาะสมและรับฟังได้ของการกำหนดอายุงาน 5 ปี???
4. ประเด็นสำคัญที่เปลี่ยนแปลงประการที่สี่:
การนิยามผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อคณบดี
ในประเด็นเกี่ยวกับผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งคณบดีนั้น ในข้อบังคับเก่า ไม่ระบุคำว่า “ผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อ”ไว้ แต่ความหมายก็คือ ต้องเป็นข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยสังกัดคณะนั้นๆ โดยปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ในข้อบังคับใหม่ ระบุคำว่า “ผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อ”ไว้ชัดเจน โดยหมายถึง “บุคลากรมหาวิทยาลัย” ซึ่งสังกัดสำนักงานคณบดี หรือสังกัดภาควิชา หรือสังกัดหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชาของคณะที่มีการสรรหา”[34] และให้นิยาม“บุคลากรมหาวิทยาลัย”ว่าหมายถึง ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ หรือพนักงานมหาวิทยาลัย ในสังกัดคณะ[35] โดยระยะเวลาปฏิบัติงานยังคงเท่าเดิม
4.1 ความหมายในทางบวก
การให้นิยามที่ชัดเจนของคำว่า“บุคลากรมหาวิทยาลัย” ซึ่งครอบคลุมไปถึงลูกจ้างประจำด้วย เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง เพราะเป็นการขยายฐานการมีส่วนร่วมของบุคลากรในองค์การ ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง(direct stakeholder)จากการทำงานของคณบดีคณะนั้นๆ ประเด็นนี้ สะท้อนการส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยในองค์ที่น่าพอใจระดับหนึ่งใน มศว ไม่ว่าจะมีความหมายอย่างอื่นเป็นเลศนัยซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ก็ตาม
4.2 ความหมายในทางลบ
การนิยามคำว่า“บุคลากรมหาวิทยาลัย” ซึ่งครอบคลุมไปถึงลูกจ้างประจำด้วยนั้น ทำให้เห็นภาพที่ตรงกันข้ามอีกภาพหนึ่งว่า ลูกจ้างชั่วคราว ไม่มีสิทธิ์ดังกล่าว ประเด็นนี้ จุดเน้นของผู้เขียนมิใช่อยู่ที่ว่า ลูกจ้างชั่วคราวควรมีสิทธิ์ด้วย แต่อยู่ที่ว่า พนักงานมหาวิทยาลัย ก็มี 2 ประเภททำนองเดียวกัน แต่ทั้ง 2 ประเภทมีสิทธิ์เสนอชื่อเท่าเทียมกัน ประเด็นนี้ทำให้เกิดปัญหาว่า อะไรคือหลักเกณฑ์และเหตุผลที่ยอมรับได้และคงเส้นคงวา ในการกำหนดว่าบุคคลกลุ่มใดจะมีสิทธิ์ดังกล่าวหรือไม่
5. ประเด็นสำคัญที่เปลี่ยนแปลงประการที่ห้า:
การเปลี่ยนแปลงจำนวนกรรมการสรรหาโดยเพิ่มเติมกรรมการสภา มศว ผู้ทรงคุณวุฒิ
ในข้อบังคับฉบับเดิม คณะกรรมการสรรหาคณบดีมีจำนวน 7 คน โดยแบ่งได้ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหารจำนวน 4 คน ซึ่งมีอธิการบดีในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาแทรกคะแนนอยู่ด้วย อีกฝ่ายหนึ่ง คือผู้แทนบุคลากรมหาวิทยาลัยของคณะที่มีการสรรหาคณบดี จำนวน 3 คน แต่ในข้อบังคับฉบับใหม่ ดูเหมือนมีการแบ่งได้เป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายผู้แทนฯ จำนวน 4 คนและ 3 คนตามลำดับเช่นเดิม ฝ่ายที่ 3 ที่เพิ่มเข้ามาคือ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ท่าน
5.1 ความหมายในทางบวก
การแบ่งเป็น 2 ฝ่ายหรือ 3 ฝ่ายดังนี้ มิใช่เป็นการมองโลกในแง่ร้ายแต่อย่างใด ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่าการถ่วงดุลทางความคิดและวิจารณญาณของคณะกรรมการสรรหา จำเป็นต้องเกิดจากการยอมรับในความแตกต่างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำนวนกรรมการจึงไม่ควรเป็นเครื่องชี้ขาดในเบื้องแรกและในขั้นตอนสุดท้าย การมีฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมจำนวน 2 ท่าน เป็นภาพที่ดีในทางลายลักษณ์อักษร เพราะสังคมทั่วไปย่อมมองว่า ผู้ทรงคุณวุฒิในสภา มศว เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์สูง มีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ การมีองค์ประกอบนี้แทรกอยู่ ย่อมจะส่งผลให้การสรรหาคณบดีเป็นที่ยอมรับและมีความชอบธรรม และไม่ทำให้เกิดภาพลบว่า ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยครอบงำจำนวนคะแนนเสียงกรรมการสรรหาในการพิจารณาตัดสิน ดังเช่นในข้อบังคับเดิมที่ดูจะชัดเจนมาก
5.2 ความหมายในทางลบ
การพิจารณาความหมายแฝงในทางลบ ของการเพิ่มองค์ประกอบกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสรรหาคณบดี เป็นสิ่งที่ดูได้ยากมากจากสายตาคนภายนอก ที่ไม่เข้าใจบริบทการบริหารองค์การ(organizational context)และวัฒนธรรมองค์การ(organizational culture)ของ มศว และยิ่งเมื่อพิจารณาแบบแยกส่วน(fragmented view)โดยไม่เชื่อมโยงกับกระบวการสรรหากรรมการสภา มศว ผู้ทรงคุณวุฒิ และนายกสภา มศว ด้วยแล้ว ยิ่งไม่สามารถมองเห็นความหมายในทางลบได้เลย เมื่อกล่าวโดยรวบรัด นัยยะเชิงลบในประเด็นนี้ มี 4 ประการที่สำคัญ ดังนี้
(1)การเพิ่มจำนวนกรรมการสภา มศว ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน ไม่ได้เป็นหลักประกันในความเป็นธรรมาภิบาลในการสรรหาคณบดีแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพราะ
ก)การพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาคณบดี ไม่มีลักษณะเปิด(open)และโปร่งใส(transparent) บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาคมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงอย่างรอบด้าน(all stakeholders’ direct participation) เนื่องจากไม่มีข้อกำหนดให้กระทำเช่นนั้น และไม่มีการกระทำเช่นนั้นด้วยในช่วงระยะๆเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งๆที่การกระทำดังกล่าวหาใช่เป็นความผิดไม่ ทว่ามีคุณค่าสูงยิ่ง
ข)กรรมการสภา มศว ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 2 ท่าน อาจจะไม่เข้าร่วมการพิจารณาด้วยก็ไม่ส่งผลอะไร เพราะไม่เป็นเงื่อนไขบังคับที่จำเป็น(essential compulsory component)แต่อย่างใด[36] ดังบทบัญญัติที่ระบุว่า “การประชุมของคณะกรรมการสรรหา จะต้องมีประธานกรรมการและกรรมการร่วมประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ”[37]
(2)จากบทบัญญัติที่เพิ่งอ้างถึงใน(1) จึงสื่อความหมายที่ชัดเจนว่า หากไม่มีกรรมการสภา มศวผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 2 ท่านเข้าร่วมประชุม โดยไม่ส่งผลกระทบใดๆแล้ว การเพิ่จำนวน 2 ท่านนี้เข้าไป จึงไม่ใช่ปัจจัยที่มีนัยยะสำคัญ(significant factor)แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม จึงมีความหมายต่อเนื่องว่า การเพิ่มจำนวน 2 ท่านดังกล่าว เข้าข่ายของการกระทำที่มีลักษณะที่เรียกว่า tokenism เท่านั้น มิใช่ meaningful variable แต่อย่างใด
(3)ด้วยบทบัญญัติเดียวกันที่เพิ่งอ้างถึง เรากลับจะเห็นภาพอีกภาพหนึ่งที่สะท้อนว่า ขณะที่การมีอยู่หรือการไม่มีอยู่ของกรรมการสภา มศว ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน ไม่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด(critically important) แต่การปรากฏตัวของอธิการบดีในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาคณบดี ในการประชุมพิจารณากลั่นกรอง เพื่อคัดเลือกรายชื่อให้เหลือเพียง 1 ชื่อ กลับกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เป็นอันขาด(absolutely indispensable factor) ความหมายของปรากฏการณ์นี้ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากจะสรุปในเชิงสมมติฐานว่า “ความเห็นของอธิการบดีเท่านั้น คือคำตอบ”
(4)การกำหนดให้อธิการบดีเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาคณบดี พร้อมๆกับเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้ เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งในเชิงหลักการทางด้านนิติศาสตร์ ประเด็นที่น่าพิจารณายิ่งก็คือ เมื่อมีกรณีพิพาทเกี่ยวข้องกับประธานคณะกรรมการสรรหาคณบดีเกิดขึ้น หลักนิติธรรมในความหมายของความถูกต้องและความยุติธรรม จะดำรงอยู่ไม่ได้เลย หากผู้ปฏิบัติเป็นผู้วินิจฉัยความถูกผิดในการกระทำของตนในเวลาเดียวกัน เพื่อให้เห็นภาพอย่างง่ายๆในเชิงเปรียบเทียบ ก็คือ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจในการจับกุม และมีอำนาจในฐานะผู้พิพากษาด้วยในเวลาเดียวกัน สันติภาวะแห่งอาณาประชาราษฎร์ จะได้รับการพิทักษ์ได้อย่างไรในสังคมนั้นๆ
นัยยะเชิงลบทั้ง 4 ประการข้างต้น ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของคณบดีกลายเป็น “คนในบงการ”ของฝ่ายบริหารอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ แต่สิ่งนี้ก็สามารถจะเกิดขึ้นได้อย่างแยบยลและดูชอบธรรมยิ่ง ภายใต้เงื่อนไขเช่นที่กล่าวมา ศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของคณบดีในฐานะผู้นำองค์การและในฐานะนักวิชาการ จึงมิได้ตั้งอยู่บนรากฐานของศรัทธาทั้งทางด้านวิชาการและด้านคุณธรรม ของประชาคมคณะนั้นๆแต่อย่างใด
[1] การวิเคราะห์ในบทความนี้ แบ่งเป็น 2 ตอน โดยตอนที่ 1 เป็นการวิเคราะห์โดยอ้างอิง ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยการสรรหาคณบดี พ.ศ.2546 ประกาศ ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2546 ซึ่งถูกยกเลิกโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยหลักเกณ์และวิธีการการสรรหาคณบดี พ.ศ.2546 ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2546 ซึ่งมีสาระสำคัญเบื้องต้นไม่ต่างกัน ในแง่ของการวางเงื่อนไขเชิงโครงสร้างเพื่อครอบงำกระบวนการสรรหาคณบดี หากแต่มีความแยบยลมากขึ้นผ่านกลไกและมาตรการบางอย่าง ที่ดูตามลายลักษณ์อักษรแล้วน่าเลื่อมใส แต่มีความเป็น“กำมะลอ”ในทางปฏิบัติ และตอนที่ 2 เป็นการวิเคราะห์เพื่อเชื่อมโยงกับข้อบังคับ ฉบับเดือนธันวาคม 2546
[2] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติมา สังข์เกษม สังกัดภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
