วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

การสรรหาอธิการบดี มศว

อธิการบดี มศว คือ ผู้นำ
ที่คน มศว ศรัทธา ภูมิใจ และสุขใจที่จะร่วมงานอย่างทุ่มเท[1]

1.บทนำ
บทความชิ้นนี้ เขียนขึ้นในฐานะที่เป็นปฏิกิริยาต่อข้อเท็จจริงชุดหนึ่ง ทั้งที่เป็นทั้งลายลักษณ์อักษรและเป็นสุ้มเสียงของผู้คน ที่ปรากฏขึ้นและก้องกังวานอยู่ในประชาคม มศว ข้อเท็จจริงชุดนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดีของ มศว ผู้เขียนไม่สามารถจะทึกทักเอาเองว่า บุคลากรหลายๆคนใน มศว กำลังคิดและรู้สึกเช่นเดียวกับผู้เขียน ดังนั้น สิ่งที่ผู้เขียนสามารถยืนยันได้ก็คือ สิ่งที่กำลังจะนำเสนอในบทความนี้ เป็นเพียงบทสะท้อนความคิดและความรู้สึกของผู้เขียนคนเดียวเท่านั้น

2.วัตถุประสงค์ของบทความ
วัตถุประสงค์หลักในการเขียนบทความนี้ มี 3 ประการที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
ประการแรก ผู้เขียนในฐานะที่เป็นสมาชิกของประชาคม มศว ปรารถนาที่จะรู้ว่า กระบวนการสรรหาอธิการบดีของ มศว เป็นอย่างไรบ้าง ทั้งในมิติของเวลา ขั้นตอน กิจกรรม และบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบทบาทของพวกเขา
ประการที่สอง ผู้เขียนประสงค์ที่จะสะท้อนความคิด ความรู้สึก และตั้งข้อสงสัยเชิงวิพากษ์ต่อประเด็นต่างๆ ในกระบวนการสรรหาอธิการบดีดังที่กล่าวไว้ในวัตถุประสงค์ประการแรก
ประการที่สาม ผู้เขียนประสงค์ที่จะนำเสนอข้อเสนอแนะบางประการ ต่อกระบวนการสรรหาอธิการบดี ของ มศว ในอนาคต เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สมฐานะของการเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียง ซึ่งควรเป็นแบบอย่างขององค์การประชาธิปไตย ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ของ มศว เองด้วย

3.กระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว: มิติด้านขั้นตอนและเวลา
ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2541 มิได้กำหนดรายละเอียดของการสรรหาอธิการบดีเอาไว้ เพียงแต่กำหนดให้สภา มศว รับผิดชอบในการสรรหาและเสนอชื่อเพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งอธิการบดี รวมทั้งกำหนดให้สภา มศว เป็นผู้กำหนดข้อบังคับ มศว เพื่อการสรรหาอธิการบดีด้วย
ในกรณีของการสรรหาอธิการบดี มศว ที่กำลังจะมีขึ้นในปี 2550 นี้ เป็นไปตามข้อบังคับ มศว ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2546 และได้บัญญัติไว้ในข้อ 5 ดังนี้
“….เมื่อวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดีเหลือเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน…..ให้สภามหาวิทยาลัย …..(1)แต่งตั้งคณะทำงาน…..ไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนการสรรหาอธิการบดี เพื่อจัดทำเอกสารกำหนดเป้าหมายภารกิจ และพันธกิจที่ต้องการให้อธิการบดีดำเนินการในช่วง 4 ปี….. โดยให้รับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากทุกส่วนราชการด้วย แล้วนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา….. (3)แต่งตั้งคณะกรรมการ(สรรหาอธิการบดี: ผู้เขียน)”
บทบัญญัติที่เชื่อมโยงกับข้อ 5 ปรากฏในข้อ 8 ข้อ 9 และ ข้อ 10 โดยที่ข้อ 8 กำหนดว่า “…..ให้ประธานคณะกรรมการดำเนินการให้คณะกรรมการประจำส่วนราชการเสนอชื่อ ส่วนราชการละไม่เกิน 3 ชื่อ…..จะต้องไม่ใช้วิธีการเลือกตั้งหรือหยั่งเสียง” และในข้อ 9 กำหนดว่า “…..การเสนอชื่อให้…….แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันแต่งตั้งคณะกรรมการ” ส่วนในข้อ 10 กำหนดว่า “ให้คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคล(ผู้ได้รับการเสนอชื่อไม่เกิน 3 ชื่อจากแต่ละส่วนราชการ: ผู้เขียน)….เพื่อ…คัดเลือกให้ได้…..หนึ่งชื่อ แล้วรายงานผลการสรรหาต่อสภามหาวิทยาลัยโดยเร็ว…..ให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาลงมติ มติของสภามหาวิทยาลัยให้ถือเป็นที่สุด”
จากข้อบังคับ ข้อ 5 ข้อ 8 ข้อ 9 และข้อ 10 ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีประเด็นสำคัญๆเกี่ยวข้องกับมิติด้านเวลา ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 การแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำเอกสารฯ ตามข้อ 5(1) ต้องดำเนินการก่อนที่อธิการบดีคนปัจจุบันจะหมดวาระ 120 วัน
ประเด็นที่ 2 การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯตามข้อ 5(3) ต้องดำเนินการก่อนที่อธิการบดีคนปัจจุบันจะหมดวาระ 120 วันเช่นกัน
ประเด็นที่ 3 คณะทำงานจัดทำเอกสารฯ ตามข้อ 5(3) ต้องมีเวลาในการทำงานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากส่วนราชการ รวมทั้งสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดหมวดหมู่ให้เป็นระบบ ไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนการสรรหาอธิการบดี มศว(จะเริ่มต้น) ดังนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว การแต่งตั้งคณะทำงานฯตามข้อ 5(1) จึงต้องดำเนินการก่อนที่อธิการบดีคนปัจจุบันจะหมดวาระ อย่างน้อย 150 วัน
ประเด็นที่ 4 เมื่อคณะทำงานฯตามข้อ 5(1) ดำเนินการเพื่อจัดทำเอกสารฯเสร็จแล้วอย่างน้อย 30 วันหลังการแต่งตั้ง คณะกรรมการสรรหาฯจึงเริ่มดำเนินการให้มีการเสนอชื่อ และต้องดำเนินการให้เสร็จในเวลาไม่เกิน 30 วันนับแต่วันแต่งตั้ง นี่ย่อมหมายความว่า อย่างช้าไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนอธิการบดีคนปัจจุบันจะหมดวาระ ประชาคม มศว อาจจะได้รับรู้ว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากส่วนราชการละไม่เกิน 3 ชื่อนั้น เป็นบุคคลใดบ้าง
ประเด็นที่ 5 เมื่อคณะกรรมการสรรหาฯ ได้รับรายชื่อผู้ถูกเสนอชื่อจากส่วนราชการแล้ว ต้องพิจารณาคัดเลือกให้เหลือ 1 ชื่อโดยเร็ว ความหมายในทางปฏิบัติของประเด็นนี้ ก็คือ ไม่มีการกำหนดช่วงเวลาไว้อย่างชัดเจนว่า ภายในกี่วันที่จะได้ชื่อ“ว่าที่อธิการบดี มศว” คนต่อไป อาจจะภายใน 90 วันตามประเด็นที่ 4 ก็ได้ หรืออาจจะหลังจาก 90 วันไปแล้วก็ได้ ซึ่งก็แปลว่า อาจจำเป็นต้องมี“อธิการบดีรักษาการ”ไปพลางก่อนไม่เกินช่วงระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ จนกว่าจะได้คัดเลือกเสร็จ และสภามหาวิทยาลัยลงมติเสร็จสิ้นแล้ว จนกระทั่งมีการเสนอเพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง

[1] ผู้เขียนเริ่มเขียนบทความนี้ ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2550 และประสงค์จะให้เสร็จก่อนที่คณะทำงานจะส่งเอกสารขอความเห็นและข้อเสนอแนะไปยังคณาจารย์และบุคลากร เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านทางอีเมลล์ อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของเวลาและภารกิจอื่นๆ บทความนี้เขียนเสร็จในเย็นวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2550 ก่อนวันสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็น 3 วัน

4.มิติด้านกิจกรรม บุคคล และการมีส่วนร่วมในการสรรหาอธิการบดี มศว
หากถามว่าการได้มาซึ่งอธิการบดี มศว คนต่อไป มีกิจกรรมใดบ้าง บุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง และการมีส่วนร่วมของประชาคม มศว เป็นไปในลักษณะใดบ้าง คำตอบน่าจะดูที่การเริ่มต้นจากกิจกรรมแรกจนสิ้นสุด ดังต่อไปนี้
(1)สภา มศว แต่งตั้งคณะทำงานฯ ตามข้อบังคับข้อ 5(1) ดังที่กล่าวมาแล้ว(ในการสรรหาฯครั้วนี้ สภา มศว มอบหมายให้คณะกรรมการบริหาร มศว ไปดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะทำงาน)
(2)คณะทำงานฯดังกล่าว ดำเนินการเพื่อให้มีการจัดทำเอกสารกำหนดเอกสารกำหนดเป้าหมายภารกิจ และพันธกิจที่ต้องการให้อธิการบดีดำเนินการในช่วง 4 ปี ที่จะดำรงตำแหน่ง โดยให้รับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากทุกส่วนราชการ(ในทางปฏิบัติจริง ประธานคณะทำงานลงนามในบันทึกด่วนที่สุด เพื่อขอความคิดเห็น วันที่ 8 มีนาคม 2550 ถึงภาควิชาวันที่ 13 มีนาคม 2550 แต่ขอให้คืนมหาวิทยาลัยภายในวันที่ 20 มีนาคม 2550)
(3)คณะทำงานฯดังกล่าว นำเสนอเอกสารฯข้างต้นที่เสร็จแล้วต่อสภา มศว
(4)สภา มศว กำหนดสัดส่วนและน้ำหนักของคุณลักษณะผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี มศว ตามข้อบังคับ ข้อ 6(ในทางปฏิบัติจริง สภา มศว มอบหมายให้คณะกรรมการสรรหาฯรับผิดชอบเรื่องนี้)
(5)สภา มศว แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ตามการเสนอชื่อที่สภา มศว กำหนดไว้
(6)ประธานคณะกรรมการสรรหาฯ มอบหมายให้คณะกรรมการประจำส่วนราชการ เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี มศว จำนวนไม่เกิน 3 ชื่อ โดยต้องไม่ใช้วิธีการเลือกตั้งหรือหยั่งเสียง และให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ
(7)คณะกรรมการประจำส่วนราชการ ดำเนินการเพื่อให้ผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อ ได้มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหาฯกำหนดไว้
(8)ผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อ ร่วมกันเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี ในส่วนราชที่ตนเองสังกัด
(9)คณะกรรมการประจำส่วนราชการ เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีไม่เกิน 3 ชื่อ ตามชื่อที่ได้จาก(8) พร้อมประวัติ ผลงาน และความเหมาะสมอื่นๆในเชิงวิเคราะห์ภายใน 30 วัน ต่อคณะกรรมการสรรหาฯ นับแต่วันแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ
(10)คณะกรรมการสรรหาฯตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคล ตามรายชื่อที่ได้จาก(9) โดยพิจารณาประกอบกับคุณลักษณะตามข้อบังคับการสรรหาฯ ข้อ 6 ร่วมกับสัดส่วนและน้ำหนักที่สภา มศว กำหนดไว้ แล้วจึงคัดเลือกเพียง 1 ชื่อ โดยในการประชุมต้องมีประธานและกรรมการสรรหาฯ ร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 จึงเป็นองค์ประชุม
(11)คณะกรรมการสรรหาฯ รายงานผลจาก(10) ต่อสภา มศว โดยเร็ว
(12)สภา มศว พิจารณาลงมติว่าจะรับรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาฯเสนอมาจาก (11) หรือไม่ โดยผู้ผ่านการพิจารณาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกว่า 1 ใน 2 ของกรรมการสภา มศว ทั้งหมด
(13)สภา มศว นำเสนอเพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งอธิการบดี มศว ต่อไป
หากตั้งประเด็นว่า จนถึงวันนี้(13 มีนาคม 2550) คน มศว รับรู้เรื่องการสรรหาอธิการบดี มศว คนต่อไป ผ่านขั้นตอนตามปกติอย่างเป็นทางการ เช่น จากมหาวิทยาลัยไปยังคณะ/สถาบัน/สำนัก(หรือกอง) และจากคณะไปยังภาควิชา(หรืองาน) จนถึงคณาจารย์และบุคลากรแล้วหรือยัง คำตอบที่ชัดเจนก็คือ ยังไม่มีการดำเนินการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวอย่างเป็นทางการและจริงจัง สิ่งที่ปรากฏล่าสุดในวันที่ 13 มีนาคม 2550(เป็นช่วงที่คณาจารย์ส่วนใหญ่ตรวจข้อสอบและตัดเกรด ซึ่งมักจะไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจากมหาวิทยาลัย) ที่ทำให้คน มศว รู้ว่ามีการดำเนินการที่เกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดี มศว บ้างแล้วก็คือ บันทึกด่วนที่สุด ลงวันที่ 8 มีนาคม 2550 จากประธานคณะทำงานฯ(ซึ่งมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550) เพื่อขอความเห็นจากบุคลากรและกำหนดให้ส่วนราชการสรุปมหาวิทยาลัยส่งภายในวันที่ 20 มีนาคม 2550
หากเข้าไปดูในเว็บไซต์ของสภาคณาจารย์ฯ จะพบวามีการตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และมีการให้ข้อมูลเพื่อตอบคำถามกันบ้างแล้ว สิ่งที่ชาว มศว รับรู้กันผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวขณะนี้ ก็คือ รายชื่อของคณะกรรมการสรรหาฯทั้ง 9 ท่านตามข้อบังคับข้อ 5(3) มีความชัดเจนแล้ว โดยมีศาสตราจารย์คนึง ฦาไชย เป็นประธานกรรมการสรรหาฯ
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากันในแต่ละขั้นตอนของกิจกรรมดังที่ได้เสนอไว้ จำนวน 13 ขั้นตอนนั้น จะเห็นได้ว่าการมีส่วนร่วมของประชาคม มศว ค่อนข้างจะจำกัดมากทีเดียว ดังพิจารณาจากแต่ละกิจกรรมได้ดังต่อไปนี้
ในกิจกรรม (1) ประชาคม มศว ไม่มีส่วนร่วมในการรับรู้และในการเสนอชื่อคณะทำงานฯดังกล่าวเลย
ในกิจกรรม (2) การให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกส่วนราชการนั้น ดังที่ได้เรียนให้ทราบแล้วว่า มีบันทึกด่วนที่สุดจากประธานคณะทำงานฯถึงทุกส่วนราชการ แต่ยังเป็นประเด็นที่น่าเคลือบแคลงใจอย่างยิ่งว่า ประชาคม มศว จะมีส่วนร่วมได้อย่างมีความหายได้มากน้อยเพียงใด เพราะได้มีการส่งเอกสารที่ระบุว่า คณะทำงานฯจัดทำร่างเป้าหมายภารกิจฯเสร็จแล้ว เป็นการทำงานในลักษณะของการสื่อสารทางเดียว ผ่านเอกสาร ตามขั้นตอนราชการ ตามสายการบังคับบัญชา ด้วยความเร่งรีบ ในช่วงเวลาที่คณาจารย์ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม ที่จะร่วมคิดและพิจารณาเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจังตามศักยภาพของนักวิชาการ(ที่มีความสงสัยเป็นพื้นฐานของการแสวงหาความรู้) นอกจากนี้ การสรุปความคิดเห็นของส่วนราชการต่างๆ มีแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพเป็นมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ ตรงกับเจตนารมณ์ของผู้ให้ความคิดเห็นหรือไม่ยังไม่มีความชัดเจน และเมื่อคณะทำงานฯนำข้อสรุปดังกล่าวที่หลากหลายมาก จากทุกส่วนราชการไปทำการสังเคราะห์ ประชาคม มศว จะมีส่วนร่วมหรือไม่และอย่างไร และจะได้มีโอกาสเห็นหรืออ่านผลการสังเคราะห์ขั้นสุดท้ายก่อนนำเสนอสภา มศว หรือไม่ เป็นประเด็นที่ค่อนข้างเลือนลางทีเดียว
ในกิจกรรม (3) การพิจารณาเอกสารเป้าหมายภารกิจฯ โดยสภา มศว จะได้ผลเป็นอย่างไร ตรงกับความต้องการของประชาคมหรือไม่ เป็นประเด็นที่ดูเหมือนประชาคม มศว จะไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด หรือหากผลออกมาเป็นว่า ไม่เป็นที่พอใจของสภา มศว แล้ว และสภา มศว กำหนดกรอบเป้าหมายขึ้นมาใหม่ บทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาคม มศว ควรเป็นเช่นไร เป็นประเด็นที่ไม่อาจจะทราบได้เลย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง บทบาทการมีส่วนร่วมของประชาคม มศว ในการพิจารณาเอกสารเป้าหมายภารกิจฯโดยสภา มศว เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการประกันไว้เลยในลักษณะที่เป็นลายลักษณ์อักษร
ในกิจกรรม (4) สัดส่วนและน้ำหนักของคุณลักษณะที่กำหนดโดยสภา มศว ได้มาอย่างไร ใช้หลักการและเหตุผลใด เป็นประเด็นที่ประชาคม มศว ไม่สามารถแสดงบทบาทการมีส่วนร่วมได้เลย ยกเว้น จะเกิดมาจากเจตนารมณ์ที่สร้างสรรค์และเปิดเผยของสภา มศว เท่านั้น ที่เปิดโอกาสให้ประชาคม มศว ร่วมพิจารณาให้ความเห็นและข้อวิจารณ์ต่อเกณฑ์สัดส่วนและน้ำหนักที่กำหนดไว้
ในการสรรหารอธิการบดีครั้งนี้ สภา มศว ได้มอบหมายให้คณะกรรมการสรรหาฯเป็นผู้รับผิดชอบภารกิจดังกล่าว ซึ่งเป็นประเด็นที่ชวนให้มีการวิเคราะห์ด้วยหลักทฤษฎีในทางวิชาการอย่างจริงจัง ว่าการมอบหมายอำนาจดังกล่าว สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ มศว พ.ศ. 2541 หรือไม่ และมีจุดอ่อน-จุดแข็ง หรือผลดี-ผลเสียอย่างไรบ้าง ทำนองเดียวกัน โอกาสที่ประชาคม มศว จะมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้คงมีน้อยมาก
ในกิจกรรม (5) การเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ อยู่ในขอบเขตของอำนาจของสภา มศว โดยตรง ประชาคม มศว ไม่มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องเลย แม้ข้อบังคับ ข้อ 7 วรรคแรก กำหนดให้กรรมการสรรหาฯ 2 ท่าน มาจากรรมการสภา มศว ประเภทตัวแทนคณาจารย์ก็ตามที แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า ประชาคม มศว ได้มีส่วนร่วมอย่างมีความหมายแล้ว
ในกิจกรรม (6) ข้อบังคับ ข้อ 8 กำหนดให้ประธานคณะกรรมการสรรหาฯ มีอำนาจมอบหมายให้คณะกรรมการประจำส่วนราชการ ดำเนินการในกระบวนการเสนอชื่อ ประชาคม มศว จึงไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อว่า บุคคลใดควรเป็นกรรมการในการดำเนินการในกระบวนการเสนอชื่อ หรือเสนอว่าควรใช้เวลาประกาศเชิญชวนนานเท่าใด เพื่อให้รับรู้กันทั่วถึงก่อนวันเสนอชื่อ
ในกิจกรรม (7) คณะกรรมการประจำส่วนราชการ จะแสดงบทบาทสำคัญในกระบวนการเสนอชื่อ เพราะข้อบังคับ ข้อ 8 กำหนดไว้เช่นนั้น จึงทำให้คณาจารย์หรือบุคลากรในแต่ละคณะ สำนัก สถาบัน วิทยาลัย หรือสำนักงาน ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าวได้เลย
ในกิจกรรม (8) บทบาทของประชาคม มศว มีสูงสุดและครอบคลุมที่สุดในกิจกรรมนี้ เพราะมีโอกาสเต็มที่ในการเสนอชื่อบุคคล ที่ตนเองเห็นว่าเหมาะสมที่จะเป็นอธิการบดีคนต่อไป แม้มีข้อจำกัดระบุไว้ในข้อบังคับ ข้อ 4 ว่าต้องเป็นข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างประจำ ซึ่งปฏิบัติงานใน มศว มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนนับถึงวันเสนอชื่อ และสามารถเสนอชื่อได้เพียง 1 ชื่อ 1 ครั้งเท่านั้นก็ตามที ข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมของคณาจารย์และบุคลากรในกิจกรรมนี้อีกประการหนึ่งก็คือ คณาจารย์และบุคลากรสนับสนุนอาจจะไม่มีโอกาสได้รับรู้ว่า ใครบ้างถูกเสนอชื่อในส่วนราชการที่ตนองสังกัดอยู่
ในกิจกรรม (9) การที่คณะกรรมการประจำส่วนราชการแต่ละแห่ง จะพิจารณาคัดเลือกชื่อที่ถูกเสนอมาทั้งหมด ให้เหลือเพียงไม่เกิน 3 ชื่อนั้น คณาจารย์และบุคลากรสนับสนุนในแต่ละส่วนราชการ จะไม่มีส่วนร่วมเลยว่า เกณฑ์ที่ใช้ควรเป็นเช่นใด ใครเหมาะสมกว่าใคร จริงหรือไม่ ในกิจกรรมนี้ เมื่อได้รายชื่อไม่เกิน 3 ชื่อแล้ว อาจจะไม่ประกาศให้ทุกคนในส่วนราชการรับรู้ก็ได้ เพราะข้อบังคับไม่ได้กำหนดไว้ให้ต้องทำ กล่าวในอีกลักษณะหนึ่ง ในระดับส่วนราชการ ผู้ถูกเสนอชื่ออาจจะไม่มีโอกาสแสดงตนโดยเปิดเผย ด้วยวาจา ต่อคณะกรรมการประจำส่วนราชการและประชาคมของส่วนราชการนั้นๆเลยก็ได้ นี่ย่อมหมายความว่า แม้แต่ในแต่ละส่วนราชการนั้นเอง ประชาคมของส่วนราชการยังขาดโอกาสที่จะมีส่วนร่วมรับรู้ และรู้จักผู้ถูกเสนอชื่อทั้งหมดของส่วนราชการที่ตนเองสังกัด
ในกิจกรรม (10) คณะกรรมการสรรหาฯทั้ง 9 ท่าน มีความสำคัญที่สุดในกิจกรรมนี้ การคัดเลือกรายชื่อจากทุกส่วนราชการให้เหลือเพียง 1 ชื่อนั้น(นั่นย่อมหมายถึงชื่อของว่าที่อธิการบดีคนต่อไปด้วย) ประชาคม มศว อาจจะไม่ได้มีส่วนร่วมรับรู้อะไรเลยก็ได้ว่าทำไมจึงได้ 1 ชื่อสุดท้าย และชื่ออื่นๆทั้งหมดที่เหลือ ถูกคัดออกไปด้วยเหตุผลที่เหมาะสม เป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ เพราะไม่มีข้อบังคับใดให้โอกาสแก่ประชาคม มศว ในขั้นตอนนี้เลย ผู้ถูกเสนอชื่อคนใด จากส่วนราชการใด จะมีโอกาสแสดงตนด้วยวาจาต่อคณะกรรมการสภา มศว และประชาคมจะได้มีโอกาสได้ยิน ได้ฟังบ้างหรือไม่ ไม่มีใครอาจทราบได้ เป็นภาวะของ “สูญญากาศของการมีส่วนร่วมของประชาคม มศว ในขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ที่กระทบต่อประชาคม มศว ทั้งหมด” (ในระยะ 4 ปีข้างหน้าหรือมากกว่านั้น)ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในองค์การทางสังคม-ปัญญา ที่เรียกว่า “มหาวิทยาลัย”(หรือแหล่งรวมสรรพวิทยาการอันยิ่งใหญ่)เลย
ประเด็นว่าด้วยช่วงเวลาที่ควรจะเป็นว่านานเท่าใด มิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในกิจกรรมนี้ แต่กระนั้น ประชาคม มศว ก็คงไม่มีโอกาสหรือมีส่วนร่วมที่จะเสนอแนะว่าควรให้เร็วหรือควรให้ช้า จึงจะเหมาะสมกว่ากัน
ในกิจกรรม (11) รายชื่อ 1 ชื่อที่คณะกรรมการสรรหาฯจะเสนอต่อสภา มศว นั้น ไม่จำเป็นต้องให้ประชาคม มศว ให้ความเห็นเชิงประเมินหรือทบทวนว่าพอใจหรือไม่ ยิ่งข้อบังคับ ข้อ 10 วรรคแรก กำหนดให้รายงานผลต่อสภา มศว โดยเร็วด้วยแล้ว คณะกรรมการสรรหาฯยิ่งไม่จำเป็นต้องให้ประชาคม มศว มีส่วนร่วมในขั้นตอนเกือบสุดท้ายนี้ ได้อย่างชอบธรรมตามข้อบังคับเลยทีเดียว
ในกิจกรรม (12) การลงมติของสภา มศว ไม่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆใดจากประชาคม มศว เพราะไม่มีข้อบังคับให้ปฏิบัติ แม้ว่าในกิจกรรมนี้ สภา มศว น่าจะได้รับรู้“ความรู้สึก”ของประชาคม มศว ส่วนใหญ่ว่าพึงพอใจหรือไม่ โดยที่แม้จะไม่มีข้อจำกัดเรื่องของเวลาก็ตาม แต่คงหวังได้ยากว่าสภา มศว จะปรารถนาที่จะรับรู้ความรู้สึกของคน มศว ก่อนที่กรรมการสภา มศว แต่ละท่านจะลงคะแนน
ในกิจกรรม (13) ประชาคม มศว คงเรียกร้องโอกาสมีส่วนร่วมใดๆไม้ได้อีกแล้ว เว้นแต่กรณีที่ผู้ผ่านการลงมติขาดคุณสมบัติอย่างชัดแจ้ง หรือมีคุณลักษณะไม่เหมาะสมโดยที่เพิ่งมีหลักฐานปรากฏอย่างเปิดเผยเท่านั้น ในกรณีนี้ หนทางเดียวที่ชาว มศว ทำได้ก็คือ “การถวายฎีกาเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน”เท่านั้น