[3] ศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อดีตอาจารย์สังกัดคณะศิลปกรรมศาสตร์ เพิ่งเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2549
[4] การเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นผู้แทนคณาจารย์คณะสังคมศาสตร์ จำนวน 3 คน ในคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์
[5] ในตอนที่ 1 นี้ เมื่อใช้คำว่า ปัจจุบัน หรือ ฉบับปัจจุบัน ผู้เขียนมีเจตนาหมายถึง การอ้างอิงข้อบังคับ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2546 เป็นหลัก
[6] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยการสรรหาครบดี พ.ศ.2546 ข้อ 7
[7] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยการสรรหาครบดี พ.ศ.2546 ข้อ 6
[8] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยการสรรหาครบดี พ.ศ.2546 ข้อ 7
[9] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยการสรรหาครบดี พ.ศ.2546 ข้อ 6
[10] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยการสรรหาครบดี พ.ศ.2546 ข้อ 6
[11] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยการสรรหาครบดี พ.ศ.2546 ข้อ 10 และข้อ 11
[12] ภาควิชาจำนวน 6 ภาควิชาได้แก่ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาภูมิศาสตร์ ภาควิชาบริหารธุรกิจ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ และภาควิชาสังคมวิทยา
[13] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยการสรรหาครบดี พ.ศ.2546 ข้อ 9
[14] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยการสรรหาครบดี พ.ศ.2546 ข้อ 9
[15] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยการสรรหาครบดี พ.ศ.2546 ข้อ 9
[16] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยการสรรหาครบดี พ.ศ.2546 ข้อ 9
[17] อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว การดำเนินการที่ผ่านมาเพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายในการบริหาร มศว ก่อนที่จะได้อธิการบดีคนปัจจุบัน หาได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ มศว ในขั้นตอนการดำเนินการต่างๆแต่อย่างใดไม่
[18] ณ จุดนี้ และ ณ เวลาที่กำลังเขียนบทความนี้ ผู้เขียนขอแสดงความเห็นของผู้เขียนอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง บนพื้นฐานข้อมูลที่ผู้เขียนประสบด้วยตนเองว่า คณบดีคณะสังคมศาสตร์คนปัจจุบัน มิใช่บุคคลที่มีลักษณะเช่นว่านี้ ทั้งนี้ ไม่จำเป็นว่า สมาชิกประชาคมสังคมศาสตร์คนอื่นๆจำต้องมีความเห็นทำนองเดียวกับผู้เขียนแต่อย่างใด
[19] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณบดี พ.ศ. 2546 ฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2546 ข้อ 5
[20] หากสังเกตให้ดี จะเห็นว่า ตามข้อบังคับเดิมในข้อ 7(5)นี้ มีการใช้คำว่า “คณะวิชา” ซึ่งมิใช่คำที่ใช้อยู่ตามปกติใน มศว และในมหาวิทยาลัยอื่นๆแต่อย่างใด ยกเว้นสถาบันราชภัฏในอดีต
[21] พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2541 มาตรา 16(1)
[22] ตาม พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2541 มาตรา 7 ระบุว่า “ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม”
[23] พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2541 มาตรา 22(1)
[24] พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2541 มาตรา 22(3)
[25]พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2541 มาตรา 29 วรรค 1
[26] พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2541 มาตรา 31(1)
[27] อย่างไรก็ตาม ในการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ทางฝ่ายบริหาร มศว ได้ทำบันทึก ด่วนที่สุด ถึงคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ที่ ศธ 0519.1.03/3890 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2550 เรื่อง การสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ โดยกำหนดให้คณะสังคมศาสตร์ดำเนินการเพื่อให้มีการเลือกผู้แทนคณาจารย์เป็นกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ จำนวน 3 คน และแจ้งรายชื่อให้มหาวิทยาลัยทราบโดยด่วน ภายใน 14 สิงหาคม 2550 เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาฯต่อไป จากบันทึกฉบับนี้ จะเห็นได้ว่า ฝ่ายบริหารของ มศว เริ่มดำเนินการกระบวนการในการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ อย่างเฉียดฉิวมากทีเดียว การมองโลกในแง่ดีว่า ฝ่ายบริหารมีแนวโน้มที่จะให้ประชาคมสังคมศาสตร์ มีเวลาของตนเองในการเตรียมกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างฉลาดแบบอารยะ(wisely civilized participation)ในการสรรหาคณบดีสังคมศาสตร์ ดูจะไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นจริงมากนัก
[28] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณบดี พ.ศ.2546 (ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2546) ข้อ 8(1)
[29] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณบดี พ.ศ.2546 (ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2546) ข้อ 8(2)
[30] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณบดี พ.ศ.2546 (ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2546) ข้อ 8(3)
[31] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณบดี พ.ศ.2546 (ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2546) ข้อ 6(4)
[32] อันที่จริง ชื่อของประกาศฉบับนี้ไม่จำเป็นต้องยาวมากขนาดนี้ก็ได้ อาจจะใช้ชื่อว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกผู้แทนบุคลากรมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการสรรหาคณบดี” ก็ไม่ผิดความหมาย เพราะคำว่า “ผู้แทนบุคลากรมหาวิทยาลัย” เป็นคำที่ปรากฏในข้อบังคับฉบับใหม่อยู่แล้ว การขยายความในประกาศว่าหมายถึงใครบ้างก็เป็นการเพียงพอ
[33] ประกาศมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกผู้แทนคณาจารย์ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ หรือพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการสรรหาคณบดี ประกาศ ณ วันที่ 9 มกราคม 2550 ข้อ 1 (1.1)
[34] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณบดี พ.ศ.2546 (ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2546) ข้อ 9 วรรคแรก
[35] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณบดี พ.ศ.2546 (ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2546) ข้อ 4 วรรคเจ็ด
[36] เช่นกรณีของคณะพยาบาลศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้เอง
[37] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณบดี พ.ศ.2546 (ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2546) ข้อ 10
6. ประเด็นสำคัญที่เปลี่ยนแปลงประการหก:
การเปลี่ยนแปลงอำนาจและหน้าที่คณะกรรมการสรรหาคณบดี
ในข้อบังคับฉบับเดิม อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาคณบดี กระจายอยู่ในข้อบังคับหลายๆข้อ ได้แก่ ข้อบังคับข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 และข้อ 11 แต่ในข้อบังคับฉบับใหม่ อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาคณบดี ถูกรวบรวมไว้ในข้อบังคับข้อ 8 เพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น ซึ่งจำแนกได้ 7 ประการ โดยสามารถจัดแบ่งกลุ่มอำนาจและหน้าที่ได้เป็น 2 กลุ่มตามช่วงระยะเวลา คือ (ก)กลุ่มอำนาจและหน้าที่ในช่วงก่อนวันเสนอชื่อ และ(ข)กลุ่มอำนาจและหน้าที่ในช่วงหลังวันเสนอชื่อ
กลุ่มอำนาจและหน้าที่ในช่วงก่อนวันเสนอชื่อ มี 4 ประการ[1] ดังต่อไปนี้
1)วิเคราะห์สถานภาพ ความต้องการ ทิศทางการพัฒนาคณะ และคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของคณบดีเพิ่มเติมจากข้อบังคับ ข้อ 5 เพื่อเป็นเกณฑ์การพิจารณาการสรรหาคณบดี
2)จัดทำเอกสารกำหนดเป้าหมาย ภารกิจ พันธกิจ ที่ต้องการให้คณบดีดำเนินการในช่วง 4 ปีที่จะดำรงตำแหน่ง โดยรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ จากหน่วยงานในสังกัดคณะหรือส่วนราชการภายนอกคณะ แล้วนำเสนอคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยพิจารณา ก่อนที่จะดำเนินการสรรหา
3)กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งคณบดี โดยทำเป็นประกาศของคณะกรรมการสรรหา ทั้งนี้ จะต้องไม่ใช้วิธีการเลือกตั้งหรือหยั่งเสียง
4)การสรรหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม ให้ดำเนินการอย่างกว้างขวาง และใช้หลักการให้บุคลากรมหาวิทยาลัยได้มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี
สำหรับกลุ่มอำนาจและหน้าที่ในช่วงหลังวันเสนอชื่อ มี 3 ประการ[2] ดังนี้
1)คณะกรรมการสรรหาอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อดำเนินการอันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาก้ได้
2)ประมวลประวัติและผลงาน รวมทั้งพิจารณากลั่นกรองและประเมินคุณสมบัติของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ เพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสมที่สุด
3)เมื่อคณะกรรมการสรรหาดำเนินการเสร็จแล้ว ให้เสนอชื่อบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งคณบดี จำนวน 1 ชื่อ พร้อมด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อสภา มศว เพื่อพิจารณาต่อไป
6.1 ความหมายในทางบวก
การปรับเปลี่ยนอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาในข้อบังคับฉบับใหม่ มีนัยยะในทางบวก 3 ประการ ดังต่อไปนี้