5.อธิการบดี มศว คือใคร
ผู้เขียนขอเริ่มต้นการสะท้อนความคิดของผู้เขียนในประเด็นนี้ ด้วยการถกเถียงเกี่ยวกับอักษรภาษาอังกฤษ 3 ตัว คือ “SWU” ซึ่งเป็นอักษรย่อ(acronym)ที่คน มศว รู้ดีว่าหมายถึง Srinakharinwirot University หรือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒนั่นเอง
สำหรับผู้เขียนเอง ในฐานะที่เป็นนักศึกษา นักวิจัย และผู้สอนทางด้านสังคมศาสตร์ การพยายามมองและพิเคราะห์ปรากฎการณ์ทางสังคมหนึ่งๆ ด้วยมุมที่หลายคนไม่อยากจะมองเพราะเป็นมุมที่ไม่น่าพอใจ หรือมองแล้วได้ภาพที่ไม่น่าพอใจ อาจจะมีประโยชน์อย่างยิ่งหรือมีประโยชน์มากกว่า ในความหมายที่ว่า มันอาจจะช่วยให้เราสามารถมองเห็นมุมที่เราควรจะมอง หรือเห็นในสิ่งที่เราอยากจะมอง ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะผู้เขียนตีความว่า “SWU” อาจหมายถึงวลีดังนี้ “Songdej & Waiwod in Unity” หรือ “Stupidity-oriented & Wickedness-based Uniformity” ก็ได้
สำหรับวลีชุดแรก ที่เรียกว่า“Songdej & Waiwod in Unity”นั้น อาจแปลเป็นภาษาไทยว่า “เอกภาพแบบส่งเดชสู่ความวายวอด” ความหมายของวลีนี้ก็คือ สภาวะของการเน้น/การยึดติด หรือ การใช้อำนาจจากศูนย์กลางระดับสูงขององค์การ(top-down/centralized approach to power exercise) เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปแบบเดียวกัน(pre-determined design for change) โดยขาดความใส่ใจในความหลากหลายตามลักษณะธรรมชาติ ของรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ขององค์การย่อย ของบุคคล และขององค์ความรู้ เป็นการกระทำแบบส่งเดช(ที่ไม่รอบคอบและไม่รอบด้าน บนฐานของความไม่รอบรู้) ที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการนำไปสู่ความวายวอดหรือหายนภัยขององค์การ(organizational disaster-oriented risk taking)ในที่สุด เพราะบั่นทอนพลังสร้างสรรค์ร่วมขององค์การ(organizational synergy)อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์และอย่างน่าเสียดายยิ่ง
สำหรับวลีชุดที่สอง ที่เรียกว่า “Stupidity-oriented & Wickedness-based Uniformity”นั้น อาจจะแปลว่า “เอกรูปเชิงสามานย์สู่ความเขลา” ความหมายของวลีนี้ก็คือ สภาวะของการยึดติดกับคติที่ว่าผู้อื่นไม่น่าไว้วางใจ ไม่มีความปรารถนาดีจึงไม่ควรให้ความสนใจ ขณะที่มองว่า ตนเองกลุ่มหรือกลุ่มของตนเองเท่านั้น ที่เป็นเลิศและประเสริฐ จึงเป็นผู้ที่รู้ทุกเรื่องเป็นอย่างดี และเชื่อมั่นอย่างจริงๆจังๆว่า การกระทำของตนเองย่อมนำไปสู่ความสำเร็จ และความเจริญก้าวหน้าที่มีค่าสูงยิ่งเสมอ คติเช่นว่านี้ ปิดโอกาสที่สมาชิกประชาคม มศว จะได้มีส่วนร่วมอย่างเสียสละและจริงใจ เพื่อให้ มศว ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง สง่างาม และมีเกียรติในประชาคมวิชาการของประเทศ
หลายคนในประชาคม มศว อาจสงสัยว่า ว่า “SWU” ในความหมายของ “เอกภาพแบบส่งเดชสู่ความวายวอด” หรือ “เอกรูปเชิงสามานย์สู่ความเขลา” นั้นมีอยู่ด้วยหรือในปริมณฑลของ มศว สำหรับผู้เขียนแล้ว สิ่งที่จะกล่าวถึงข้างล่างต่อไปนี้ เป็นความจริงที่เกิดขึ้นใน มศว และชวนให้สงสัยว่าเป็นกรณีที่สะท้อนถึงสภาวะที่เรียกว่า “เอกภาพแบบส่งเดชสู่ความวายวอด” หรือ “เอกรูปเชิงสามานย์สู่ความเขลา”ได้อย่างน่าพิเคราะห์และน่าพิจารณาเลยทีเดียว
(1)การมีมติให้งดรับนิสิตวิชาเอกการพัฒนาชุมชน ชั้นปีที่ 1 (โครงการบัณฑิตคืนถิ่น) ในปีการศึกษา 2550 ภายใต้การกำกับของรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ โดยที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายท่านที่ร่วมประชุม ไม่มีการท้วงติงใดๆต่อมติดังกล่าว ทั้งๆที่โครงการบัณฑิตคืนถิ่นเกี่ยวข้องกับสถาบันชั้นสูงของประเทศ ทั้งนี้ มติดังกล่าวมิได้เป็นผลมาจากการดำเนินการตามขั้นตอนตามปกติ ของภาควิชาสังคมวิทยาและคณะกรรมการบริหารคณะสังคมศาสตร์แต่อย่างใด เป็นมติที่ถูก“ปั้นแต่ง”ขึ้นมาเอง อย่างไมถูกต้องและไม่ชอบธรรม แม้มีการนำเสนอให้อธิการบดีและคณะผู้บริหารของ มศว ทราบแล้ว แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆตามระเบียบทางราชการอย่างเหมาะสม
(2)การบังคับให้นิสิตทั้งมหาวิทยาลัยที่ศึกษาวิชาบูรณาการ ต้องซื้อแผ่นซีดีประกอบการเรียน มิฉะนั้นแล้ว ด้วยเงื่อนไขที่สร้างขึ้นมาเพิ่มเติม การไม่ซื้อแผ่นซีดีจะส่งผลกระทบในทางลบเมื่อมีการประเมินผลการเรียน สิ่งนี้เกิดขึ้นภายใต้การกำกับของรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เช่นเดียวกัน คณาจารย์ที่ร่วมรับผิดชอบการสอนรายวิชาดังกล่าวจำนวนมากก็คล้อยตามวิธีคิดเช่นนั้นเหมือนกัน คณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยก็ทราบเรื่องนี้ดี เพราะมีการออกใบเสร็จรับเงินอย่างเป็นทางการด้วย เพื่อให้ดูว่าไม่มีการทุจริต แต่ประเด็นสำคัญก็คือ เรื่องนี้เป็นเรื่องของความชอบธรรมในการใช้อำนาจต่างหาก หาใช่เรื่องของการทุจริตไม่ แม้จะได้แจ้งให้อธิการบดีรับทราบอย่างเป็นทางการ แต่ผลปรากฏเป็นเช่นเดียวกันกับ(1)
(3)การระบุไว้ในเอกสารเชิญชวนเข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการ ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยว่า หากคณาจารย์ท่านใดไม่เข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว(ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) จะไม่ได้รับงบประมาณการวิจัย ซึ่งดูคล้ายกับเป็นการใช้เงินส่วนบุคคลมาจัดสรรให้แก่คณาจารย์ตามอำเภอใจ มากกว่าจะเป็นการบริหารราชการแผ่นดิน โดยใช้เงินภาษีอากรของคนทั้งประเทศมาเป็นงบประมาณ
(4)การไม่เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างชัดเจน เกี่ยวกับการทุบหรือรื้อบางส่วนของอาคารคณะสังคมศาสตร์ ภายใต้การดูแลของรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา จนทำให้คณะสังคมศาสตร์เตรียมการและบริหารงานได้ลำบาก จนแม้กระทั่งคณาจารย์เองต้องคอยถามกันไปถามกันมาว่า จะเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับภาควิชาของตน กับห้องทำงาน กับห้องประชุม และกับการจัดการเรียนการสอน ทำดูคล้ายกับอาคารเรียนเป็นอาคารส่วนบุคคล มากกว่าจะเป็นทรัพย์สินของทางราชการ ที่มีผู้ใช้ประโยชน์และผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก
(5)การระบุในเอกสารราชการ ของรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาระบบและบุคคล(ภายใต้การรับรู้อย่างเป็นทางการของอธิการบดี มศว)ว่า การไปศึกษาดูงานที่แซมาเอิล อุนดอง ประเทศเกาหลี ของคณาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและภาควิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นการใช้งบประมาณเพื่อประโยชน์ของคณาจารย์เป็นการส่วนตัว จึงต้องออกค่าใช้จ่ายร่วมครึ่งหนึ่ง แต่นิ่งเฉยที่จะให้คำตอบว่า จุดไหนของโครงการที่สะท้อนว่าคณาจารย์แสวงหาประโยชน์ใส่ตัว โดยใช้งบประมาณของทางราชการอย่างไม่เหมาะสม และปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป จนภารกิจเพื่อประโยขน์ของราชการดังกล่าวต้องล้มเลิกไป ด้วยเงื่อนไขของเวลาที่ไม่อำนวย(เพราะเลยช่วงปิดภาคฤดูร้อนไปแล้ว)
(6)การใช้อำนาจตามที่ “ตนเห็นสมควร” ของรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาระบบและบุคคล ในกรณีที่วินิจฉัยว่า อาจารย์ที่เป็นพนักงาน ไม่มีฐานะเทียบเท่าอาจารย์ที่เป็นข้าราชการในการดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย ทั้งๆที่มีเอกสารของคณะกรรมการกฤษฎีกายืนยันแสดงให้เห็น(กรณีนี้ หากมีการคลาดเคลื่อนในรายละเอียด ผู้เขียนขออภัย)
(7)การใช้อำนาจตามที่ “ตนเห็นสมควร” ของรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาระบบและบุคคล ทั้งที่มีการทักท้วงและการร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร ในกรณีการบรรจุข้าราชการสาย ค เป็นอาจารย์สาย ก โดยที่วุฒิระดับปริญญาเอก ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจการสอนของภาควิชาที่สังกัดแต่อย่างใด(ประเด็นนี้ กรุณาอย่าเข้าใจผิดว่า กระผมกำลังแบ่งชั้นระหว่างอาจารย์กับบุคลากรอื่นๆ) ทั้งๆที่มหาวิทยาลัย(โดยท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ)ย้ำเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของมาตรฐานของหลักสูตรว่า คณาจารย์ต้องมีคุณวุฒิตรงหรือสอดคล้องกับหลักสูตรที่รับผิดชอบ จึงน่าประหลาดใจว่าเหตุใดจึงหย่อนยานหรือละเลยในกรณีนี้ได้ ทั้งนี้ ไม่ต้องกล่าวถึงกระบวนการคัดเลือกที่ยังมีข้อเคลือบแคลงอยู่อีกไม่น้อย การกล่าวว่ากระบวนการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเริ่มจากภาควิชา เพราะไม่มีกฎหมายหรือระเบียบเขียนไว้ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก ว่ากำลังมีการใช้มาตรฐานขั้นต่ำมาเลือกปฏิบัติใน มศว หรือ แทนที่จะยึดเอามาตรฐานขั้นสูงหากกระทำได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั้งหลายก็ทำเช่นนั้น คล้ายกับว่า มศว เป็นมหาวิทยาลัยส่วนบุคคล ที่ระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลมีความหมายไม่มากนัก และหากพิจารณาข้อกฎหมายในพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2541 กันอย่างจริงๆจังๆตามเจตนารมณ์และตามตัวอักษรแล้ว ภารกิจดังกล่าวอยู้ภายใต้ความรับผิดชอบในขั้นต้นของหัวหน้าภาควิชาโดยตรงเลยทีเดียว ประเด็นนี้จึงยังไม่ finalized ทว่ายังคงเป็นประเด็นที่มีลักษณะเป็น problematic อยู่อย่างชัดเจน
(8)การปฏิเสธของรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาศักยภาพนิสิตฯ ในการเข้าร่วมโครงการพัฒนาจิตสำนึกอาสาสมัครของนิสิต(โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะผู้ประสานงาน ได้เสนองบประมาณจำนวนไม่น้อยมาให้ด้วย ในช่วงภัยพิบัติสึนามิภาคใต้) โดยไม่ประสานงานใดๆเลยกับคณะหรือภาควิชาอื่นๆที่อาจจะเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ จนเกือบทำให้นิสิตของ มศว ขาดโอกาสที่จะเรียนรู้ร่วมกับนิสิตในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในการทำกิจกรรมตามอุดมการจิตอาสา
(9)การ“บีบทางอ้อมด้วยเสียงทุบฝาผนัง” เพื่อให้คณาจารย์ของภาควิชาสังคมวิทยา ย้ายห้องพักอาจารย์ จากอาคารอำนวยการที่องครักษ์ไปอาคารอื่นแบบ“ตามยถากรรม”อย่างเร่งด่วน โดยไม่มีการประสานงานมาล่วงหน้าอย่างเป็นขั้นเป็นตอน(ทั้งๆที่มีเวลาอำนวยเพียงพอ) กับคณะสังคมศาสตร์และภาควิชาสังคมวิทยา ภายใต้ความรับผิดชอบของรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษที่ดูแลองครักษ์
(10)การเตรียมการและมีการดำเนินการบางส่วน ในการตั้งคณะใหม่ที่จัดการสอนและให้ปริญญาทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยที่ยังมีภาควิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ในคณะสังคมศาสตร์ ประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่ดูแปลกมากเพราะใน มศว แห่งเดียวกัน กำลังจะมี 2 หน่วยงานที่จัดสอนวิชาเอกภายใต้องค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่ดูเหมือนจะวางไว้ เพื่อให้คณาจารย์จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์ย้ายไปคณะใหม่(แนวทางนี้อาจจะมิได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร) หากเป็นเช่นนั้นจริง การจัดการเรียนการสอนของภาควิชาเศรษฐศาสตร์คงได้รับผลกระทบไม่น้อยทีเดียว กรณีทำนองเดียวกันนี้ เท่าที่ปรากฏอย่างชัดเจนในระบบการศึกษาของไทย ก็คือ กรณีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีคณะวิศวกรรมศาสตร์คู่กับสถาบัน SIIT ในการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่ระบบการจัดการแตกต่างกันทีเดียว ไม่สร้างผลกระทบทางลบต่อกัน
(11)การแก้ไขคุณสมบัติของผู้เข้าสอบตรงบางสาขาวิชา(3 สาขาวิชาเอก) จนเป็นไปในลักษณะที่ว่า แม้ได้คะแนน 1.00 ในชั้นมัธยมปลาย ก็สามารถสมัครเข้าเรียนสาขาวิชาดังกล่าวของ มศว ได้ กรณีนี้ ดูจะน่าเป็นห่วงมากทีเดียวในแง่ของมาตรฐานทางด้านวิชาการ หากเปรียบเทียบกับสาขาวิชาอื่นๆแล้ว รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการจำต้องเตรียมคำตอบไว้ว่า อะไรคือเหตุผลที่จำเป็นขนาดนั้น เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า ประชาคมวิชาการ มศว ปล่อยเรื่องเช่นนี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างไรกัน
(12)การใช้มติ อ.ก.ม.เพื่อทอนสิทธิ์ของข้าราชการทั้งหมดของ มศว ในการที่จะได้รับการพิจารณาขั้นเงินเดือนจากกรอบโควตา 15.00% เหลือเพียง 14.5% เป็นเรื่องที่อาจจะอ้างอำนาจตามกฎหมายได้ แต่หน่วยงานใดในบ้านเมืองนี้ทำเช่นนั้นบ้าง อำนาจทางกฎหมาย(Authority)กับอำนาจอันชอบธรรม(Legitimacy) ดูจะเป็นเส้นขนานกันในกรณีนี้อย่างชัดเจน ข้าราชการชั้นผู้น้อยระดับ 1 ถึงระดับ 5 จะเสียขวัญและกำลังใจขนาดไหน นี่คือคำถามสำคัญของระบบธรรมาภิบาลว่ายังมีอยู่หรือไม่ใน มศว หรือยุคนี้ของ มศว เป็นยุคของระบบอุปถัมภ์ไปเสียแล้ว
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน จากประสบการณ์และการรับรู้ส่วนบุคคลของผู้เขียนเท่านั้น ถ้านำสิ่งที่สมาชิกในประชาคม มศว ประสบมารวมกันและต่อเป็นภาพใหญ่เช่นเดียวกับเกมตัวต่อ คงจะกลายเป็น “มหาเอกภาพแบบมหาส่งเดชสู่มหาความวายวอด” อย่างน่ากลัวทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าโลกนี้ไม่จนตรอกสำหรับมนุษย์ เพราะมนุษย์คือผู้สร้างโอกาสได้เช่นกัน ดังเช่นที่ท่านเจ้าคุณประยุตต์ได้นำเสนอไว้ในงานเขียนชิ้นเล็กๆที่ชื่อว่า ”ลุอิสรภาพด้วยอนิจจัง” เพราะในทางกลับกัน ผู้เขียนมองว่า “SWU” ควรมาจากคำว่า “Solidarity-based & Wisdom-oriented University” ได้เช่นกัน ซึ่งผู้เขียนขอแปลความหมายจากวลีนี้ว่า “มศว คือ มหาวิทยาลัยที่เจิดจรัสด้วยปัญญาและเป็นศรีสง่าเพื่อความสมานฉันท์” หรือกล่าวอย่างสั้นๆว่า “มศว เจิดจรัสด้วยปัญญา ศรีสง่าสู่สมานฉันท์”
ผู้เขียนขออภิปรายขยายความคำสำคัญ 2 คำที่นำเสนอมาข้างต้น คือ คำว่า Solidarity และคำว่า Wisdom ดังต่อไปนี้
คำว่า Solidarity เป็นคำที่ได้ยินกันเกือบทั้งโลกเมื่อหลายปีก่อน ก่อนที่ประเทศโปแลนด์จะแปลงโครงสร้างสังคม-การเมือง จากเผด็จการฝ่ายซ้ายมาสู่ระบอบประชาธิปไตยดังเช่นปัจจุบันนี้ ในที่นี้ ผู้เขียนเห็นว่าคำนี้เหมาะที่จะแปลว่า”ความสมานฉันท์”หรือ”ความกลมเกลียว” ในลักษณะ“ไปด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย” แต่ผู้เขียนมุ่งหมายให้เป็นสภาวะของความสมานฉันท์ ในความหมายของ“การบริหารจัดการสาธารณกิจแบบมีส่วนร่วม” หรือ “Participatory management of public affairs” เนื่องจาก มศว เป็นองค์การสาธารณกิจเพื่อสาธารณประโยชน์(publicness-based and public interest-oriented organization) ดังนั้น การกล่าวถึงการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม จึงมิใช่เพียงแค่วลีที่กล่าวกันลอยๆ แต่จำเป็นต้องสะท้อนถึงความจริงของการมีส่วนร่วม“ที่แท้และมีความหมาย”(genuine and meaningful participation) ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์การ ทั้งภายในและภายนอกองค์การ(by all internal and external stakeholders) ทั้งในระดับล่าง ระดับกลาง และระดับบนสุด(at all levels) และในทุกมิติของภารกิจที่สร้างผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง(in all dimensions)
สำหรับคำว่า Wisdom ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแปลกันเป็นภาษาไทยว่า“ปัญญา” ในที่นี้ ผู้เขียนมุ่งประสงค์ให้หมายถึง “กระบวนการเรียนรู้แบบองค์รวม(holistic learning process) โดยผ่านการเชื่อมโยงแบบปฏิสัมพันธ์(through interactive involvement) เพื่อก่อร่างสร้างสรรค์วิถีชีวิตแบบองค์รวมที่ทรงความหมาย(towards holistic and meaningful lifestyles)”
ผู้เขียนขอเรียนย้ำว่า ไม่ว่าจะมองด้วยทัศนะเชิงลบอย่างไรก็ตาม มศว ไม่ใช่กองทหารที่ถูกบังคับเกณฑ์ ไม่ใช่โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิตเวช และไม่ใช่คุกหรือเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ ที่อาศัยอำนาจสั่งการแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของนายทหารผู้บังคับบัญชา ที่อาศัยอำนาจของความเชี่ยวชาญและการควบคุมของแพทย์ผู้รักษา หรือที่อาศัยอำนาจลงโทษคุมขังของเจ้าหน้าที่และพัศดี แล้วแต่กรณี เป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนกลไกขององค์กร แต่ มศว คือศูนย์รวมของปัญญาชนและผู้รู้ที่ทรงคุณความดีที่หลากหลาย(หรืออีกนัยหนึ่ง “ปราชญ์ผู้ทรงศีล” ตามความคิดของศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ปูชนียบุคคลของชาว มศว) เป็นปัญญาชนและผู้รู้ที่สังคมโดยรวมคาดหวังว่าจะผลิตความรู้ ถ่ายทอดความรู้ สะท้อนความจริงและปัญหาสังคมเชิงวิพากษ์อย่างจริงจัง จริงใจและซื่อสัตย์ และนำพาชีวิตผู้คนและสังคมโดยรวมไปสู่ศานติภาวะ การไม่เบียดเบียนต่อกัน และความยั่งยืนแบบบูรณาการ บนรากฐานของความรู้จริงและความอาทรต่อกัน
“กระบวนการเรียนรู้แบบองค์รวม(holistic learning process) โดยผ่านการเชื่อมโยงแบบปฏิสัมพันธ์(through interactive involvement) เพื่อก่อร่างสร้างสรรค์วิถีชีวิตแบบองค์รวมที่ทรงความหมาย(towards holistic and meaningful lifestyles)” ที่เพิ่งกล่าวมา มุ่งให้เกิดปัญญา 2 แบบ กล่าวคือ (1)ปัญญาเชิงอุปกรณ์(instrumental wisdom) และ(2)ปัญญาขั้นสูงส่ง(ultimate wisdom)
ปัญญาเชิงอุปกรณ์ ตั้งอยู่บนรากฐานของความรู้เชิงโลกียวิสัย เพื่อการครองตนในโลกฆราวาสทางวัตถุ(mundane knowledge for secular living) เป็นปัญญาที่เกิดจากการศึกษาองค์ความรู้และฝึกฝนทักษะทางวิชาชีพ(professional skills) การเรียนรู้ทางวิชาการและการสร้างทักษะเช่นว่านี้ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนหรือบัณฑิต ได้มีความแกร่งและเป็นที่ยอมรับในทางวิชาการ(academic vigor and recognition)จากสังคมภายนอก และเพื่อให้ข้ามพ้นไปจากข้อจำกัด หรืออุปสรรคทางวิชาชีพและทางเศรษฐกิจ(freedom from professional and economic limitation) เพื่อการยังชีพของตนองและครอบครัวในชีวิตประจำวัน
ส่วนปัญญาขั้นสูงส่ง ตั้งอยู่บนรากฐานของความรู้เหนือโลกียวิสัย เพื่อการครองตนในโลกฆราวาสทางจิตวิญญาณ(super-mundane knowledge for spiritual living)เป็นปัญญาที่เกิดจากการการศึกษาองค์ความรู้ และฝึกฝนทักษะทางสังคม-วัฒนธรรมและทางจิตวิญญาณ(socio-cultural and spiritual skills) การเรียนรู้และการฝึกฝนจริงในโลกแห่งความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เป็นจริงดังกล่าวนี้ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนหรือบัณฑิต ได้มีความแกร่งและเป็นที่ยอมรับทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณ(psycho-spiritual vigor and recognition) จากสังคมภายนอก และเพื่อให้ข้ามพ้นไปจากข้อจำกัด หรืออุปสรรคทางด้านจิตวิญญาณ(freedom from spiritual constraints) ที่เกิดจากโลภจริต(Greed) โทสจริต(hatred) และโมหจริต(delusion) จนสามารถยังชีพได้อย่างเป็นสุข และรู้เท่าทันอกุศลธรรมทั้งปวง ที่ได้สัมผัสและที่มาเยือนเพื่อเย้ายวนในชีวิตประจำวัน ในโลกยุกโลกาภิวัตน์บนฐานของกิเลสนิยม-บริโภคนิยม
จากที่กล่าวมาทั้งหมดในหัวข้อนี้ อธิการบดี มศว สำหรับผู้เขียนจึงหมายถึง ผู้นำที่สามารถสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อสภาวะการเปลี่ยนผ่านจาก “SWU” ในความหมายของ“Songdej & Waiwod in Unity” หรือ “Stupidity-oriented & Wickedness-based Uniformity”ไปสู่“SWU” ในความหมายของ“Solidarity-based & Wisdom-oriented University”ได้อย่างราบรื่นและเป็นที่ยอมรับของประชาคม มศว นั่นเอง
แล้วอธิการบดี มศว เช่นว่านี้ ควรเป็นอย่างไรและควรได้มาอย่างไร โปรดพิจารณในหัวข้อที่กำลังจะกล่าวถึง

6.อธิการบดี มศว คนต่อไป ควรเป็นอย่างไร
ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า “SWU” จากทัศนะวิพากษ์ในเชิงลบ(negative / critical viewpoint) เป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปสู่ ”SWU” ในเชิงวิพากษ์สร้างสรรค์(positive / critical viewpoint)ได้อย่างไม่ต้องสงสัย ประเด็นที่สำคัญเชื่อมโยงต่อมาก็คือ อธิการบดีของ มศว ที่จะเป็นผู้นำเชิงสร้างสรรค์ควรเป็นอย่างไร
ในทัศนะของผู้เขียน อธิการบดีของ มศว ที่จะเป็นผู้สรรค์สร้าง“มศว เจิดจรัสด้วยปัญญา ศรีสง่าสู่สมานฉันท์” ให้เกิดขึ้นจริงได้นั้น มีคุณลักษณะหรือภาวะผู้นำ(leadership)ตามคำศัพท์ในภาษอังกฤษ 2 คำ ดังนี้คือ (1)SANE และ (2)SMART
ภาวะผู้นำที่จำเป็นประการแรกที่เรียกว่า“SANE”นั้น มีความหมายในตัวของมันเอง อันหมายถึงการมี“จิตประเสริฐ” ซึ่งสามารถขยายความในรายละเอียดตามอักษรแต่ละตัวได้ดังนี้
(1)S หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Sensitiveness(มีจิตใจอ่อนไหวต่อการรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ใต้บังคับบัญชา หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นคนประเภทรู้ร้อน รู้หนาว หัวใจไม่กระด้าง)
-Sensibility(มีจิตใจที่รับฟังเหตุผลของผู้อื่น และมีเหตุผลที่อธิบายได้ในการกระทำของตนอง)
-Spiritual awareness(ตระหนักรู้อยู่เสมอในประเด็นด้านจิตวิญญาณและจริยธรม ทั้งของตนเองและผู้ร่วมงาน หรือที่เรียกกันเป็นภาษาชาวบ้านว่า มีต่อมศีลธรรมปกติ/ไม่บกพร่อง)
-Sacrifice for teaching profession(มีจิตใจเคารพวิชาชีพครู และผู้ที่ทำหน้าที่ในการสอนหนังสือ และพยายามเชิดชูในฐานะที่เป็นภารกิจสำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัย)
(2) A หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Awareness of gender issues(มีจิตใจระแวดระวัง ในการคิด การกำหนดนโยบาย การออกคำสั่ง และการกระทำ ที่ไม่ละเมิดสิทธิและความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงภายใน มศว และสังคมภายนอก)
-Acceptance of ideational differences(มีจิตใจที่ไม่รังเกียจความคิดที่แตกต่าง และพยายามส่งเสริมความหลากหลายของความคิด เพื่อแปลงเป็นพลังร่วมแบบบูรณาการไปสู่ความก้าวหน้าขององค์การ และการเกิดขึ้นของชุมชนกัลยาณมิตรใน มศว)
(3) N หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Neutrality of greed, hatred and ignorance(มีอุเบกขา หรือจิตใจที่เป็นกลาง ไม่มีอคติหรือความลำเอียงต่อผู้ร่วมงาน อันเนื่องมาจากมีประโยชน์ทางวัตถุแอบแฝง อันเนื่องมาจากความรังเกียจส่วนตัว หรืออันเนื่องมาจากอวิชชาซึ่งทำให้ลุ่มหลงมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ
(4) E หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Equity-friendly mind(มีจิตใจรักความเป็นธรรม และตระหนักอยู่เสมอว่า การใช้คำสั่งและอำนาจใดๆที่แม้ว่าอาจจะถูกกฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับของทางราชการ แต่อาจก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ร่วมงานได้เสมอ จึงต้องระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา และพร้อมที่จะปรับแก้ตามควรแก่กรณี)
-Equality-friendly mind(มีจิตใจรักความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกัน และคอยตรวจสอบมิให้เกิดการกระทำที่นำไปสู่ความไม่เสมอภาค โดยสร้างเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมภายใน มศว)
-Eco-friendly mind(มีนิเวศสำนึกแนวลึกในการบริหารองค์การ เป็นแบบอย่างของชีวิตที่ไม่ละเมิดชีวิตด้วยกัน และตระหนักถึงคุณค่าของดุลยภาพระหว่างความสำเร็จขององค์การ การใช้ทรัพยากรของโลก และความสุขของคนในองค์การ ไม่นิยมการทุ่มเททุกสิ่งหรือการบีบคั้นทุกอย่าง เพียงเพื่อให้ตนเองเป็นคนที่เด่นที่สุดในองค์การ ในลักษณะ “สุขเข้าตัว ชั่วโยนคนอื่น”)
-Exploitation-free mind(เป็นผู้ที่มีจิตใจเมตตา ไม่กระทำทุกวิถีทางและไม่ยอมให้มีการกระทำ ใดๆ ในลักษณะที่แฝงเร้นการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบคนในองค์การด้วยกันเอง เพื่อสร้างความก้าวหน้าหรือความสำเร็จเฉพาะตัว)
-Egolessness-based mind(เป็นผู้ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และพร้อมที่จะเสียสละ ทุ่มเทและรับใช้คนในองค์การ เพื่อให้งานสำเร็จและคนก็เป็นสุขไปพร้อมๆกัน)
สำหรับภาวะผู้นำที่จำเป็นประการที่สอง ที่เรียกว่า“SMART”นั้น ก็มีความหมายในตัวของมันเองเช่นกัน โดยหมายถึง“เลิศปัญญา” ซึ่งสามารถขยายความในรายละเอียดตามแต่ละตัวอักษร ได้ดังนี้
(1)S หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Supporter of critical thinking and dialogue(ฉลาดและมีไหวพริบ ในการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการคิดและการแลกเปลี่ยนเชิงวิพากษ์อย่างเสรีและเปิดเผย ในลักษณะของการเปิดกว้างต่อกระบวนการ“ติเพื่อก่อ”
-Structural transformational leadership(เป็นผู้นำที่ฉลาดในการเปลี่ยนโครงสร้างและความสัมพันธ์ในองค์การ จาก “บนสู่ล่าง” ไปเป็น “ตามแนวระนาบ” จาก “รวมศูนย์อย่างนาสะพึงกลัว” ไปเป็น “มีส่วนร่วมอย่างเป็นสุข” และจาก “แล้วแต่ท่าน” ไปเป็น “เรื่องนี้ ผม/ดิฉันคิดว่า...” และสามารถทำให้อำนาจกลายเป็นมิตร และมิตรกลายเป็นพลังร่วมสู่ความก้าวหน้าและควมสำเร็จ)
-Socially engaged intelligence(เป็นผู้มีความปราดเปรื่องที่ไม่เอาเปรียบสังคมหรือผู้อื่น หรือมุ่งแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นสำคัญ และส่งเสริมให้ผู้ร่วมงานหมั่นเรียนรู้ให้รู้จริง เพื่อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมเป็นหลัก)
(2)M หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Mutual learning and mutual assistance advocator(เป็นผู้ที่รู้เท่าทันว่า การเรียนรู้ร่วมกัน และการพึ่งพาอาศัยกันของคนในองค์การ ทั้งในแนวระนาบและแนวดิ่ง เป็นปัจจัยวิกฤตเชิงบวกต่อความสำเร็จขององค์การและความสุขของคนทำงาน และพยายามส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จริงจัง ทั่วทั้งองค์การจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์การขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน)
-Moral suasion advocator(เป็นผู้ฉลาดที่รู้เท่าทันว่า มนุษย์รักความสงบ ซาบซึ้งในความดี และยอมปฏิบัติตามอย่างเต็มใจ เมื่อมีการสื่อสารอย่างจริงใจ บนฐานของความเคารพที่มีต่อกัน)
-Manager of synergy-based action(มีทักษะและความชำนาญในการขับเคลื่อนองค์การ โดยสามารถกระตุ้นพลังสร้างสรรค์ภายในของคนในองค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องใช้ “อาชญา”ตามสำนวนของท่านพุทธทาสภิกขุ)
(3)A หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Academic excellence – academic freedom equilibrium advocator(เป็นผู้ที่รู้และเข้าใจดีว่า ความเป็นเลิศทางวิชาการและความรู้ ตั้งอยู่บนฐานของคำสั่งและอำนาจไม่ได้นาน เพราะรากฐานของปัญญาที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างยั่งยืน คือความมีอิสระและเสรีภาพที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่เหมาะสม บนพื้นฐานของความเคารพต่อกันและการสร้างสรรค์บรรยากาศที่เอื้ออำนวย
-Appreciator of follower’s contribution(เป็นผู้ฉลาดที่มองออกว่า แม่บุคลากรที่ต่ำต้อยที่สุดในองค์การ ก็สามารถทำให้องค์สำเร็จได้ พอๆกับที่ดูเหมือนไม่มีความหมายอะไรมากนัก เพราะทุกๆคนต้องการได้รับการยอมรับ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในสิ่งที่เขาได้ทำไปด้วยความตั้งใจและจริงใจ)
(4)R หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Re-allocator of resources for research advancement(เป็นผู้ที่มีทักษะและความชำนาญ ในการกระตุ้นให้งานวิจัยเติบโตใน มศว ได้โดยไม่ต้องใช้คำสั่งหรือคำขู่หรือมาตรการทางลบแอบแฝงใดๆ แต่โดยการจัดสรรทรัพยากรให้ได้ดุล ระหว่างระบบย่อยต่างๆใน มศว และกระตุ้นทางบวกให้ศักยภาพของคณาจารย์และบุคลากรสนับสนุน ปรากฏจนเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจ
-Revitalizer of “cultural action for freedom”(เป็นผู้ที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า วัฒนธรรมเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม ที่เป็นไปในลักษณะกดขี่ก็ได้ หรือปลดปล่อยสู่ความเป็นไทก็ได้ และพยายามส่งเสริมให้กระบวนการทำงานใน มศว นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมความสัมพันธ์ในรูปแบบที่เอื้อต่อการส่งเสริมเสรีภาพทางความคิด การกระทำ และการท้วงติงเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งภายในและภายนอก มศว
(5)T หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Teaching improvement advocator(เป็นผู้ที่มองเห็นภาพรวมได้ว่า การปรับปรุงให้ภารกิจในการจัดการเรียนการสอนก้าวหน้าได้นั้น คณาจารย์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด และกำลังบังคับภายนอกหรือจากฝ่ายบริหาร จะกำหนดให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งตามลำพังย่อมไม่ได้ การได้ร่วมดำเนินการในการปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่ต้องสร้างเงื่อนไขอำนวยที่เหมาะสมเป็นเบื้องต้นก่อน ด้วยความพยายามเข้าใจสถานการณ์และด้วยความจริงใจ)
-Training improvement advocator(เป็นผู้รู้และเข้าใจดีว่า การส่งเสริมให้บุคลากรสนับสนุน มีโอกาสพัฒนาการทำงานและทักษะทางสังคมในองค์การ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ เป็นองค์ประกอบที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน และต้องไม่สร้างเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคขัดขวางโดยไม่จำเป็น)