(1)อำนาจและหน้าที่ใน(1)และ(2)ซึ่งเป็นของใหม่ และ ใน(4)ซึ่งปรับจากของเดิมให้สละสลวยและชัดเจนขึ้น เป็นสิ่งที่ดี เพื่อมิให้การบริหารงานของคณบดี เป็นการบริหารงานตามอำเภอใจหรือตามความสะดวกและไร้ทิศทาง หากแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงของสภาพปัญหาและทิศทางในอนาคต(problem-based and goal-oriented management) ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาคมของคณะนั้นๆ
(2)การเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาคมของคณะ จะทำให้เป้าหมาย ภารกิจและพันธกิจที่คณบดีต้องดำเนินการ มีความยึดโยงกับขั้นตอนการเสนอชื่อ และเป็นผลให้คณะกรรมการสรรหาคณบดี สามารถกลั่นกรองและประเมินผู้ถูกเสนอชื่อ จนได้ผู้เหมาะสมที่สุด 1 ชื่อ
(3)การระบุข้อความว่า“ให้เสนอชื่อบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งคณบดี จำนวน 1 ชื่อ พร้อมด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อสภา มศว เพื่อพิจารณาต่อไป” ซึ่งต่างจากข้อบังคับฉบับเดิมที่ระบุว่า“เพื่อนำเสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณาแต่งตั้ง” ทำให้ภาพของ“การมัดมือชก” ที่อธิการบดี(ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาคณบดีด้วย) กระทำต่อสภา มศว จางหายไป เพราะสภา มศว อาจพิจารณาแล้ว เห็นว่ายังไม่เหมาะสมที่จะแต่งตั้งก็ได้
6.2 ความหมายในทางลบ
นัยยะในทางลบที่สามารถพิจารณาได้ จากการปรับเปลี่ยนอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาคณบดีในข้อบังคับฉบับใหม่ มี 3 ประการ ดังต่อไปนี้
(1)ในข้อบังคับฉบับเดิม กำหนดให้คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย และคณะกรรมการสรรหาคณบดีต้องประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดภารกิจและนโยบายการพัฒนาคณะ รวมทั้งพิจารณาสัดส่วนและคุณลักษณะของคณบดี แต่ในข้อบังคับฉบับใหม่ กำหนดอำนาจและหน้าที่ในการวิเคราะห์สถานภาพ ความต้องการ ทิศทางการพัฒนาคณะ และคุณสมบัติที่พึงปรารถนาของคณบดีเพิ่มเติม รวมทั้ง จัดทำเอกสารภารกิจ เป้าหมาย พันธกิจ 4 ปีข้างหน้า ให้เป็นของคณะกรรมการสรรหาคณบดีเท่านั้น ทำให้เกิดภาพว่าอำนาจและหน้าที่ดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการบริหาร มศว แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การระบุเอาไว้ว่าให้คณะกรรมการสรรหาคณบดีต้องเสนอเอกสารกำหนดเป้าหมายฯดังกลาว ต่อคณะกรรมการบริหาร มศว พิจารณาก่อนที่จะดำเนินการสรรหาคณบดี แม้จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่คณะกรรมการบริหาร มศว ว่าไม่ได้ครอบงำกระบวนการสรรหาคณบดี ก็ตาม ทว่าในความเป็นจริง ประธานคณะกรรมการบริหาร มศว และประธานคณะกรรมการสรรหาคณบดี เป็นบุคคลคนเดียวกัน คืออิการบดี ดังนั้น บทบัญญัติใหม่ในข้อ 8(1)และ(2) จึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหมที่ดีกลบเกลื่อนการครอบงำในเชิงสัมพัธภาพ(relational domination)อย่างชาญฉลาดยิ่ง
(2)ภาพรวมของอำนาจและหน้าที่ 7 ประการข้างต้น คล้ายกับเป็นการจำลองแบบมาจากการสรรหาอธิการบดี มศว[3] ซึ่งเพิ่งผ่านไปไม่นาน แต่การมีส่วนร่วมในการจัดทำเอกสารฯของประชาคม มสว ไม่มีความจริงจังและมีความหมายแต่อย่างใด ในกรณีของการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์นี้ก็เช่นกัน จึงเกิดข้อกังขาว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิมอีกหรือไม่ เนื่องจาก ไม่มีหลักประกันหรือมาตรการใดๆที่จะช่วยยืนยันว่า หากไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ครอบคลุม และมีความหมายอย่างแท้จริงแล้ว ใครต้องรับผิดชอบบ้าง และรับผิดชอบอย่างไร ดูจากลายลักษณ์อักษรเท่าที่ปรากฏในข้อบังคับฉบับใหม่นี้ สถานการณ์จึงดูจะกลายเป็นการกระทำแบบ“พอเป็นพิธี” เสียมากกว่าที่จะมุ่งให้การมีส่วนร่วมของประชาคมสังคมศาสตร์ ในการวิเคราะห์สถานภาพและในการจัดทำเอกสารฯ รวมไปจนถึงการเสนอชื่อ เป็นรากฐานที่แท้จริงของการได้มาซึ่งคณะสังคมศาสตร์คนใหม่ และของความสำเร็จในอนาคตของคณะสังคมศาสตร์โดยรวม
(3)การระบุอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาคณบดี ในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา โดยจัดทำเป็นประกาศของคณะกรรมการสรรหาคณบดี และระบุว่า“ต้องไม่ใช้วิธีการเลือกตั้งหรือหยั่งเสียง”[4]ไปพร้อมๆกัน เมื่อพิจารณาประเด็นนี้ร่วมกับ (ก)ประเด็นที่เสียงของฝ่ายบริหารเป็นต่อฝ่ายผู้แทนบุคลากรคณะ(6:3) (ข)ประเด็นที่อธิการบดีเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาคณบดี และ (ค)ประเด็นที่กำหนดให้คณะกรรมการสรหาคณบดีต้องต้องคัดเลือกรายชื่อให้เหลือเพียง 1 ชื่อเท่านั้นแล้ว ทำให้สามารถมองเห็นได้ว่า บทบัญญัติข้อ 8(4) ซึ่งดูจะให้ความสำคัญกับประเด็น“การมีส่วนร่วม” โดยระบุไว้ว่า“การสรรหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม ให้ดำเนินการอย่างกว้างขวาง และใช้หลักการให้บุคลากรมหาวิทยาลัยได้มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี”ไร้ความหมายไปโดยสิ้นเชิง
นี่ย่อมหมายถึงว่า แม้ประชาคมสังคมศาสตร์ ร้อยละ 99 จะเสนอชื่อบุคคลใดบุคลหนึ่งเป็นคณบดีโดยความเห็นพ้องต้องกันแล้ว ก็มิได้หมายความว่า เสียงที่เสนอไปร้อยละ 99 นั้น จะมีความหมายในฐานะที่เป็นตัวแปรวินิจฉัยผล(decisive variable)แต่อย่างใด นี่คือภาพความแยบยลในการใช้คำว่า“หลักการ...มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อ” ซึ่งสละสลวยมากภายใต้บริบทที่ทำให้หลักการนี้ ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิงอย่างจงใจ(intentional making of meaninglessness)อย่างชาญฉลาดยิ่งอีกเช่นกัน
7. ข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้คำว่า “การสรรหา”ในข้อบังคับ
ในข้อบังคับฉบับใหม่นี้ การใช้คำว่า“การสรรหา”ในข้อบังคับ ข้อ 6 และข้อบังคับ ข้อ 8(2) ดูจะมีปัญหาความไม่สอดคล้องกันเกิดขึ้น เนื่องจากว่า ในข้อบังคับ ข้อ 6 ซึ่งระบุว่า “ให้ดำเนินการสรรหาคณบดี...ภายใน 90 วัน”นั้น มีความชัดเจนว่า เมื่อได้เริ่มกิจกรรมในการดำเนินการสรรหาคณบดีแล้ว คณะกรรมการสรรหาคณบดีมีเวลาทั้งสิ้น 90 วัน ซึ่งตามข้อบังคับข้อนี้ การมีคำสั่งโดยมหาวิทยาลัยเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาคณบดี ตามข้อบังคับ ข้อ 7 เป็นกิจกรรมเริ่มต้นของการสรรหาคณบดี ดังนั้น กิจกรรมอื่นๆที่ตามมา จึงเป็นกิจกรรมย่อยของคณะกรรมการสรรหาคณบดี ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยมีเวลาทั้งสิ้น 90 วัน
ขณะที่ ในข้อบังคับข้อ 8(2) ระบุว่า “จัดทำเอกสารกำหนดเป้าหมาย..........แล้วนำเสนอคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยพิจารณา ก่อนที่จะดำเนินการสรรหา” ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจใน 2ประการ ดังนี้
ก)การจัดทำเอกสารฯข้างต้น ไม่ใช่กิจกรรมย่อยของการสรรหาคณบดี และไม่นับรวมไว้ในช่งเวลา 90 วันดังที่กล่าวมา และ
ข)”การสรรหา”ตามข้อบังคับ ข้อ 8(2)ดังกล่าว หมายถึงเฉพาะ“การเสนอชื่อ”ในข้อบังคับ ข้อ 8(4) “การประมวลประวัติและผลงาน” และ “การกลั่นกรองและการประเมินคุณสมบัติ”ในข้อบังคับ ข้อ 8(6) และ “การเสนอชื่อ.....จำนวนหนึ่งชื่อ...ต่อสภามหาวิทยาลัย”เท่านั้น
หากสถานการณ์ของการให้ความหมายของคำว่า “การสรรหา” มีลักษณะดังที่กล่าวมา สิ่งที่เกิดขึ้น ก็จะกลายเป็นว่า 1)“การวิเคราะห์สถานภาพฯ”ก็ดี 2)“การจัดทำเอกสารกำหนดเป้าหมายฯ” และ 3)“การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาฯ”ก็ดี ตามข้อบังคับข้อ 8(1), (2) และ (3) ตามลำดับ หาใช่กิจกรรมย่อยในการสรรหาคณบดีไม่ และไม่นับรวมเอาเข้าไปอยู่ในช่วงเวลา 90 วันดังที่กล่าวมาด้วย
ความไม่ชัดเจน(ambiguity) และความไม่สอดคล้องกัน(inconsistency)ในเชิงนิยาม ของการใช้คำว่า“การสรรหา” ดังที่นำเสนอมาข้างต้น จะกลายเป็นปมปัญหาความถูกต้องในแง่กฎหมาย(legal correctness)และความชอบธรรมในความรู้สึก(social legitimacy)ของประชาคมสังคมศาสตร์ที่น่าเป็นห่วงยิ่ง
8. ภาษาแปลกที่แทรกอยู่ในข้อบังคับ
ในข้อบังคับฉบับใหม่ มีความแปลกเกี่ยวกับภาษาที่ใช้อยู่ 3 ประการ ดังต่อไปนี้
ประการแรก มีการระบุคำว่า “นายกสภามหาวิทยาลัย” พร้อมคำนิยามไว้ในข้อบังคับ ข้อ 4 วรรค 3 อย่างไรก็ตาม ไม่มีการใช้คำดังกล่าวนี้ในข้อบังคับข้ออื่นๆเลย เว้นแต่ในตำแหน่งของผู้ลงนามประกาศ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการระบุนิยามไว้ล่วงหน้า เพราะมีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว
ประการที่สอง มีคำว่า “ต่อประธานคณะกรรมการ” ในข้อบังคับข้อ 8(4) ซึ่งดูคล้ายกับว่าเป็นผู้ที่จะรับรายชื่อที่ถูกเสนอโดยตรงจากบุคลากรของคณะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชื่อเหล่านั้นจะต้องส่งถึงประธานคณะกรรมการสรรหาคณบดี ในนามของที่ประชุมภาควิชาและที่ประชุมสำนักงานคณบดี มิใช่บุคลากรของคณะเสนอชื่อโดยตรงให้ประธานคณะกรรมการสรรหาคณบดี ดังนั้น การระบุไว้ในข้อบังคับข้างต้น จึงดูแปลกๆในแง่ของการใช้ภาษาและการสื่อความหมาย
ประการที่สาม คำว่า “และ” ในข้อบังคับ ข้อ 9 บรรทัดที่ 2 (ซึ่งอยู่ระหว่างคำว่า“บุคลากรมหาวิทยาลัย” และคำว่า“สังกัดสำนักงานคณบดี”) ทำให้ความหมายของประโยคไม่ชัดเจน เมื่อดูจากรูปประโยคและความหมายโดยรวมแล้ว คำที่ควรใช้ทดแทน น่าจะเป็นคำว่า“ซึ่ง” เพราะดูจะเหมาะสมและสื่อความหมายได้ชัดเจนกว่า
9. ความหมายในภาพรวมที่แฝงอยู่ในข้อบังคับ
ข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณบดีฉบับใหม่ ที่แก้ไขและบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2546 เป็นต้นมา มีความหมายในภาพรวม ดังต่อไปนี้
(1)แม้มีการขยายฐานการมีส่วนร่วมของภาคีในส่วนของลูกจ้างประจำไว้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ไม่มีการขยายฐานการมีส่วนร่วมไปสู่ภาคีนิสิต ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่สำคัญมากของประชาคมสังคมศาสตร์