กล่าวโดยสรุป ภาวะผู้นำที่จำเป็นสำหรับอธิการบดีของ มศว ก็คือ “SANE & SMART” หรือ “จิตประเสริฐ เลิศปัญญา” หรือหากจะกล่าวให้ทันกับยุคสมัยปัจจุบัน ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ผู้นำของ มศว ต้องเป็นผู้นำที่มี“UV Protection”(ซึ่งหมายถึง“Ultra Viciousness Protection” หรือ “สาร” ป้องกัน “รังสีแห่งอกุศลธรรมทั้งมวล”) และต้องมี“UV Fortification”(ซึ่งหมายถึง“Ultra Verity Fortification” หรือ “เสริมธาตุกุศลธรรมทั้งมวล”)

7.ทัศนะวิพากษ์และข้อกังขาต่อกระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว
ทัศนะวิพากษ์และข้อกังขาที่ผู้เขียนจะนำเสนอในหัวข้อนี้ อยู่บนพื้นฐานของสภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดี มศว ตามข้อบังคับ มศว ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2546 ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และสภาพความเป็นจริงดังกล่าวนี้ ผู้เขียนได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้แล้วในหัวข้อ 3 และหัวข้อ 4 ในทำนองเดียวกัน ผู้เขียนได้สะท้อนสภาพความเป็นจริงบางแง่มุมของ มศว โดยการมองผ่านอักษรย่อ “SWU” และได้ฉายภาพที่ควรจะเป็นไปในอนาคตของ มศว โดยการมองผ่านอักษรย่อ “SWU” เช่นเดียวกัน ผู้เขียนได้เสนออย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาว่า อธิการบดีของ มศว คือผู้นำที่สามารถสร้างเงื่อนไขให้เกิดการแปลงรูปจาก“Songdej & Waiwod in Unity” หรือ “Stupidity-oriented & Wickedness-based Uniformity”ไปสู่“Solidarity-based & Wisdom-oriented University” หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “ผู้นำการแปลงรูปที่นิยมการสานพลังร่วม”(Synergy-based Transformation Agent: STA) และผู้เขียนได้เสนอต่อไปว่า เพื่อให้เกิดการแปลงรูปอย่างน่าพึงพอใจ อธิการบดีของ มศว ควรมีคุณลักษณะสำคัญต่างๆภายใต้กรอบคิดของสิ่งที่เรียกว่า“SANE & SMART”หรือ“จิตประเสริฐ เลิศปัญญา”หรือมีคุณลักษณะของผู้นำที่ประกอบด้วย “UV Protection” และ “UV Fortification”
คำถามเชิงวิพากษ์และข้อกังขาที่เกิดขึ้น เมื่อพิจารณาย้อนกลับไปดูกระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว ภายใต้ข้อบังคับที่กล่าวมา ก็คือ กระบวนการสรรหาฯข้างต้น เป็นเงื่อนไขหรือตัวแปรที่เอื้อต่อการได้มาซึ่งอธิการบดีที่“SANE & SMART”ได้แค่ไหน คำตอบเบื้องต้นก็คือ การได้มาซึ่งผู้นำที่เป็น Synergy-based Transformation Agent(STA) และมีคุณลักษณะ“SANE & SMART”เพื่อขับเคลื่อน มศว ในฐานะที่เป็น“สถานบันแห่งปัญญาของชาติ”สถาบันหนึ่ง ไปสู่ความก้าวหน้าอย่างสง่างาม และเป็นที่ยอมรับของสังคมและประชาคมวิชาการนั้น จำเป็นต้องผ่าน“กระบวนการสรรหาที่มีลักษณะเปิด และพร้อมต่อการท้าทายและการตรวจสอบ บนพื้นฐานของการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับ”(Open recruitment process well prepared for all forms of challenges and skepticism on the basis of interaction with stakeholders at all levels)หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ต้องเป็นกระบวนการเปิดและโปร่งใส(open and transparent process) ขณะที่กระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว ตามข้อบังคับฯ พ.ศ. 2546 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นกระบวนการปิดและปิดลับ(close and confidential)เป็นสำคัญ ฉะนั้น กระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว ดังที่ได้นำเสนอข้างต้น จึงจำเป็นต้องได้รับการวิพากษ์ในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
ประเด็นวิพากษ์ที่ 1 ใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2541 มิได้บัญญัติหลักการและเหตุผลที่ชัดเจนไว้ เป็นกรอบรองรับการจัดทำข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาอธิการบดีของ มศว ดังนั้น ข้อบังคับดังกล่าวจึงเป็นไปในลักษณะใดก็ได้ตามความประสงค์ของสภา มศว ซึ่งขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงของกรรมการสภา มศว ที่มีการดำรงตำแหน่งเป็นช่วงๆ ขณะที่ประชาคม มศว ซึ่งมีขนาดใหญ่(large scale community)และดำรงอยู่จนเกือบตลอดชีวิต(nearly life–long existence)กลับไม่ได้รับความสนใจแต่ประการใดเลย การแก้ไขข้อบังคับฯฉบับก่อนหน้านี้ เป็นฉบับ พ.ศ.2546 นี้ ก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้มีความสนใจต่อประชาคม มศว ที่จะมีส่วนร่วมเลย ไม่ว่าจะในแง่ของหลักการ สาระสำคัญ หรือแม้แต่กระบวนการและขั้นตอนก็ตาม
ประเด็นวิพากษ์ที่ 2 คณะทำงานตามข้อบังคับ ข้อ 5(1) ซึ่งต้องรับผิดชอบการจัดทำเอกสารกำหนดเป้าหมาย ภารกิจ และพันธกิจ โดยการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของทุกส่วนราชการ มาจากการแต่งตั้งของสภา มศว โดยละเลยที่จะไถ่ถามประชาคม มศว ว่าอยากให้มีองค์ประกอบจากแหล่งใดบ้างและจำนวนเท่าใด อีกทั้งการมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งแม้ว่าดูจะไม่มีปัญหาความไม่สอดคล้องกับข้อบังคับก็จริง แต่กลับน่าเป็นห่วงใน 5 เรื่อง กล่าวคือ
(1)ระยะเวลการดำเนินงานของคณะทำงาน ที่ทับซ้อนกับช่วงเวลาที่คณาจารย์กำลังมีภารกิจหลักเกี่ยวกับการตรวจข้อสอบ ตรวจรายงาน และจัดทำเกรด หรือแม้หลังจากช่วงของการส่งผลการเรียนแล้วก็ตาม ปฏิสัมพันธ์และการสมาคมของคณาจารย์ก็ยังมีไม่มากนัก
(2)นิสิตทั้งมหาวิทยาลัยอยู่ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน จึงเท่ากับถูกตัดความสนใจออกไปจากกระบวการดำเนินงานของคณะทำงานเลยทีเดียว อันที่จริง ในข้อบังคับ ข้อ 5(1) มิได้บัญญัติอย่างชัดเจนว่า นิสิตไม่มีสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแต่อย่างใด และหากพิจารณากันอย่างจริงๆจังๆแล้ว นิสิตเป็นกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างสำคัญทีเดียวจากการสรรหาอธิการบดีในครั้งนี้ การไม่ให้โอกาสแก่นิสิตที่จะมีส่วนร่วมในลักษณะดังที่กล่าวมา จึงยังเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ยังไม่มีความชัดเจน และยังน่าเป็นห่วงว่านิสิตถูกละเมิดสิทธิ์หรือไม่ แม้ที่ผ่านมา ไม่เคยให้นิสิตมีส่วนร่วมเลยก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วในแง่ของกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ์ของบุคคล เป็นแต่เพียงการปฏิบัติตามๆกันมาเท่านั้นเอง และ
(3)การแต่งตั้งคณะทำงานในวันที่ 20 กุมภาพันพันธ์ 2550 โดยที่คณะทำงานนี้ต้องมีเวลาดำเนินงานอย่างเต็มที่ ไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯนั้น ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนว่า จนถึงขณะนี้(15 มีนาคม 0550) หากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯหลังจากนี้แล้ว ย่อมเป็นการขัดต่อข้อบังคับ ข้อ 5 วรรคแรก และ(3) อย่างจงใจ โดยไม่มีเหตุผลที่รับฟังได้เลยทีเดียว
(4)คณะทำงานชุดนี้ มีจำนวน 11 ท่าน แบ่งเป็นผู้บริหาร 9 ท่าน และอีก 2 ท่านเป็นตัวแทนข้าราชการและพนักงานจากสภาคณาจารย์ฯ การที่สภา มศว มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ดำเนินการในเรื่องการได้มาซึ่งคณะทำงาน และปรากฏผลเป็นเช่นนี้ ย่อมมองเห็นได้ว่า องค์ประกอบของคณะทำงาน หาได้สะท้อนความเป็นตัวแทน(representativeness)ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของทุกส่วนราชการอย่างแท้จริงและมีความหมายไม่ เอกสารฉบับร่างเป้าหมาย ภารกิจ และพันธกิจที่จัดทำขึ้น(ซึ่งเป็นเอกสารที่มีความสำคัญมากในเชิงนโยบาบ) จึงเป็นภาพของความน่าสงสัยอย่างยิ่ง ว่ามาได้อย่างไร หลักคิดสำคัญอยู่ที่ไหน หรือสะท้อนประโยชน์ของใคร หากมองว่าเอกสารร่างฯดังกล่าวเป็น“สัญญาประชาคม” หรือ“พันธะสัญญา”ระหว่างคณะผู้บริหารชุดใหม่ที่จะได้มาฝ่ายหนึ่ง กับประชาคม มศว อีกฝ่ายหนึ่งแล้ว เอกสารดังกล่าว คงเป็นได้เพียง “สัญญาที่ไม่เป็นธรรม” หรือ “สัญญากู้เงิน” ที่เจ้าหนี้ปลอมลายมือชื่อในช่องลูกหนี้และช่องพยานด้วย เท่านั้นเอง ยิ่งมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการประชุมนัดแรกสุดของคณะทำงานชุดนี้ มีตัวแทนของพนักงานเพียง 1 คนเข้าร่วม แต่ตัวแทนข้าราชการไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยแล้ว(อันเนื่องมาจากความล่าช้าหรือข้อขัดข้องทางเทคนิคในการส่งเอกสาร ซึ่งการโทรศัพท์เพื่อconfirm เป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้เพื่อป้องกันปัญหาได้ง่ายมาก และมักนิยมทำกันอยู่แล้ว) ยิ่งทำให้สงสัยมากขึ้นไปอีกว่า ร่างนโยบายและทิศทางของ มศว ในระยะ 4 ปีข้างหน้า เป็นผลผลิตของผู้เข้าประชุมเพียง 6 ท่านเท่านั้นเองหรือ
(5)ประเด็นที่ดูน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อเนื่องจาก(4) ก็คือ อย่างน้อย ในวันที่ 14 มีนาคม 2550 ในคณะศึกษาศาสตร์และกองบริการการศึกษา คณาจารย์และบุคลากรสนับสนุนยังไม่ได้รับเอกสารร่างฯดังกล่าวเลย ขณะที่ในสำนักงานอธิการบดี กำหนดให้ส่งความเห็นภายในวันที่ 15 มีนาคม 2550 โดยที่ผู้เข้าถึงข้อมูลเอกสารดังกล่าวทางอีเล็คทรอนิคส์ เป็นเฉพาะกลุ่มผู้อำนวยการกองเท่านั้น และมีบางส่วนราชการที่คณาจารย์เพิ่งได้รับสำเนาเอกสารร่างฯวันที่ 15 มีนาคม 2550 สิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้ หากมองตามปกติ คงเป็นเพียงปัญหาการสื่อสารเท่านั้น แต่หากพิจารณาเชิงวิพากษ์ ย่อมหมายถึงว่า มีการ “มัดมือชก”ในเรื่องของเวลา และในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลสำคัญ(จะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม) ซึ่งไม่น่าจะปล่อยให้เกิดขึ้นในเรื่องที่สำคัญยิ่งยวดเช่นนี้เลย
ประเด็นวิพากษ์ที่ 3 เมื่อคณะทำงานฯจัดทำเอกสารเรียบร้อยแล้ว บทสังเคราะห์ในเอกสารอาจจะ “ไม่ตรงใจ” หรือ “ตรงกับความประสงค์”ของประชาคม มศว ก็ได้ แต่การตรวจสอบและการมีส่วนร่วมในจุดนี้ ยังไม่ปรากฏว่าจะมีขึ้นหรือไม่และอย่างไร