การไม่ส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ภาคีนิสิตได้มีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ในกระบวนการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ สะท้อนถึงความไม่จริงใจและความไม่ตั้งใจจริงของสภา มศว และคณะผู้บริหาร มศว ในการส่งเสริมการเรียนรู้วิถีชีวิตประชาธิปไตยของนิสิต ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และของพระราชบัญญัติ มศว อีกทั้งยังสะท้อนว่า ความไม่เคารพในวิจารณญาณของนิสิต ในการมีส่วนร่วมในภารกิจของคณะสังคมศาสตร์ ที่กระทบต่อชีวิตและผลประโยชน์ของพวกเขา ปรากฏอยู่จริงและเป็นประจักษ์ใน มศว
การสร้างข้อจำกัดเช่นนี้ ย่อมมีความหมายอย่างสำคัญทีเดียวว่า สัมฤทธิ์ผลในการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย(democratic political culture) ในหมู่นิสิต มศว ผ่านการเรียนรู้ในภารกิจขององค์การหรือของมหาวิทยาลัย เป็นสิ่งที่คาดหวังได้ยากยิ่ง ทั้งนี้ ไม่นับไปถึงคุณูปการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่นิสิตเหล่านี้จะมีต่อสังคมไทยโดยส่วนรวม[5]
(2)การกำหนดให้กรรมการสภา มศว ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 2 ท่าน เข้าเป็นกรรมการสรรหาคณบดี ภายใต้บริบททางการบริหารที่เป็นอยู่ของ มศว เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้ทรงคุณวุฒิกลายเป็น“ตรายางซ่อนเร้น”(disguised rubber stamp) เพื่อสร้างความเชื่อถือและความชอบธรรมให้แก่อธิการบดี มศว ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาคณบดี สถานการณ์เช่นนี้สร้างความเสียหายให้แก่สภา มศว เพราะกรรมการสภา มศว ผู้ทรงคุณวุฒิถูกลดคุณค่าที่แท้จริงลง(status devaluing) โดยมีสถานะกลายเป็นเครื่องมือใช้ประโยชน์พอเป็นพิธี เนื่องจาก หากไม่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสรรหาคณบดีก็ไม่ส่งผลใดๆอย่างมีความหมาย ดังเช่นกรณีของการสรรหาคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์
(3)หากมองกระบวนการสรรหาคณบดี เป็นกระบวนการแข่งขันเพื่อแสวงหาตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ข้อบังคับฉบับใหม่ที่ใช้อยู่สร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขันในองค์การ(organizational competitive advantage)ให้แก่ฝ่ายบริหารได้อย่างแนบเนียน เป็นความได้เปรียบที่มิได้ตั้งอยู่บนสิ่งที่เรียกว่า fair game แต่อย่างใด
(4)การกำหนดกระบวนการจัดทำเอกสารกำหนดเป้าหมาย ภารกิจ และพันธกิจของคณะสังคมศาสตร์ โดยกำหนดให้ประชาคมสังคมศาสตร์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย กลายเป็น“กระบวนการมีส่วนร่วมแบบกำมะลอ”(pretended participatory process) และเป็นการซ้ำรอยเดิมของกระบวนการสรรหาอธิการบดีที่เพิ่งผ่านมาสดๆร้อนๆ ด้วยการดึงเอาคำว่า“ยุทธศาสตร์”มาเป็นเครื่องมือของอธิการบดี ในการสร้าง“เครือข่ายอำนาจและผู้สนองงาน”ได้อย่างแยบยล ทั้งๆที่ประเด็นดังกล่าว มิใช่เงื่อนไขสำคัญใน พระราชบัญญัติ มศว แต่อย่างใด
(5)การคงประเด็นที่อธิการบดีดำรงฐานะเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาคณบดีไว้ สะท้อนปัญหาเชิงหลักการด้านนิติศาสตร์ ในประเด็นของความขัดแย้งในบทบาทของตนเอง(role conflict)และผลประโยชน์ทับซ้อน(conflict of interests)ระหว่างการเป็น“ผู้ใช้อำนาจพิจารณากลั่นกรอง”(หรือกล่าวอีกนัยยะหนึ่ง ก็คือ การเป็นผู้ที่อาจจะกระทำผิดพลาดและถูกกล่าวโทษฟ้องร้อง ในด้านหนึ่ง) และ“ผู้รักษาการตามข้อบังคับ”(หรือก็คือ การเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อพิพาท ในอีกด้านหนึ่ง) นั่นย่อมหมายถึงว่า การเป็นผู้ที่อาจจะกระทำผิดพลาดและถูกกล่าวโทษฟ้องร้อง กลายเป็นบุคคลคนเดียวกับ การเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้น นี่คือภาพที่ชัดเจนยิ่งของการรวมศูนย์อำนาจในองค์การ(administrative centralization) ที่รวมเอาอำนาจทางด้านการบริหาร(executive power) และอำนาจทางด้านตุลาการ(judicial power)ไว้ในบุคคลคนเดียวกัน คือ อธิการบดี มศว ภายใต้เงื่อนไขเชิงอำนาจนิยมและอัตตาธิปไตย(authoritarian rule within administrative autocracy)เช่นนี้ ความเที่ยงธรรม(fairness and justice) และการเป็นที่พึ่งอันทรงธรรม(righteous dependability)ของประชาคม มศว จะอยู่ที่ไหน และจะดำรงอยู่ได้อย่างไร
ณ จุดนี้ ผู้เขียนไม่สามารถมองเห็นภาพของใคร ได้ชัดเจนเท่ากับภาพของอาชญากรสงครามและจอมเผด็จการฮิตเลอร์และจอมพลสฤษดิ์ที่หลงยุค ล่องลอยอยู่ทั่วไปทั้งในคณะต่างๆ และในปริมณฑลทางวิชาการทั่วทั้ง มศว นี่หรือคือ ดินแดนแห่งความส่องสว่างทางปัญญาท่ามกลางมหานครอันงดงาม!!!
10. ทิศทางในอนาคต
เพื่อให้คณะสังคมศาสตร์ในฐานะองค์การย่อยกึ่งอิสระ(semi-autonomous sub-organization) มีโอกาสที่จะก้าวย่างไปบนวิถีแห่งการเป็นองค์การเรียนรู้ และสามารถวิวัฒน์ไปอย่างเป็นธรรมชาติ รู้สำนึก และรู้เท่าทันตนเอง สู่การเป็นองค์การที่ร่มเย็นเป็นสุข(green and happiness organization)อย่างยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสรรค์เงื่อนไขเอื้ออำนวยที่สำคัญยิ่ง(critical encouraging condition) 3 ประการให้เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
(1)ประชาคมสังคมศาสตร์ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ในการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมและทิศทางร่วมในอนาคตสำหรับคณะสังคมศาสตร์
(2)คณบดีคณะสังคมศาสตร์ เป็นตำแหน่งที่ได้มาด้วยกระบวนการที่ยึดโยงอย่างมีความหมาย กับกระบวนการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมและทิศทางร่วมในอนาคต ของคณะสังคมศาสตร์ดังที่กล่าวมา และ
(3)ประชาคมสังคมศาสตร์ มีความศรัทธาและความภาคภูมิใจ ที่จะร่วมทำงานกับคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ในฐานะสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จในอนาคตอันใกล้(symbol of future success)อย่างอุทิศตัว เพื่อมุ่งสู่ความร่มเย็นเป็นสุขขององค์การ
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขและสาระที่บัญญัติแฝงเร้นไว้ในข้อบังคับการสรรหาคณบดีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่มีคุณลักษณะที่จะเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ที่จะเอื้ออำนวยต่อการสร้างสรรค์เงื่อนไขและปัจจัยแวดล้อมที่น่าพึงปรารถนา 3 ประการที่เพิ่งกล่าวมา ผู้เขียนมีข้อเสนอว่า มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้(inevitable necessity)ที่สมาชิกประชาคมสังคมศาสตร์ทุกคน ทุกสายงานและทุกระดับ จะต้องผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวในภารกิจ 3 ประการ ดังต่อไปนี้
(1)ภารกิจเร่งด่วนของประชาคมสังคมศาสตร์
(2)ภารกิจระยะกลางของประชาคมสังคมศาสตร์
(3)ภารกิจระยะยาวของประชาคมสังคมศาสตร์
10.1 ภารกิจเร่งด่วนของประชาคมสังคมศาสตร์
ในภารกิจเร่งด่วนนี้ สิ่งที่สมาชิกประชาคมสังคมศาสตร์ ควรวร่วมกันดำเนินการ มีดังนี้
(1)การร่วมใจ ร่วมคิด และร่วมมือกันในการจัดทำวิสัยทัศน์ร่วม และทิศทางร่วมในอนาคตของคณะสังคมศาสตร์ใน 4 ปีข้างหน้า ผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขการติดต่อสื่อสารทั้งภายในและภายนอกคณะสังคมศาสตร์ และเงื่อนไขข้อจำกัดของช่วงเวลา เพื่อให้ผลผลิตร่วมที่เกิดขึ้นเป็นกรอบการทำงานร่วมกันที่ชัดเจน และเป็นสิ่งอ้างอิงที่ยอมรับร่วมกันอย่างเต็มใจในกรณีต่างๆซึ่งจำเป็นต้องมีการตัดสินใจร่วมกันในภายหลัง
(2)การให้ความสนใจและติดตามสถานการณ์ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกัน เกี่ยวกับบุคคลที่จะเป็นผู้แทนคณาจารย์ ในคณะกรรมการสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ ผ่านเวทีที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้ เพื่อมิให้การเสนอชื่อผู้แทนคณาจารย์เป็นไปในลักษณะกระจัดกระจาย ไร้ทิศทาง ไร้ความหมาย จนอาจนำไปสู่การขัดแย้งกันเองภายในคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกิดผลในทางสร้างสรรค์ใดๆเลย และเพื่อมิให้การตัดสินใจของผู้แทนคณาจารย์เป็นการตัดสินใจของปัจเจกบุคคลตามอำเภอใจ ตามอคติส่วนบุคคล หรือผลประโยชน์ส่วนตัว โดยไร้สิ่งยึดโยงร่วมกันในนามของประชาคมสังคมศาสตร์ เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้ว จะตอบคำถามว่า“การเป็นผู้แทนคณาจารย์คณะสังคมศาสตร์นั้น เป็นผู้แทนในความหมายของการแทนอะไร และของใคร?” ได้อย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประชาคมสังคมศาสตร์เลือกผู้แทนคณาจารย์ เพื่อไปแทนเจตนารมณ์ของประชาคมสังคมศาสตร์ มิใช่เพื่อให้ผู้แทนดำเนินการตามใจชอบของตนเอง เพราะนั่นมิใช่ความมหมายของสิ่งที่เรียกว่า“ผู้แทน” ที่แท้จริง
(3)การระดมความคิด การร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการประเมินสถานการณ์ ผ่านช่องทางและเวทีต่างๆที่เหมาะสม เพื่อนำเสนอว่าใครเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดในการเป็นว่าที่คณบดีคณะสังคมศาสตร์ ฉันทามติที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนการที่เปิดกว้าง โปร่งใส และเสรี จะทำให้ชื่อว่าที่คณบดีคณะสังคมศาสตร์ เป็นชื่อที่หมายถึงสัญลักษณ์แห่งการยอมรับ(symbol of social recognition) สัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ(symbol of organizational pride) สัญลักษณ์แห่งการสานพลัง(symbol of organizational synergy) และสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในอนาคต(symbol of organizational breakthrough)
ภารกิจเร่งด่วนทั้ง 3 ประการนี้ จำเป็นต้องได้รับความสนใจและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้โดยประชาคมสังคมศาสตร์ และควรอย่างยิ่งที่จะดำเนินไปพร้อมๆกันอย่างสอดประสานกัน โดยผู้ที่จะเริ่มต้นกระบวนการอาจจะเป็นฝ่ายบริหารของคณะสังคมศาสตร์เอง หัวหน้าภาควิชาบางคน หรือคณาจารย์บางกลุ่ม หรือคนใดคนหนึ่งในคณะสังคมศาสตร์ก็ย่อมไม่เสียหายอะไร ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นมีเพียงประการเดียวคือ การไม่ทำอะไรเลย เพราะนั่นมิใช่การปล่อยวาง หากแต่เป็นการปล่อยทิ้งปล่อยขว้าง ต่างหาก
10.2 ภารกิจระยะกลางของประชาคมสังคมศาสตร์
ในภารกิจระยะกลางนี้ หากสามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่องกับภารกิจเร่งด่วนได้ ย่อมเกิดผลสำเร็จเข้มข้นขึ้น แต่หากภารกิจเร่งด่วนที่กล่าวมาไม่สาสารถดำเนินการได้ การที่ประชาคมสังคมศาสตร์จะหันมาดำเนินการในภารกิจระยะกลาง ก็ย่อมไม่เป็นการสูญเปล่าแต่อย่างใด และไม่เรียกได้ว่าสายเกินไป สิ่งที่ควรกระทำในภารกิจระยะกลาง มีดังต่อไปนี้
(1)ฝ่ายบริหารของคณะสังคมศาตร์ หัวหน้าภาควิชา กลุ่มคณาจารย์ หรือคนใดคนหนึ่งในคณะสังคมศาสตร์ อาจจะจัดให้มีเวทีประชาคมสังคมศาสตร์ ภายหลังจากที่รับทราบว่าใครคือคณบดีคณะสังคมศาสตร์คนใหม่ ทั้งนี้ เพื่อที่สมาชิกของประชาคมสังคมศาสตร์ทุกสายงายและทุกระดับ จะได้รับทราบแนวทางการทำงานในระยะ 4 ปีข้างหน้า และจะได้ร่วมมือกันในการทำงานร่วมกับคณบดีคณะสังคมศาสตร์คนใหม่อย่างราบรื่น อย่างเต็มใจ และอย่างสุขใจ
(2)ฝ่ายบริหารของคณะสังคมศาตร์ หัวหน้าภาควิชา กลุ่มคณาจารย์ หรือคนใดคนหนึ่งในคณะสังคมศาสตร์ อาจจะจัดให้มีเวทีประชาคมสังคมศาสตร์ เพื่อให้มีการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามวิสัยทัศ์ร่วมและทิศทางร่วมในอนาคตเป็นระยะๆ อาจจะทุกๆ 4 เดือน หรือทุกๆ 6 เดือน ก็ได้ ในเวทีนี้ การซักถามข้อสงสัยในบางประเด็นที่มิใช่เรื่องปิดลับ รวมทั้งการนำเสนอข้อเสนอแนะบางประการต่อฝ่ายบริหารอย่างสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมอย่างยิ่ง
(3)หัวหน้าภาควิชา กลุ่มคณาจารย์ หรือคนใดคนหนึ่งในคณะสังคมศาสตร์ อาจจะจัดให้มีเวทีประชาคมสังคมศาสตร์ เพื่อระดมพลังจิตอาสาโดยการแบ่งหน้าที่กัน ในการติดตามและประเมินการปฏิบัติงานของคณะสังคมศาสตร์เป็นระยะๆ รวมไปถึงการร่วมมือร่วมใจกันในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ และปลอดจากการเมืองแบบแบ่งฝ่ายภายในองค์การ(organizational partisan politics) ภารกิจนี้ มิใช่“การจับผิด”หรือ“การตรวจจับ”ฝ่ายบริหารของคณะสังคมศาสตร์แต่อย่างใด หากแต่เป็น“การช่วยกันอีกแรงหนึ่ง”ในการสร้างความก้าวหน้าให้แก่คณะสังคมศาสตร์ เพราะประเด็นสำคัญมิใช่อยู่ที่ว่า“ใครทำผิด” แต่อยู่ที่“อะไรบ้างที่ควรแก้ไข” และ“ใครจะร่วมแก้ไขบ้าง” ต่างหาก
10.3 ภารกิจระยะยาวของประชาคมสังคมศาสตร์
ภารกิจระยะยะยาวที่ประชาคมสังคมศาสตร์ควรทำ นอกจากจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาคมสังคมศาสตร์เองแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อคณะอื่นๆ และประชาคม มศว โดยรวมอีกด้วย ภารกิจระยะยาวมีดังนี้
(1)ฝ่ายบริหารของคณะสังคมศาตร์ หัวหน้าภาควิชา กลุ่มคณาจารย์ หรือคนใดคนหนึ่งในคณะสังคมศาสตร์ กระตุ้นหรือริ่เริมให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมองค์การแบบเปิดและมีส่วนร่วมรอบทิศ(open and omni-directional participatory organizational culture) เพื่อให้เกิดพลวัตอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วนและทุกระดับ(continuous organizational dynamics of all sectors and at all levels)ในคณะสังคมศาสตร์ เพื่อให้การดำเนินการตามภารกิจเร่งด่วนและภารกิจระยะกลางกลายเป็นนิสัยสำนึก(conscious habit)ในชีวิตประจำวันของประชาคมสังคมศาสตร์
(2)ฝ่ายบริหารของคณะสังคมศาสตร์ หัวหน้าภาควิชา กลุ่มคณาจารย์ หรือคนใดคนหนึ่งในคณะสังคมศาสตร์ จัดทำบันทึกสรุปบทเรียนที่เกิดขึ้นในประชาคมสังคมศาสตร์ จากการดำเนินภารกิจทั้ง 3 ระยะ อย่างเป็นระบบและเป็นวิชาการ เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนในเวทีต่างๆ 3 ระดับ คือ (ก)เวทีภายในคณะสังคมศาสตร์ (ข)เวทีนอกคณะสังคมศาสตร์ ภายใน มศว และ (3)เวทีวิชาการนอก มศว ทั้งที่เป็นเวทีของสถาบันวิชาการอื่นๆและเวทีระดับชาติ
(3)ฝ่ายบริหารของคณะสังคมศาตร์ หัวหน้าภาควิชา กลุ่มคณาจารย์ หรือคนใดคนหนึ่งในคณะสังคมศาสตร์ นำเสนอบทเรียนที่สรุปได้จากภารกิจ(2)ต่อสภา มศว เพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบการสรรหาผู้นำในทุกระดับทั่วทั้งองค์การ(overall organizational reform of executive leader recruitment)
11. บทสรุปที่มิใช่จุดจบ
เมื่อพิจารณาดูโดยภาพรวมแล้ว ข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาคณบดีฉบับเดิม สะท้อนให้เห็นถึงการครอบงำกระบวนการสรรหาคณบดีโดยฝ่ายบริหารของ มศว ในลักษณะที่ยังไม่เป็นระบบแบบมืออาชีพ(unsystematic, blunt and unprofessional domination of dean recruitment) ขณะที่ในข้อบังคับฉบับใหม่ การครอบงำดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างแยบยลมาก(very neat domination) ภายใต้ชุดวาทกรรมเฉพาะ ว่าด้วยคุณลักษณะที่เหมาะสมของคณบดี เป็น “ความเหมาะสม”ที่เชื่อมโยงกับการจัดทำทิศทางการพัฒนา ภารกิจ และพันธกิจของคณะ บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาคมคณะ ทั้งนี้ ภายใต้กรอบกติกาและขั้นตอนที่ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยมีฐานะเหนือกว่า โดยมีอธิการบดีเป็นศูนย์กลางของอำนาจ(center of power) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ที่เชื่อมโยงกับตำแหน่งประธานคณะกรรมการสรรหาคณบดี และที่ทับซ้อนกับตำแหน่งผู้รักษาการตามข้อบังคับในขณะเวลาเดียวกัน
กระบวนการสรรหาคณบดีใน มศว ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในคณะสังคมศาสตร์ ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตที่สำคัญยิ่ง 2 ประการ คือ
(1)การยึดถือในตัวบุคคลบางคนมากเกินไป(over person-centeredness) และความเชื่อมั่นอย่างหลับหูหลับตา(blind confidence)ว่า พฤติกรรมคล้อยตาม(conspiratorial behavior)ที่เกิดขึ้นตามมา เป็นการเห็นพ้องต้องกันที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอันใหญ่หลวงขององค์การ ขณะเดียวกัน กลับละเลยที่จะผลักดันหรือสร้างสรรค์ให้เกิดโครงสร้างองค์การที่สามารถดำเนินไป ภายใต้ดุลภาพเชิงพลวัตของการตรวจสอบและถ่วงดุล(dynamic equilibrium-based structure under check and balance mechanism) ซึ่งจะเอื้อให้เกิดกระบวนการทำงานที่เป็นระบบและมีบูรณาการ(systematic and integrated working process) อันจะนำไปสู่ความสำเร็จและความยั่งยืนขององค์การ บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของทุกภาคส่วน(meaningful participation-based successful and sustainable organization)
(2)วิกฤตการสื่อสารแบบไร้ปฏิสัมพันธ์(non-interactive communication crisis) ซึ่งแทรกซึมอยู่ในทุกขั้นตอนที่สำคัญในกระบวนการสรรหาคณบดี นับตั้งแต่
ก)การคัดเลือกผู้แทนบุคลากรของคณะสังคมศาสตร์
ข)การวิคราะห์สถานภาพเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาคณะสังคมศาสตร์
ค)การแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดทำเอกสารกำหนดเป้าหมาย ภารกิจ และพันธกิขของคณะสังคมศาสตร์
ง)การเสนอชื่อ และการนำเสนอวิสัยทัศน์ของว่าที่คณบดีคณะสังคมศาสตร์ต่อคณะกรรมการสรรหา
วิกฤตการสื่อสารเช่นนี้เกิดขึ้นโดยเจตนา เพื่อมิให้เกิดกระบวนการในการสื่อสารสองทาง(two-way communication) อันเป็นปัจจัยเบื้องต้นที่โน้มนำไปสู่ข้อเรียกร้องร่วม(common demand) พลังปัญญาร่วม(common wisdom power) และอำนาจตรวจสอบต่อรองร่วม(common negotiating power)ของประชาคมสังคมศาสตร์ ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “แบ่งแยก แล้วปกครอง”(divide and rule) และการสร้างแรงบีบคั้นเพื่อให้เกิดรูปแบบการทำงาน ในลักษณะตัวใครตัวมันในองค์การ(individualistic style of organizational working life) จึงเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจยิ่งสำหรับผู้ได้รับประโยชน์จากข้อบังคับนี้
ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นวิกฤตที่กล่าวมาข้างต้น ความเข้มแข็งของประชาคมสังคมศาสตร์และประชาคมคณะอื่นๆ อันเป็นพื้นฐานความสำเร็จ ความมั่นคง และความยั่งยืนขององค์การและ มศว จึงเป็นสิ่งที่หวังให้เกิดได้อย่างยากยิ่ง
การสรรหาคณบดีคณะสังคมศาสตร์ก็เช่นเดียวกับคณะอื่นๆใน มศว ที่มีลักษณะปิด ปิดลับ และคับแคบ ผู้เขียนขอขนานนามกระบวนการนี้ว่า “การส่งเปรต”บนกระบวนทัศน์ฐานอำนาจ ที่เท้าของ “พลเปรต”เหยียบอยู่บนศีรษะของสมาชิกประชาคมสังคมศาสตร์ ขณะที่ศีรษะของตนก็วางอยู่ใต้เท้าของ“เปรตาธิการ” สิ่งใหม่ที่ควรเกิดขึ้นใน มศว คือ กระบวนการที่ผู้เขียนขอเรียกว่า “การสร้างปราชญ์”บนกระบวนทัศน์ฐานปัญญา ดังที่ได้วิเคราะห์และนำเสนอมา
สิ่งที่ผู้เขียนอยากฝากให้ผู้อ่านบทความนี้ได้พิจารณา เพื่อนำมาทบทวนและประเมินบทความของผู้เขียน เป็นถ้อยคำบางส่วนของผู้มีชื่อเสียง ทั้งในวงการวิชาการ วงการศาสนา และวงการการเมือง 4 ท่าน ดังต่อไปนี้
“ผู้มีจิตใจเป็นอิสระ รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยตัณหาอุปทานเท่านั้น จึงจะรู้ว่าอะไรเป็นความเสื่อม อะไรเป็นความเจริญที่แท้จริง มิใช่เพียงความเจริญที่อ้างสำหรับมาผูกรัดตัวเองและผู้อื่นให้เป็นทาสมากยิ่งขึ้น หรือถ่วงให้จมต่ำลงไปอีก จึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากความเจริญที่สร้างขึ้น พร้อมกับสามารถทำตนเป็นที่พึ่งแก่คนอื่นได้เป็นอย่างดี”
พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต)
“The power of the ballot we need in sheer defense, else what shall save us from a second slavery?”