ประเด็นวิพากษ์ที่ 4 การกำหนดสัดส่วนและน้ำหนักของคุณลักษณะ ผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีโดยสภา มศว ตามข้อบังคับที่ใช้อยู่นี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความคิดเห็น(ซึ่งอาจจะแตกต่างได้)ของประชาคม มศว เลย และการมอบหมายให้คณะกรรมการสรรหาฯเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ นำไปสู่ประเด็นข้อกังขาที่ว่า ว่าที่อธิการบดี มศว เป็นคนที่มีคุณลักษณะตามความพอใจของคณะกรรมการสรรหาฯ หรือตามความประสงค์ในการสนองนโยบายของสภา มศว กันแน่
ประเด็นวิพากษ์ที่ 5 คณะกรรมการสรรหาฯที่สภา มศว แต่งตั้งขึ้น เป็นองค์คณะบุคคลที่สำคัญยิ่งยวดสูงสุด(the most critical group of people)เพราะเป็นกลุ่มบุคคลที่แท้จริงที่คัดเลือกว่าที่อธิการบดี แต่การให้ข้อมูลสะท้อนกลับ(feedback information and communication)ของประชาคม มศว ว่าใครไม่เหมาะสมบ้าง หรือใครเป็นที่น่าสงสัยบ้าง กลับไม่ได้รับโอกาสหรือได้รับพื้นที่การแสดงออกไว้บ้างเลย
ประเด็นวิพากษ์ที่ 6 การคัดเลือกที่คณะกรรมการสรรหาฯ ดำเนินการเพื่อให้ได้เพียง 1 ชื่อนั้น เป็นเรื่องที่ชวนสงสัยในหลายประเด็น ดังต่อไปนี้
(1)ใครร่วมพิจารณาบ้าง อย่างจริงจังแค่ไหน ใช้ข้อมูลชุดเดียวกันร่วมกันจริงหรือไม่ น้ำหนักหรือคะแนนที่ให้มีการถกเถียงกันอย่างไร หรือกระทำเป็นความลับ
(2)จุดหักเหสำหรับ“ผู้ถูกคัดออก” กับ “ผู้สอบผ่าน”คืออะไร มีผู้เห็นพ้องในจุดหักเหนั้น มากน้อยเพียงไร หรือเป็นความเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด
(3)ทำไมต้องคัดเลือกเพียง 1 ชื่อ อะไรคือหลักการทางวิชาการที่รองรับประเด็นนี้ หรือมีวาระซ่อนเร้น(hidden agenda)บางอย่างแฝงอยู่ และก่อนหน้านี้เคยเป็นเช่นนี้หรือไม่ หากมิใช่ ใครเสนอความคิดเพื่อแก้ไข ด้วยเหตุผลอะไร และใครเกี่ยวข้องบ้าง
(4)ทำไมจึงต้องกำหนดเป็นข้อห้ามอย่างชัดเจนว่า คณะกรรมการสรรหาฯจะต้องไม่ใช้วิธีการหยั่งเสียงหรือการเลือกตั้ง อะไรคือเหตุผลทางวิชาการหรือทางทฤษฎีที่ยอมรับได้ในกรณีนี้ และมีงานศึกษาวิจัยที่เป็นกรณีศึกษาที่เป็นประจักษ์รองรับหรือไม่ มากน้อยเพียงใด คำถามทางด้านหลักการและวิชาการเช่นนี้ ยากที่ประชาคม มศว ในฐานะสถาบันทางปัญญาจะบ่ายเบี่ยงในการหาคำตอบ
(5)ผู้ที่“สอบผ่าน”และ“สอบตก” ได้นำเสนอด้วยวาจาหรือไม่ และเป็นเวทีเปิดสำหรับประชาคม มศว หรือไม่ ถ้าเป็นเวทีปิดหรือแม้แต่ไม่มีเวทีเลย เหตุผลทางวิชาการคืออะไรกันแน่ และ
(6)ทำไมจึงมีช่องว่างหรือความไม่ชัดเจน ในเรื่องการลงมติของคณะกรรมการสรรหาฯ เพราะไม่กำหนดให้ชัดเจนว่าต้องได้เสียงเป็นสัดส่วนเท่าใด ขณะที่มีความชัดเจนในเรื่องสัดส่วนสำหรับการลงคะแนนเสียงของสภา มศว
ภาพรวมของประเด็นวิพากษ์นี้ก็คือ ขั้นตอนสำคัญที่สุดกลับดู “ลึกลับ” “คับแคบ” “ปิดกั้น” “น่าสงสัย” และ “เป็นประชาธิปไตยน้อยที่สุด” หากปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นจริงมีลักษณะตรงข้ามกับที่กล่าวมานี้ คงถือได้ว่าเป็นปาฏิหารย์ที่หาได้ยากยิ่ง(very rare miracle)ในประชาคม มศว และควรแก่การยินดีเป็นอย่างยิ่ง แต่โดยหลักการที่ดีแล้ว สิ่งนี้ไม่ควรเป็นข้อยกเว้น(exceptional case) เพราะ มศว ในฐานะมหาวิทยาลัยของรัฐ ควรเป็นแบบอย่างขั้นสูงขององค์การประชาธิปไตย(an excellent model of democratic organization with the highest standard and practice)
ประเด็นวิพากษ์ที่ 7 ในขั้นตอนการเสนอชื่อของแต่ละส่วนราชการ หากประมาณการดูจากเวลาจริงในขณะนี้ ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คณาจารย์พบปะสมาคมกันน้อยมาก บรรยากาศการเสนอชื่อจึงจึงดูจะหงอยเหงาและไม่น่าสนใจเอาเสียเลย ทั้งๆที่เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากทีเดียว(เพราะเป็นขั้นตอนที่ความถี่ในชื่อหนึ่งๆมีนัยสำคัญเหมือนกัน แม้จะไม่ได้เป็นการเลือกตั้งก็ตาม) ยิ่งมองกันในแง่ที่ว่า ผู้ถูกเสนอชื่อแต่ละคน จะมีโอกาสได้นำเสนอตนเองด้วยวาจาต่อประชาคมหรือไม่ ก่อนที่คณะกรรมการประจำส่วนราชการ จะเสนอชื่อไม่เกิน 3 ชื่อต่อคณะกรรมการสรรหาฯ ยิ่งดูจะน่าเศร้าจริงๆ
ประเด็นวิพากษ์ที่ 8 การลงมติรับหรือไม่รับโดยสภา มศว ที่ใช้สัดส่วนคะแนนเกินกว่ากึ่งหนึ่งนั้น แม้ดูจะสอดคล้องกับหลักการว่าด้วยเสียงส่วนใหญ่แบบสัมบูรณ์(absolute majority principle)[ซึ่งดีกว่าหลักการว่าด้วยเสียงข้างมากธรรมดา(simple majority principle)มากมายหลายเท่า]ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาดูว่าสภา มศว ไม่มี“multiple choices”มีแต่เพียง”the only single choice”เท่านั้นแล้ว การใช้เกณฑ์คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ดูจะเป็น“มาตรฐานขั้นต่ำ”ที่น่าจะไม่เหมาะอย่างยิ่ง สำหรับการได้มาซึ่งอธิการบดีของ มศว ในฐานะผู้นำของ“สถาบันแห่งพหูสูตและสัตบุรุษ”อันเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงยาวนาน เพราะตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2541 แล้ว อธิการบดีคือผู้นำเอากรอบนโยบายของสภา มศว ไปปฏิบัติให้สำเร็จ (Policy implementer) แต่ในการลงมติ กลับกลายเป็นว่า อธิการบดี มศว อาจจะเป็นเพียงผู้ที่ได้รับการยอมรับด้วยคะแนเสียงเพียง “50% บวกกับอีก 1 คะแนน” เท่านั้น อันที่จริงหากกำหนดว่า ให้คณะกรรมการสรรหาฯคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 รายชื่อเท่านั้นแล้ว การลงมติของสภา มศว น่าจะใช้เกณฑ์พิจารณาด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือถ้าสามารถใช้เกณฑ์ 3 ใน 4ได้ ยิ่งจะเป็นเกียรติภูมิแก่ มศว และคน มศว เป็นอย่างยิ่งทีเดียว
กล่าวโดยรวม บทวิพากษ์ที่ผู้เขียนสะท้อนมาทั้งหมดต้องการชี้ให้เห็นว่า ในกระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว ครั้งนี้ มี “ภาวะความสับสนในเชิงวิชาการและทฤษฎีที่สำคัญยิ่ง”(very critical academic and theoretical confusion) กล่าวคือ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ.2541 นั้น สภา มศว คือองค์คณะบุคคลสูงสุดที่ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ในการกำหนดกรอบนโยบายและทิศทางของ มศว ในช่วง 4 ปีข้างหน้า(ซึ่งโดยหลักธรรมาภิบาลและการบริหารองค์การสมัยใหม่แล้ว จะเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกในองค์การ อย่างรอบด้านและมีความหมาย) เพื่อใช้กำกับ ควบคุม และประเมินผลการปฏิบัติภารกิจของอธิการบดีคนใหม่(และคณะผู้บริหาร)เป็นระยะๆ นี่ย่อมหมายความว่าสภา มศว มีหน้าที่เป็น (1)Supreme policy maker (2)Supreme policy controller และ (3)Supreme policy evaluator ขณะที่อธิการบดีและคณะผู้บริหาร มศว เป็นเพียง Temporary selected policy implementer under periodic terms of employment แต่ในการสรรหาอธิการบดี มศว ในครั้งนี้ มีปรากฏการณ์ที่ดูออกจะประหลาดพอสมควร(peculiar phenomena) ดังต่อไปนี้
(1)สภา มศว(ในฐานะ policy maker) กลับมอบสิ่งที่เป็น“compulsory obligation”ของตนเอง ให้แก่คณะผู้บริหาร มศว(ซึ่งเป็น policy implementer เท่านั้น) ผ่านการแต่งตั้งคณะทำงานฯ ภายใต้การกำหนดของคณะผู้บริหาร มศว ซึ่งไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง อย่างจริงจัง และอย่างมีความหมายอย่างแท้จริง
(2)สภา มศว มอบหมายให้คณะกรรมการสรรหาฯ[ซึ่งประมาณกึ่งหนึ่ง(เป็นที่รู้กันว่า)อยู่ในฝ่ายของคณะผู้บริหาร] เป็นผู้จัดทำสัดส่วนและน้ำหนักของคุณลักษณะผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี มศว(ที่เชื่อมโยงกับกรอบเป้าหมาย ภารกิจ และพันธกิจ ที่คณะผู้บริหารส่วนหนึ่งได้จัดทำไว้ก่อนแล้ว)
(3)เมื่อคณะกรรมการสรรหาฯ คัดเลือกได้ 1 ชื่อแล้ว คณะกรรมการสรรหาฯทั้ง 9 ท่านก็จะลงมติว่าจะรับหรือไม่รับ โดยการให้คะแนนเสียงต่อไปในการประชุม สภา มศว อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในที่ประชุมนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า เสียงของฝ่ายบริหารมีอยู่แล้วกึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ ไม่นับรวมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก
เมื่อประมวลเงื่อนไขทั้ง 3 ประการข้างต้นเข้าด้วยกันแล้ว ในการสรรหาอธิการบดี มศว ในครั้งนี้ สิ่งที่เราเรียนรู้และ“มองออก” ก็คือ
(1)ไม่ต้องให้ประชาคม มศว มีส่วนร่วมในการให้ความเห็นก็ได้ เพราะดูเหมือนว่า ประธานคณะทำงานพยายามกำหนดเงื่อนเวลาที่ไม่ต้องการรับฟังความเห็นอย่างจริงจังและจริงใจ
(2)ไม่ต้องให้ประชาคม มศว เสนอชื่อก็ได้ เพราะดูจะไม่มีความหมายอะไรเสียแล้ว
(3)ไม่ต้องมีการสรรหาอธิการบดี มศว ดังเช่นที่ทำอยู่ก็ได้ เพราะเหตุว่า
(ก)ฝ่ายบริหารเป็นผู้จัดทำกรอบนโยบายและทิศทางของ มศว ไว้แล้วด้วยตนเอง ผ่านการแต่งตั้งคณะทำงานฯ
(ข)ฝ่ายบริหารจัดทำสัดส่วนและน้ำหนักของคุณลักษณะของว่าที่อธิการบดี มศว ไว้เองแล้ว ผ่านคณะกรรมการสรรหาฯ ที่สภา มศว มอบหมาย
(ค)ฝ่ายบริหารมีเสียงกึ่งหนึ่งอยู่แล้วในคณะกรรมการสรรหาฯ และ
(ง)ฝ่ายบริหารมีเสียงอยู่แล้วกึ่งหนึ่งในสภา มศว
(4)ไม่ต้องมีสภา มศว ในฐานะ Policy maker ก็ได้ เพราะฝ่ายบริหาร ในฐานะ Policy implementer ได้
(ก)จัดทำกรอบนโยบายและทิศทางของ มศว ไว้ล่วงหน้าแล้ว ตามที่สภา มศว มอบหมาย
(ข)เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายด้วยตนเอง เมื่อการสรรหาฯเสร็จสิ้น และ
(ค)เป็นผู้ประเมินตนเอง โดยมีเสียงกึ่งหนึ่งอยู่แล้วในสภา มศว
เหตุการณ์เช่นที่เกิดใน(ก) (ข) และ (ค) ดังที่กล่าวมานี้ ดูไม่ต่างอะไรกับการที่ให้นิสิตออกข้อสอบเอง ตรวจข้อสอบเอง และตัดเกรดเอง (แล้วเรามีจะมีอาจารย์ไว้เพื่ออะไรกัน!!!)
(5)ควรเปลี่ยนคำว่า “อธิการบดี” เป็น “อธิบดี” จะดูเหมาะกว่า เพราะดูเหมือนว่า สภา มศว หมดความจำเป็นแล้ว
(6)ปรับสถานภาพของมหาวิทยาลัยให้เป็นกรมหนึ่งของกระทรวงศึกษา คล้ายๆกับกรมการศึกษานอกโรงเรียนในอดีต เพื่อให้ความจริงในสาระ สอดคล้องกับรูปแบบภายนอก จะได้ไม่เป็นที่สับสนในทางวิชาการ