W.E.B. DuBois[6]
“The vote is the most powerful instrument ever devised by man for breaking down injustice and destroying the terrible walls which imprison men because they are different from other men.”
Lyndon B. Johnson[7]
Many lessons can be learned from the study of world history. One of this is especially clear. A lack of involvement in the affairs of one’s society can easily lead to a sense of powerlessness. An understanding of our world heritage and its lessons might well give us the opportunity to make wise choices in an age that is often crisis laden and chaotic. We are all creators of history, and upon us depends the future of world civilization.”
Jackson J. Spielvogel[8]
ในส่วนของผู้เขียนเอง บทเรียนทางการเมืองของมนุษยชาติ และประสบการณ์กว่าครึ่งชีวิตที่ผ่านมาในองค์การของรัฐที่ผู้เขียนได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันอุดมศึกษา ให้แง่คิดแก่ผู้เขียน ดังนี้
“นักการเมืองที่เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองอย่างสง่างาม จะกลายเป็นผู้แทนและผู้บริหารบ้านเมืองที่มีคุณค่ายิ่ง และเมื่อเวลาผ่านไป ความสำเร็จและความชื่นชมของสาธารณะ บนรากฐานของความสง่างามดังกล่าวนั้น จะทำให้พวกเขากลายเป็นรัฐบุรุษในความทรงจำของอาณาประชาราษฎร์
นักวิชาการที่เข้าสู่ตำแหน่งอธิการบดีอย่างสง่างาม จะกลายเป็นนักการศึกษาและผู้นำมหาวิทยาลัยที่มีคุณค่ายิ่ง และเมื่อเวลาผ่านไป ความสำเร็จและความชื่นชมของประชาคมวิชาการบนรากฐานของความสง่างามดังกล่าวนั้น จะทำให้พวกเขากลายเป็นปูชนียาจารย์ใน ความทรงจำของประชาคมมหาวิทยาลัย และศิษยานุศิษย์ ตราบนานเท่านาน”
[1] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณบดี พ.ศ.2546 (ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2546) ข้อ 8(1),(2),(3) และ (4)
[2] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณบดี พ.ศ.2546 (ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2546) ข้อ 8(5),(6) และ (7)
[3] ความต่างอยู่ที่การจัดทำเอกสารฯ ซึ่งในกรณีของการสรรหาอธิการบดี ดำเนินการโดยคณะทำงานอีกชุดหนึ่ง ซึ่งแยกออกมาต่างหากจากคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี
[4] ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณบดี พ.ศ.2546 (ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2546) ข้อ 8(3)
[5] ปรากกการณ์นี้ ดูขัดแย้งอย่างยิ่งกับการประชาสัมพันธ์โดยมหาวิทยาลัย ทั้งในเว็บไซต์และผ่านหนังสือพิมพ์ว่า มศว มีโครงการรณรงค์ให้นิสิตและสาธารณะสนใจร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 และรณรงค์ให้ไปลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ทั้งนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบกับกระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว ที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดเจนว่าไม่มีการประชาสัมพันธ์โดยช่องทางสื่อสาธารณะเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาคม มศว ในการสรรหาอธิการบดีแต่อย่างใด ดังนั้น การรณรงค์การมีส่วนร่วมที่มหาวิทยาลัยกระทำ จึงขึ้นอยู่กับว่า การมีส่วนร่วมแบบใดที่คณะผู้บริหารได้รับผลกระทบในทางไม่น่าพอใจ ผู้บริหารก็ไม่รณรงค์ส่งเสริม แต่หากไม่เกิดผลกระทบแล้ว ก็จะรณรงค์ส่งเสริมอย่างออกหน้าออกตา เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้แก่มหาวิทยาลัย การรณรงค์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมใน มศว จึงมีลักษณะเป็น selective campaign with hidden agenda อย่างน่าสงสัยทีเดียว
[6] อ้างใน E.O. Ananat and E. Washington ,“Segregation and Black Political Efficacy” บทความจากเว็บไซต์
[7] E.O. Ananat and E. Washington, เพิ่งอ้าง
[8] Jackson J. Spielvogel World History: the Human Odyssey (Lincolnwood, Illinois: Natinal Textbook Company, 1999), p.1119
วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553
วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2553
จดหมายเปิดผนึก เรื่องการจ่ายค่าตอบแทนการสอนอาจารย์ มศว
จดหมายเปิดผนึก วันที่ 3 กรกฎาคม 2552 เรื่อง ประเด็นการแก้ไขระเบียบการเบิกจ่ายเงินรายได้ฉบับปัจจุบัน
เรียน คณาจารย์ มศว และสมาชิกประชาคม มศว ทุกท่าน
................................................................
คณาจารย์ มศว ทุกท่านคงทราบดีแล้วว่า ในวันที่ 1 สิงหาคม 2551 สภา มศว ได้อนุมัติเกณฑ์ภาระงานสายวิชาการ และหลังจากนั้น หลักเกณฑ์การจ่ายเงินรายได้ฉบับใหม่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ถูกกำหนดขึ้น
ผลที่เกิดขึ้นทันที ก็คือ มีการยกเลิกระเบียบการจ่ายเงินรายได้เดิมที่ใช้อยู่ก่อน สิ่งที่เปลี่ยนไปในระเบียบการจ่ายเงินรายได้ใหม่ มีทั้งด่านบวกและด้านลบ
ในด้านบวกนั้น ค่าตอบแทนหลายประการของบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งย่อมสร้างความพึงพอใจให้แก่บุคลากรในส่วนนี้อย่างแน่นอน
แต่ผลในด้านลบที่ตามมาที่สำคัญ ก็คือ (1)คณาจารย์ มศว ทั้งที่เป็นข้าราชการและเป็นพนักงาน ที่สอนภาคพิเศษและภาคสมทบ ในเวลาช่วงเย็นถึงค่ำในวันธรรมดา และในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่สามารถเบิกค่าตอบแทนการสอนตามระเบียบเดิมได้อีกแล้ว และ(2)แม้กำหนดให้คณาจารย์สามารถเบิกค่าสอนเกินภาระงานสอน(เกิน 10 หน่วยกิต ต่อภาคการศึกษา)ได้ก็ตาม แต่เงื่อนไขประกอบเกี่ยวกับภาระงานเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง จนเกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีเจตนาให้เบิกค่าสอนเกินภาระงานสอนแต่อย่างใด
บัดนี้ มหาวิทยาลัยเห็นควรให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินรายได้ พ.ศ. 2551 นั้น กระผมในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากระเบียบดังกล่าว และในฐานะของกรรมการสภาคณาจารย์ฯ ประเภทผู้แทนทั่วไป ขอเสนอประเด็นที่เป็นหลักการสำคัญๆ 4 ประการ ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1
ควรระบุเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนว่า “กรณีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนการสอนในภาคพิเศษและภาคสมทบทุกระดับชั้น ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อนปีการศึกษา 2552 ให้อนุโลมใช้ระเบียบการเบิกจ่ายเงินรายได้เดิม ไปจนกระทั่งนิสิตคนสุดท้ายสำเร็จการศึกษาหรือครบระยะเวลาของการศึกษาในหลักสูตรนั้น” ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อคณาจารย์ผู้สอนทุกคนซึ่งเป็นบุคลากรของ มศว เนื่องจากคณาจารย์เหล่านั้นไม่สามารถละทิ้งความรับผิดชอบ ในการสอนรายวิชาต่างๆที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว และเมื่อเปรียบเทียบกับอาจารย์พิเศษภายนอกที่มาสอนและได้รับค่าตอบแทนในช่วงเวลาเดียวกันแล้ว ดูจะเป็นเรื่องที่ลักลั่นและบั่นทอนขวัญกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น หากได้ดำเนินการดังที่กระผมเสนอมาแล้ว คณาจารย์ มศว ที่รับผิดชอบการสอนภาคพิเศษและภาคสมทบก่อนการประกาศใช้ระเบียบฯฉบับใหม่ จะได้รับค่าตอบแทนตามสิทธิที่ควรได้ อย่างเป็นธรรม และไม่เสียขวัญและกำลังใจอย่างมาก ดังที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
ประเด็นที่ 2
ระเบียบการเบิกจ่ายฯใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ควรนำเอาเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเกณฑ์ภาระงานสายวิชาการ มาเป็นเงื่อนไขอุปสรรคในการจ่ายค่าตอบแทนการสอนเกินภาระงานสอน เพราะเป็น 2 ประเด็นที่จำเป็นต้องแยกจากกัน เนื่องจากการสอนที่เกินจำนวนชั่วโมงที่กำหนดได้เกิดขึ้นแล้ว คณาจารย์ผู้สอนได้ปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นไปแล้ว ย้อนเวลากลับไปเพื่อยกเลิกกิจกรรมเหล่านั้นไม่ได้ การกำหนดเงื่อนไขอื่นๆเพื่อเป็นอุปสรรคในการรับค่าตอบแทนการสอน ในลักษณะ“มัดมือชก”จึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อคณาจารย์ผู้สอน หากมหาวิทยาลัยต้องการให้คณาจารย์ปฏิบัติงานตามเกณฑ์ภาระงาน มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสร้างเงื่อนไขและปัจจัยที่เกื้อหนุน(encouraging conditions and factors)อื่นๆให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จึงจะเกิดผลตามที่ต้องการได้ แต่การสร้างเงื่อนไขอุปสรรคในการเบิกค่าตอบแทนดังที่กำลังทำอยู่ กลับจะเป็นเงื่อนไขและปัจจัยบั่นทอน(discouraging conditions and factors) ที่ขัดขวางความสำเร็จตามที่มหาวิทยาลัยต้องการโดยตรง
ประเด็นที่ 3
ระเบียบการเบิกจ่ายฯปัจจุบัน ควรแยกการจัดการเรียนการสอนในช่วงเวลาปกติ(เวลาราชการ) ออกจากการจัดการเรียนการสอนที่เป็นส่วนเกินตามปกติ(นอกเวลาราชการ) และจัดระเบียบการเบิกจ่ายเป็น 2 ส่วนที่ไม่มีการซ้ำซ้อนกัน หรือมีการวางเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อกันและกันในการเบิกจ่ายค่าตอบแทน ทั้งนี้ เนื่องจากว่า บุคลากรสายสนับสนุนของ มศว ที่ทำงานล่วงเวลา(โอที)ยังได้รับสิทธิเบิกค่าตอบแทนตามกฎหมาย กรรมกร ผู้ใช้แรงงานอื่นๆ แม่บ้าน และเจ้าหน้าที่ รปภ.ภาคเอกชน ก็ยังได้รับสิทธิเบิกค่าตอบแทนในลักษณะเดียวกัน หากคณาจารย์ของ มศว ซึ่งมาปฏิบัติราชการเกินเวลาปกติเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย ไม่ได้รับสิทธิในการเบิกจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว ดูจะเป็นการปฏิบัติต่อคณาจารย์ มศว ที่ยากจะยอมรับได้ทั้งในแง่ของหลักกฎหมาย ในแง่ของหลักสิทธิมนุษยชน และในแง่ของหลักศีลธรรม/มนุษยธรรม
หากมหาวิทยาลัยจะอ้างว่า คณาจารย์ต้องพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอดเวลาทั้งในและนอกเวลาราชการ ข้ออ้างเช่นนี้ใช้ได้กับกรณีจำเป็นและฉุกเฉินเท่านั้น การจัดตารางสอนนอกเวลาราชการทั้งช่วงค่ำ และช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่ใช่กิจกรรมจำเป็นและฉุกเฉิน หากแต่เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจกันดำเนินการ ของแต่ละหลักสูตรในแต่ละภาควิชาหรือคณะ ภายใต้ระบบการจัดการที่เป็นทางการตามกฎหมายของรัฐ และภายใต้การยอมรับร่วมกันว่า คณาจารย์ทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี มิใช่นักโทษหรือทาสที่ไร้อิสรภาพและเสรีภาพแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 4
มหาวิทยาลัยควรแจ้งอยางเป็นทางการไปยังคณบดี/ผู้อำนวยการอีกครั้งหนึ่งว่า การเบิกจ่ายค่าตอบแทนการสอนเกินภาระงานสอน ของคณาจารย์ที่เป็นข้าราชการจากเงินงบประมาณแผ่นดินยังเป็นสิทธิคงเดิมที่มีอยู่ หากคณะใดมิได้เตรียมตั้งงบประมาณแผ่นดินรองรับไว้ ให้เสนอเรื่องต่อมหาวิทยาลัยเพื่อเตรียมการในปีงบประมาณถัดไป และเบิกจ่ายย้อนหลังให้แก่คณาจารย์เหล่านั้น และหากมหาวิทยาลัยหรือคณะมีงบประมาณเงินรายได้เพียงพอ และต้องการเบิกจ่ายให้คณาจารย์เหล่านั้นแทนงบประมาณแผ่นดิน ก็ไม่ควรนำเงื่อนไขอื่นๆตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการเงินฯใหม่นี้มาเป็นอุปสรรคแต่อย่างใด
หากคณาจารย์ มศว ท่านใดที่ได้รับผลกระทบดังที่กระผมนำเรียนมา โปรดกรุณาสนับสนุนข้อเสนอนี้ โดยร่วมกันเสนอต่อคณบดีในคณะของท่านให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยรับทราบว่า ระเบียบการเงินฯที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จำเป็นต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน เพราะสร้างความไม่เป็นธรรม ลดสถานะของคณาจารย์ มศว ให้ต่ำกว่ากรรมกรเมืองไทย และทำลายขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่การเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่ง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
(อาจารย์สุรพล จรรยากูล)
อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยา
เรียน คณาจารย์ มศว และสมาชิกประชาคม มศว ทุกท่าน
................................................................
คณาจารย์ มศว ทุกท่านคงทราบดีแล้วว่า ในวันที่ 1 สิงหาคม 2551 สภา มศว ได้อนุมัติเกณฑ์ภาระงานสายวิชาการ และหลังจากนั้น หลักเกณฑ์การจ่ายเงินรายได้ฉบับใหม่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ถูกกำหนดขึ้น
ผลที่เกิดขึ้นทันที ก็คือ มีการยกเลิกระเบียบการจ่ายเงินรายได้เดิมที่ใช้อยู่ก่อน สิ่งที่เปลี่ยนไปในระเบียบการจ่ายเงินรายได้ใหม่ มีทั้งด่านบวกและด้านลบ
ในด้านบวกนั้น ค่าตอบแทนหลายประการของบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งย่อมสร้างความพึงพอใจให้แก่บุคลากรในส่วนนี้อย่างแน่นอน
แต่ผลในด้านลบที่ตามมาที่สำคัญ ก็คือ (1)คณาจารย์ มศว ทั้งที่เป็นข้าราชการและเป็นพนักงาน ที่สอนภาคพิเศษและภาคสมทบ ในเวลาช่วงเย็นถึงค่ำในวันธรรมดา และในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่สามารถเบิกค่าตอบแทนการสอนตามระเบียบเดิมได้อีกแล้ว และ(2)แม้กำหนดให้คณาจารย์สามารถเบิกค่าสอนเกินภาระงานสอน(เกิน 10 หน่วยกิต ต่อภาคการศึกษา)ได้ก็ตาม แต่เงื่อนไขประกอบเกี่ยวกับภาระงานเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง จนเกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีเจตนาให้เบิกค่าสอนเกินภาระงานสอนแต่อย่างใด
บัดนี้ มหาวิทยาลัยเห็นควรให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินรายได้ พ.ศ. 2551 นั้น กระผมในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากระเบียบดังกล่าว และในฐานะของกรรมการสภาคณาจารย์ฯ ประเภทผู้แทนทั่วไป ขอเสนอประเด็นที่เป็นหลักการสำคัญๆ 4 ประการ ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1
ควรระบุเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนว่า “กรณีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนการสอนในภาคพิเศษและภาคสมทบทุกระดับชั้น ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อนปีการศึกษา 2552 ให้อนุโลมใช้ระเบียบการเบิกจ่ายเงินรายได้เดิม ไปจนกระทั่งนิสิตคนสุดท้ายสำเร็จการศึกษาหรือครบระยะเวลาของการศึกษาในหลักสูตรนั้น” ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อคณาจารย์ผู้สอนทุกคนซึ่งเป็นบุคลากรของ มศว เนื่องจากคณาจารย์เหล่านั้นไม่สามารถละทิ้งความรับผิดชอบ ในการสอนรายวิชาต่างๆที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว และเมื่อเปรียบเทียบกับอาจารย์พิเศษภายนอกที่มาสอนและได้รับค่าตอบแทนในช่วงเวลาเดียวกันแล้ว ดูจะเป็นเรื่องที่ลักลั่นและบั่นทอนขวัญกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น หากได้ดำเนินการดังที่กระผมเสนอมาแล้ว คณาจารย์ มศว ที่รับผิดชอบการสอนภาคพิเศษและภาคสมทบก่อนการประกาศใช้ระเบียบฯฉบับใหม่ จะได้รับค่าตอบแทนตามสิทธิที่ควรได้ อย่างเป็นธรรม และไม่เสียขวัญและกำลังใจอย่างมาก ดังที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
ประเด็นที่ 2
ระเบียบการเบิกจ่ายฯใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ควรนำเอาเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเกณฑ์ภาระงานสายวิชาการ มาเป็นเงื่อนไขอุปสรรคในการจ่ายค่าตอบแทนการสอนเกินภาระงานสอน เพราะเป็น 2 ประเด็นที่จำเป็นต้องแยกจากกัน เนื่องจากการสอนที่เกินจำนวนชั่วโมงที่กำหนดได้เกิดขึ้นแล้ว คณาจารย์ผู้สอนได้ปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นไปแล้ว ย้อนเวลากลับไปเพื่อยกเลิกกิจกรรมเหล่านั้นไม่ได้ การกำหนดเงื่อนไขอื่นๆเพื่อเป็นอุปสรรคในการรับค่าตอบแทนการสอน ในลักษณะ“มัดมือชก”จึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อคณาจารย์ผู้สอน หากมหาวิทยาลัยต้องการให้คณาจารย์ปฏิบัติงานตามเกณฑ์ภาระงาน มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสร้างเงื่อนไขและปัจจัยที่เกื้อหนุน(encouraging conditions and factors)อื่นๆให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จึงจะเกิดผลตามที่ต้องการได้ แต่การสร้างเงื่อนไขอุปสรรคในการเบิกค่าตอบแทนดังที่กำลังทำอยู่ กลับจะเป็นเงื่อนไขและปัจจัยบั่นทอน(discouraging conditions and factors) ที่ขัดขวางความสำเร็จตามที่มหาวิทยาลัยต้องการโดยตรง
ประเด็นที่ 3
ระเบียบการเบิกจ่ายฯปัจจุบัน ควรแยกการจัดการเรียนการสอนในช่วงเวลาปกติ(เวลาราชการ) ออกจากการจัดการเรียนการสอนที่เป็นส่วนเกินตามปกติ(นอกเวลาราชการ) และจัดระเบียบการเบิกจ่ายเป็น 2 ส่วนที่ไม่มีการซ้ำซ้อนกัน หรือมีการวางเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อกันและกันในการเบิกจ่ายค่าตอบแทน ทั้งนี้ เนื่องจากว่า บุคลากรสายสนับสนุนของ มศว ที่ทำงานล่วงเวลา(โอที)ยังได้รับสิทธิเบิกค่าตอบแทนตามกฎหมาย กรรมกร ผู้ใช้แรงงานอื่นๆ แม่บ้าน และเจ้าหน้าที่ รปภ.ภาคเอกชน ก็ยังได้รับสิทธิเบิกค่าตอบแทนในลักษณะเดียวกัน หากคณาจารย์ของ มศว ซึ่งมาปฏิบัติราชการเกินเวลาปกติเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย ไม่ได้รับสิทธิในการเบิกจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว ดูจะเป็นการปฏิบัติต่อคณาจารย์ มศว ที่ยากจะยอมรับได้ทั้งในแง่ของหลักกฎหมาย ในแง่ของหลักสิทธิมนุษยชน และในแง่ของหลักศีลธรรม/มนุษยธรรม