8.ข้อเรียกร้องเพื่อการเริ่มต้นอย่างสง่างามและสมเกียรติภูมิของ มศว
จากข้อวิพากษ์และข้อกังขาที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้ในหัวข้อที่ 7 ผู้เขียนขอนำเสนอข้อเรียกร้องที่ควรได้ดำเนินการ จำนวน 4 ชุด กล่าวคือ (1)ข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมาการสรรหาอธิการบดี มศว (2)ข้อเรียกร้องต่อคณะทำงานจัดทำเอกสารกำหนดเป้าหมายฯ (3)ข้อเรียกร้องต่อสภา มศว และ (4)ข้อเรียกร้องต่อประชาคม มศวโดยรวม รายละเอียดของข้อเรียกร้องแต่ละชุด มีดังต่อไปนี้

8.1 ข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมการสรรหาฯ
เพื่อให้กระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว เป็นกระบวนการที่สร้างความมีชิวิตชีวาให้แก่ประชาคม มศว และเป็นการกระตุ้นให้ชาว มศว เกิดความสนใจที่จะเรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตย(อย่างมีสำนึก) ในการบริหารราชการแผ่นดินในภาคปฏิบัติในองค์การของตนเองอย่างแท้จริง เพื่อที่ตนเองจะได้ก้าวเดินไปข้างหน้า(อย่างน้อยในระยะ 4 ปีที่กำลังจะมาถึง)อย่างรู้เท่าทันสถานการณ์และทิศทางขององค์การ และเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นผู้ร่วมสร้างที่มีความหมาย(meaningful co-contributors)อย่างน่าภาคภูมิใจ บนพื้นฐานของสภาวะจิตใจที่เป็นสุข และพร้อมเสมอสำหรับการปฏิบัติภารกิจเพื่อสังคมส่วนรวม คณะกรรมการสรรหาฯควรดำเนินการในสิ่งต่อไปนี้
(1)ประกาศหรือนำเสนอแผนปฏิบัติการ(operational plan) หรือตารางการดำเนินกิจกรรม(schedule) ในรูปของ Gantt Chart หรือ Flow Chart หรือรูปแบบอื่นๆที่ง่ายต่อการเข้าใจ ผ่านช่องทางต่างๆที่หลากหลายภายใน มศว เพื่อให้ประชาคม มศว มองเห็นภาพรวมว่า กระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว คนต่อไป เริ่มจากจุดใดและจะสิ้นสุดที่ไหน อย่างไร คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอนและแต่ละกิจกรรมเป็นใครบ้าง รวมทั้งชี้ให้เห็นว่า ประชาคม มศว (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณาจารย์และบุคลากรสนับสนุน)ควรให้ความสนใจและมีส่วนร่วม ณ จุดใด มากน้อยแค่ไหน และอย่างไรบ้าง
(2)กระตุ้นและเปิดโอกาสให้ประชาคม มศว (โดยเฉพาะในแต่ละส่วนราชการ) ได้มีส่วนร่วมในลักษณะคู่ขนานในการพิจารณาคุณสมบัติ คุณลักษณะ ให้คะแนนตามสัดส่วนและน้ำหนักผู้ถูกเสนอชื่อทุกคน(ซึ่งไม่ตอบปฏิเสธ) โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีผลผูกพันกับการตัดสินใจของคณะกรรมการสรรหาฯก็ได
(3)เปิดโอกาสให้ผู้ถูกเสนอชื่อจากส่วนราชการ ได้นำเสนอตนเองด้วยวาจา ว่าแนวทางการบริหาร มศว ของตนเองเป็นเช่นไร และควรเปิดเวทีให้ประชาคม มศว มีส่วนร่วมทั้งทางตรง(โดยการเข้าร่วมในเวทีนั้นด้วย)และทางอ้อม(โดยการติดตามชมจากโทรทัศน์วงจรปิดภายใน มศว หรือผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย)
(4)ประกาศต่อสาธารณะในประชาคม มศว เพื่อให้ทราบข้อมูลว่า “ผู้ผ่านการคัดเลือก” เหมาะสมอย่างไรบ้าง แตกต่างอย่างโดดเด่นจาก “ผู้ไม่ผ่านการคัดเลือก” อย่างไรบ้าง และหากเป็นไปได้ ควรเปิดเผยว่ากรรมการท่านใด มีผลการพิจารณาเป็นอย่างไร หากทุกอย่างที่ดำเนินไป เป็นไปในลักษณะวัตถุวิสัย(objectivity-based consideration)เป็นหลัก และอัตวิสัย(subjectivity-based consideration)เป็นรองแล้ว การเปิดเผยดังที่กล่าวมา ย่อมไม่ทำให้ผู้ใดได้รับความเสียหาย เช่นเดียวกับการอ่านและวิจารณ์ผลงานทางวิชาการในเวทีประชุมสัมมนาทั่วไป ที่อาจารย์ นักวิจัย และนักวิชาการมหาวิทยาลัยคุ้นเคยกันอยู่แล้วตามปกติ
(5)คณะกรรมการสรรหาฯควรกำหนดกรอบการประชุมว่า ในการประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 ชื่อนั้น หากกรรมการท่านใดไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้ ควรจัดทำเอกสารชี้แจงเหตุผลที่เหมาะสม และประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ให้ประชาคม มศว ได้ทราบเรื่องดังกล่าว
(6)แม้ในข้อบังคับ จะกำหนดแต่เพียงสัดส่วนของกรรมการที่เป็นองค์ประชุม ว่าไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แต่ไม่ได้ระบุองค์ประกอบไว้ก็ตาม ผู้เขียนมีความเห็นว่า คณะกรรมการสรรหาฯน่าจะทำข้อตกลงร่วมกันว่า หากขาดองค์ประกอบในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ(ไม่นับประธานกรรมการสรรหาฯ)แล้ว ไม่ควรจัดการประชุม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงการให้เกียรติต่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการเน้นย้ำว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น เป็นปัจจัยหรือเงื่อนไขที่มีนัยสำคัญยิ่ง(critically significant factor)ต่อการกำหนดทิศทางและการบริหารงานของ มศวโดยรวม