หากมหาวิทยาลัยจะอ้างว่า คณาจารย์ต้องพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอดเวลาทั้งในและนอกเวลาราชการ ข้ออ้างเช่นนี้ใช้ได้กับกรณีจำเป็นและฉุกเฉินเท่านั้น การจัดตารางสอนนอกเวลาราชการทั้งช่วงค่ำ และช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่ใช่กิจกรรมจำเป็นและฉุกเฉิน หากแต่เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจกันดำเนินการ ของแต่ละหลักสูตรในแต่ละภาควิชาหรือคณะ ภายใต้ระบบการจัดการที่เป็นทางการตามกฎหมายของรัฐ และภายใต้การยอมรับร่วมกันว่า คณาจารย์ทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี มิใช่นักโทษหรือทาสที่ไร้อิสรภาพและเสรีภาพแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 4
มหาวิทยาลัยควรแจ้งอยางเป็นทางการไปยังคณบดี/ผู้อำนวยการอีกครั้งหนึ่งว่า การเบิกจ่ายค่าตอบแทนการสอนเกินภาระงานสอน ของคณาจารย์ที่เป็นข้าราชการจากเงินงบประมาณแผ่นดินยังเป็นสิทธิคงเดิมที่มีอยู่ หากคณะใดมิได้เตรียมตั้งงบประมาณแผ่นดินรองรับไว้ ให้เสนอเรื่องต่อมหาวิทยาลัยเพื่อเตรียมการในปีงบประมาณถัดไป และเบิกจ่ายย้อนหลังให้แก่คณาจารย์เหล่านั้น และหากมหาวิทยาลัยหรือคณะมีงบประมาณเงินรายได้เพียงพอ และต้องการเบิกจ่ายให้คณาจารย์เหล่านั้นแทนงบประมาณแผ่นดิน ก็ไม่ควรนำเงื่อนไขอื่นๆตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการเงินฯใหม่นี้มาเป็นอุปสรรคแต่อย่างใด
หากคณาจารย์ มศว ท่านใดที่ได้รับผลกระทบดังที่กระผมนำเรียนมา โปรดกรุณาสนับสนุนข้อเสนอนี้ โดยร่วมกันเสนอต่อคณบดีในคณะของท่านให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยรับทราบว่า ระเบียบการเงินฯที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จำเป็นต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน เพราะสร้างความไม่เป็นธรรม ลดสถานะของคณาจารย์ มศว ให้ต่ำกว่ากรรมกรเมืองไทย และทำลายขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่การเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่ง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
(อาจารย์สุรพล จรรยากูล)
อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยา
จดหมายเปิดผนึกเรื่องภาระงานสายอาจารย์ มศว
จดหมายเปิดผนึก เรื่อง ข้อเสนอในการพิจารณากรอบแนวคิดในการคิดภาระงานฯของคณาจารย์
วันที่ 17 มกราคม 2551
เรียน คณาจารย์คณะสังคมศาสตร์ทุกท่าน
ด้วยร่างรอบแนวคิดฯข้างต้น เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบโดยตรง ทั้งต่อคณาจารย์ที่เป็นข้าราชการและที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยทุกคน กระผมมีความเห็นว่า การดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นเครื่องมือที่แม่นตรง เชื่อถือได้ และมีประสิทธิภาพต่อระบบราชการโดยรวมนั้น จำเป็นต้องให้ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียทั้งหมดมีส่วนร่วมในการพิจารณา วิเคราะห์ และวิจารณ์ บนพื้นฐานความเข้าใจที่ถ่องแท้และรอบด้าน ตามหลักธรรมาภิบาลในการบริหาราชการแผ่นดินตามกรอบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ดังนั้น ในการประชุมในวันที่ 23 มกราคม 2551 นั้น กระผมเห็นว่า ควรได้มี (1)การนำเสนอฐานคิดในการจัดทำร่างกรบอแนวคิดฯดังกล่าว (2)การทำความเข้าใจเรื่องวัตถุประสงค์หลักของร่างกรอบแนวคิดฯ (3)การสะท้อนความสอดคล้องระหว่างร่างกรอบแนวคิดฯกับบริบทเฉพาะและเนื้องานที่ต่างกันของคณะทั้ง 4 กลุ่ม คือ สุขศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์-พฤติกรรมศาสตร์ และ (4)การนำเสนอจุดแข็ง-จุดอ่อนของร่างกรอบแนวคิดฯดังกล่า จากทัศนะของคณะผู้จัดทำ
นอกจากนี้ ควรให้คณาจารย์ของคณะสังคมศาสตร์(และคณะอื่นๆทั้งหมด) ได้มีโอกาสร่วมกันระดมความคิดเห็นในอีกเวทีหนึ่งเป็นการเฉพาะหลังจากการประชุมครั้งแรก เพื่อพิจารณาให้รอบคอบและสอดคล้องกับเงื่อนไขที่เป็นจริง ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยใดๆจะได้สามารถสื่อสารกับคณะผู้จัดทำร่างกรอบแนวคิดฯดังกล่าวได้ล่วงหน้า และเมื่อเป็นที่เข้าใจตรงกันแล้ว ควรได้มีการจัดประชุมรวมของคณะอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในภาพรวมเกี่ยวกับเครื่องมือดังกล่าว ก่อนจะนำไปบังคับใช้และก่อผลได้-ผลเสียในภายหลัง ทั้งนี้ ไม่ควรเร่งรัดในเรื่องช่วงเวลา เพราะภารกิจของคณาจารย์ทั้งหมดมีอยู่ใน้อย มิฉะนั้น จะเกิดความคลาดเคลื่อน ความเข้าใจผิดพลาด และความไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงแฝงเร้นอยู่ ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่พอใจ ความคับข้องใจ และความขัดแย้งในกระบวนการบริหารงานบุคคลได้ในภายหลัง อันจะบั่นทอนขวัญกำลังใจของบุคลากร และลดประสิทธิผลขององค์การโดยส่วนรวมไปอย่างน่าเสียดาย
กระผมจึงขอความกรุณาให้คณาจารย์ทุกท่านได้ ร่วมกันผลักดันแนวทางการพิจารณาตามที่กระผมเสนอมาข้างต้นต่อรองอธิการบดีฝ่ายบุคคลและทรัพย์สิน ในวันประชุมดังกล่าว เพื่อประโยชน์ร่วมกันของคณาจารย์ทั้งหมดและของ มศว โดยส่วนรวม
ขอแสดงความนับถือ
(อาจารย์สุรพล จรรยากูล)
วันที่ 17 มกราคม 2551
เรียน คณาจารย์คณะสังคมศาสตร์ทุกท่าน
ด้วยร่างรอบแนวคิดฯข้างต้น เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบโดยตรง ทั้งต่อคณาจารย์ที่เป็นข้าราชการและที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยทุกคน กระผมมีความเห็นว่า การดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นเครื่องมือที่แม่นตรง เชื่อถือได้ และมีประสิทธิภาพต่อระบบราชการโดยรวมนั้น จำเป็นต้องให้ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียทั้งหมดมีส่วนร่วมในการพิจารณา วิเคราะห์ และวิจารณ์ บนพื้นฐานความเข้าใจที่ถ่องแท้และรอบด้าน ตามหลักธรรมาภิบาลในการบริหาราชการแผ่นดินตามกรอบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ดังนั้น ในการประชุมในวันที่ 23 มกราคม 2551 นั้น กระผมเห็นว่า ควรได้มี (1)การนำเสนอฐานคิดในการจัดทำร่างกรบอแนวคิดฯดังกล่าว (2)การทำความเข้าใจเรื่องวัตถุประสงค์หลักของร่างกรอบแนวคิดฯ (3)การสะท้อนความสอดคล้องระหว่างร่างกรอบแนวคิดฯกับบริบทเฉพาะและเนื้องานที่ต่างกันของคณะทั้ง 4 กลุ่ม คือ สุขศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์-พฤติกรรมศาสตร์ และ (4)การนำเสนอจุดแข็ง-จุดอ่อนของร่างกรอบแนวคิดฯดังกล่า จากทัศนะของคณะผู้จัดทำ
นอกจากนี้ ควรให้คณาจารย์ของคณะสังคมศาสตร์(และคณะอื่นๆทั้งหมด) ได้มีโอกาสร่วมกันระดมความคิดเห็นในอีกเวทีหนึ่งเป็นการเฉพาะหลังจากการประชุมครั้งแรก เพื่อพิจารณาให้รอบคอบและสอดคล้องกับเงื่อนไขที่เป็นจริง ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยใดๆจะได้สามารถสื่อสารกับคณะผู้จัดทำร่างกรอบแนวคิดฯดังกล่าวได้ล่วงหน้า และเมื่อเป็นที่เข้าใจตรงกันแล้ว ควรได้มีการจัดประชุมรวมของคณะอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในภาพรวมเกี่ยวกับเครื่องมือดังกล่าว ก่อนจะนำไปบังคับใช้และก่อผลได้-ผลเสียในภายหลัง ทั้งนี้ ไม่ควรเร่งรัดในเรื่องช่วงเวลา เพราะภารกิจของคณาจารย์ทั้งหมดมีอยู่ใน้อย มิฉะนั้น จะเกิดความคลาดเคลื่อน ความเข้าใจผิดพลาด และความไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงแฝงเร้นอยู่ ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่พอใจ ความคับข้องใจ และความขัดแย้งในกระบวนการบริหารงานบุคคลได้ในภายหลัง อันจะบั่นทอนขวัญกำลังใจของบุคลากร และลดประสิทธิผลขององค์การโดยส่วนรวมไปอย่างน่าเสียดาย
กระผมจึงขอความกรุณาให้คณาจารย์ทุกท่านได้ ร่วมกันผลักดันแนวทางการพิจารณาตามที่กระผมเสนอมาข้างต้นต่อรองอธิการบดีฝ่ายบุคคลและทรัพย์สิน ในวันประชุมดังกล่าว เพื่อประโยชน์ร่วมกันของคณาจารย์ทั้งหมดและของ มศว โดยส่วนรวม
ขอแสดงความนับถือ
(อาจารย์สุรพล จรรยากูล)
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)