8.2 ข้อเรียกร้องต่อคณะทำงานจัดทำเอกสารกำหนดเป้าหมายฯ
แม้คณะทำงานฯดูจะมีบทบาทไม่สำคัญมากนัก ในการส่งผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการสรรหาฯ ในขั้นตอนการคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 ชื่อ และในการลงมติของสภา มศว ก็ตาม(ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะเหตุว่าข้อบังคับ ข้อ 5(1) ระบุเพียงแค่ว่า ให้คณะทำงานนำเสนอเอกสารต่อสภา มศว เพื่อพิจารณาเท่านั้น สภา มศว อาจจะพิจารณาในฐานะที่เป็นเอกสาร/ข้อมูลชั้นต้นเท่านั้น มิใช่เอกสารขั้นสุดท้ายก็ได้) แต่ในแง่ของการเรียนรู้ทางสังคม-การเมืองแล้ว เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด เพราะเป็นโอกาสเดียวในกระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว ที่ชาว มศว ทุกคนมีและสามารถแสดงออกซึ่งเสรีภาพในการคิดฝัน จินตนาการ และคาดหวังเกี่ยวกับอนาคตของ มศว ซึ่งเป็น “สถานยังชีพ” ของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น คณะทำงานฯจึงควรดำเนินการในสิ่งต่อไปนี้
(1)ประกาศตารางการทำงน(activity schedule) ผ่านช่องทางต่างๆที่หลากหลายให้ชัดเจน ว่าจะทำอะไรบ้าง เมื่อไร ที่ไหน และกับใครบ้าง และผลผลิตที่ต้องการ(expected outputs)เป็นอย่างไร เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ชาว มศว เกิดความตื่นตัวและเตรียมการในการมีส่วนร่วมได้อย่างเหมาะสม รอบคอบ และเต็มที่
(2)รายงานความคืบหน้าเป็นระยะๆ ในสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ผ่านช่องทางต่างๆที่หลากหลาย ทั้งทางตรงและทางอ้อม
(3)การรับฟังความคิดเห็น ข้อวิจารณ์ และข้อเสนอแนะ ไม่ควรเป็นการสื่อสารแบบทางเดียวเชิงตั้งรับ(one-way/passive communication) แต่ควรเน้นการสื่อสารแบบปฏิสัมพันธ์เชิงรุก(interactive/proactive communication)เป็นหลัก ผ่านเวทีจริง(actual forum) เช่น เวทีประชุมสัมมนา หรือผ่านเวทีเสมือน(virtual forum) เช่น เว็บไซต์ เป็นต้น
(4)หากเป็นไปได้ ก่อนที่จะมีการส่งเอกสารกำหนดเป้าหมายฯ ที่ได้สรุปและสังเคราะห์แล้วให้แก่สภา มศว คณะทำงานฯควรเปิดโอกาสให้ประชาคม มศว ได้ร่วมพิจารณาภาพรวมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้รับรู้ผลผลิตรวมร่วมกัน(common understanding of collaborative final output) ก่อนที่สภา มศว จะพิจารณา หากมีกรณีที่จำเป็นต้องปรับแก้ไขในบางประเด็น ก็สามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมและทันกาล
(5)ดูเหมือนว่าคณะทำงานฯจะหมดภารกิจ เมื่อเสนอเอกสารต่อสภา มศว แล้ว ผู้เขียนคิดว่า แม้ในแง่นิตินัย ภารกิจของคณะทำงานฯอาจเสร็จสิ้นก็จริงอยู่ แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการสรรหาฯเท่านั้น ดังนั้น ในแง่พฤตินัย คณะทำงานฯชุดนี้ น่าจะผันตัวเองไปเป็นคณะทำงานเพื่อติดตามผลและรายงานผลการสรรหาอธิการบดี มศว โดยให้มีตัวแทนจากเครือข่ายผู้สนใจ จากทุกส่วนราชการเข้าร่วมดำเนินการ อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง นี่คือองค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่เป็นทางการ และไม่ต้องอาศัยฐานอำนาจรัฐ(สภา มศว)มารองรับ แต่มีศักยภาพสูงมากในการขับเคลื่อนกระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว ให้เป็นกระบวนการเปิดที่มีชีวิตชีวา(lively and open process) เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข(learning with happiness)และไม่ทำให้สมาชิกประชาคม มศว รู้สึกแปลกแยกทางด้านองค์การ(organizational alienation)จนอาจนำไปสู่ความเฉยเมย(indifference) และเฉื่อยชา(inertia) หรือแม้กระทั่งเป็นปฏิปักษ์(antagonism)ในภายหลัง
และเมื่อสิ้นสุดการสรรหารอธิการบดี มศว องค์กรประชาสังคมเช่นว่านี้ ควรจะผันตัวเองอีกครั้งหนึ่ง สู่การเป็นองค์กรสื่อกลาง(medium/buffer organization) ระหว่างประชาคม มศว กับคณะผู้บริหารและสภา มศว เพื่อให้ช่องว่างอันเนื่องมาจากนโยบายและคำสั่งของฝ่ายบริหาร และการปฏิบัติภารกิจของฝ่ายผู้ปฏิบัติและคณาจารย์เหลือน้อยที่สุด โดยผ่านกระบวนการเจรจา(negotiation) และสุนทรียเสวนา(deliberative dialogue) ซึ่งเป็นกระบวนการที่สร้างสรรค์และก่อให้เกิดความก้าวหน้าแก่องค์การ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความสุข รู้สึกมีคุณค่า และสังคมส่วนรวมได้รับประโยน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามควรแก่กรณี

8.3 ข้อเรียกร้องต่อสภา มศว
สภา มศว มีความสำคัญสูงสุดนับแต่จุดเริ่มต้น และแสดงบทบาทสูงสุดอีกครั้งหนึ่งในขั้นตอนเกือบสุดท้าย ก่อนได้อธิการบดี มศว ตัวจริง ข้อเรียกร้องต่อสภา มศว เกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดี มศว มีดังต่อไปนี้
(1)อำนวยความสะดวก ประสานงาน และให้โอกาสแก่คณะทำงานจัดทำเอกสารกำหนดเป้าหมายฯ ได้ทำงานด้วยระบบเปิดอย่างเต็มที่ในแง่ของช่วงเวลา และครอบคลุมผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียให้มากที่สุดทุกระดับและทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวางกรอบและจุดเน้นให้ประชาคม มศว มีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมมากที่สุด ในการให้ข้อมูล ข้อวิจารณ์ และข้อคิดเห็นเพื่อกำหนดทิศทางที่พึงประสงค์ของ มศว ในระยะอีก 4 ปีข้างหน้า
(2)เผยแพร่เอกสารที่คณะทำงานฯจัดทำเสร็จแล้วต่อประชาคม มศว ในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่าย ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ส่งเป็นสำเนาไปยังคณะและภาควิชา หรือปิดประกาศในป้ายสาธารณะภายใน มศว หรือส่งเข้าไปในเว็บไซต์ของสภาคณาจารย์ฯ ที่จัดไว้เป็นการเฉพาะในเรื่องของการสรรหาอธิการบดี มศว
(3)เปิดโอกาสให้ประชาคม มศว มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย ในกระบวนการกำหนดสัดส่วนและน้ำหนัก ของคุณลักษณะของผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี มศว คนต่อไป(ตามที่สภา มศว ได้มอบหมายให้คณะกรรมการสรรหาฯรับผิดชอบในเรี่องดังกล่าวแล้ว ในกระบวนการสรรหาฯครั้งนี้) ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของประชาคม มศว ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งผูกมัดการตัดสินใจของสภา มศว แต่อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของชาว มศว ทั้งหมดที่มีต่อว่าที่อธิการบดี มศว คนต่อไป ย่อมมีคุณค่าและมีประโยชน์สูงยิ่ง ต่อสัมฤทธิ์ผลและความราบรื่นในการปฏิบัติภารกิจของอธิการบดี มศว คนใหม่อย่างปฏิเสธไม่ได้
(4)ในการลงมติของสภา มศว ว่ากรรมการสภา มศว แต่ละคนจะให้คะแนนผู้ถูกเสนอชื่อมา 1 ชื่อหรือไม่นั้น ควรกำหนดแนวทางให้กรรมการสภา มศว แต่ละคน จัดทำเอกสารความเห็นประกอบการลงคะแนน และเผยแพร่ต่อประชาคม มศว ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านช่องทางต่างๆที่หลากหลาย เหตุผลที่ผู้เขียนมีข้อเสนอเช่นนี้ เนื่องจาก
1)ข้อบังคับมิได้ระบุให้การลงคะแนนเสียงเป็นความลับแต่อย่างใด
2)การจัดทำความเห็นในการลงคะแนนของกรรมการสภา มศว มิได้ถูกกำหนดให้เป็นข้อห้ามแต่อย่างใด
3)ขณะที่ทำการลงมติ สภา มศว เป็นคณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดของ มศว จึงไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าความเห็นของตนที่จะไม่รับ“ว่าที่อธิการบดี”ที่ถูกเสนอมาเพียง 1 คนนั้น จะทำให้ไม่เป็นที่พอใจแก่ผู้ใด ณ จุดนี้ เกียรติสูงสุดของกรรมการสภา มศว คือการให้ความเห็นที่มีเหตุมีผล อย่างซื่อสัตย์ และอย่างตรงไปตรงมา เพื่อประโยชน์ของ มศว และสังคมส่วนรวม โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องทั้งปัจจุบันและอนาคต มาเป็นปัจจัยกำหนดการให้ความเห็น หรือ มาเป็นวาระซ่อนเร้น(hidden agenda) แต่อย่างใด
4)แนวทางเช่นนี้จะเป็นมาตรฐานขั้นสูงที่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต และจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่มหาวิทยาลัยอื่นๆด้วย และ
5)ผู้ที่ผ่านการลงมติและได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นอธิการบดี มศว คนต่อไป(ซึ่งมีวาระเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น) จะได้รับรู้จุดอ่อนหรือข้อด้อยของตนเอง เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้เป็นปัจจัยบวก จนได้รับการยอมรับและเกิดประโยชน์ต่อ มศว ต่อไป
(5)สภา มศว ควรกำหนดกรอบไว้ว่าในการลงมติ กรรมการสภา มศว ท่านใดที่ไม่อาจจะเข้าร่วมประชุม เพื่อลงมติ สามารถจะลงคะแนนพร้อมเสนอเอกสารความเห็นล่วงหน้าได้ หากข้อเสนอนี้ไม่ขัดต่อข้อบัญญัติในพระราชบัญญัติ มศว หรือระเบียบอื่นๆแล้ว จะเป็นสิ่งที่รองรับระดับการยอมรับของอธิการบดี มศว คนใหม่ได้อย่างดีทีเดียว เนื่องจากข้อบังคับ ข้อ 10 วรรคสาม กำหนดว่า “ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ .... จะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมด”(เน้นโดยผู้เขียน) การเน้นว่า“ทั้งหมด”สะท้อนเจตนาอย่างชัดเจน ที่ต้องการให้คณะกรรมการสรรหาฯทุกคนได้ร่วมตัดสินใจลงคะแนน
(6)อย่างไรก็ตาม หากข้อเสนอ(5)ไม่สามารถดำเนินการได้ สภา มศว ควรกำหนดให้กรรมการสภา มศว ที่ไม่อาจลงคะแนนได้ จัดทำเอกสารเพื่อชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถร่วมประชุมลงมติได้ หากการลงคะแนนเสียงเพื่อลงมติเกี่ยวกับอธิการบดี มศว เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดต่ออนาคตและความสำเร็จของ มศว แล้ว การลงคะแนนเสียงโดยสภา มศว จึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับการประกันว่า จะเกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียงอย่างสมบูรณ์และอย่างจริงจัง
(7)การนัดประชุมของสภา มศว เพื่อลงมติในการสรรหาอธิการบดี ควรถือเป็นวาระสำคัญพิเศษที่องค์ประชุมครบสมบูรณ์ 100 % เพราะในเรื่องที่สำคัญที่สุดเช่นนี้ ควรให้เกียรติและให้ความสำคัญสูงสุดแก่กรรมการสภา มศว ผู้ทรงคุณวุฒิ ทุกคะแนนเสียงมีคุณค่ายิ่งต่ออนาคตของ มศว ดังนั้น การนัดหมายเพื่อการประชุมเพื่อลงมติดังกล่าว จึงควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษต่างจากวาระอื่นๆที่ผ่านมาตามปกติทั้งหมด

8.4 ข้อเรียกร้องต่อประชาคม มศว โดยรวม
เมื่อเปรียบเทียบ มศว ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัย กับกรมอื่นๆ หรือจังหวัดทุกจังหวัดในประเทศไทย(จะยกเว้นก็แต่กรณีของ องค์การปกครองท้องถิ่นทุกประเภท) จะเห็นได้ว่า แม้ มศว กรม และจังหวัด จะเป็นส่วนราชการระดับเดียวกันในระบบราชการไทย แต่การได้มาซึ่งอธิบดีและผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นกระบวนการแต่งตั้งที่ค่อนข้างปิดตามแนวดิ่ง และตามสายการบังคับบัญชา และยึดโยงกับสภาวะการอุปถัมภ์แฝงเร้น(close, vertical, hierarchical and patronage-related appointment) แต่การได้มาซึ่งอธิการบดี มศว เป็นกระบวนการสรรหาที่ผสมผสานระหว่างลักษณะที่กล่าวมาบางส่วน กับลักษณะเปิดตามแนวระนาบ ที่เปิดโอกาสให้กับการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง และอิงกับระบบคุณธรรม(mixed approach to recruitment linking with open, horizontal, participatory and merit-based characteristics) ดังจะเห็นได้จากข้อเท็จจริงต่อไปนี้
(1)คณาจารย์และบุคลากรทั้งหมดที่มีคุณสมบัติครบ สามารถมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อ“ว่าที่อธิการบดี”
(2)ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. คณาจารย์และบุคลากรจำนวนมาก มีสิทธิ์ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็น “ว่าที่อธิการบดี” และสามารถเสนอชื่อของตนเองได้ด้วย(ยกเว้นบางคนที่ไม่มีสิทธิ์)
(3)ประชาคม มศว ทั้งหมดในทุกส่วนราชการ สามารถมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อจัดทำกรอบนโยบายและทิศทางของ มศว ในระยะ 4 ปีข้างหน้า
(4)กรอบนโยบายและทิศทางใน(3)ที่ประชาคม มศว มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ จะเป็นเครื่องกำหนดคุณสมบัติว่าใครควรเหมาะสมเป็นอธิการดีของ มศว ด้วย
(5)ผู้ที่จะเป็นอธิการบดีของ มศว ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการก็ได้
(6)หากผู้ถูกเสนอชื่อเป็นข้าราชการ ไม่จำเป็นต้องมีระดับ 9 หรือ ระดับ 10 ดังเช่นในกรณีของอิบดีกรม หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
ดังนั้น สิ่งที่ประชาคม มศว ควรตระหนักเป็นอย่างยิ่ง ในการสรรหาอธิการบดี มศว ครั้งนี้ ก็คือ มหาวิทยาลัยเป็นองค์การราชการ ในระบบบริหารราชการส่วนกลางเพียงประเภทเดียว ที่คณาจารย์และบุคลากรสนับสนุนทั้งหมด มีโอกาสเสนอชื่อผู้บริหารสูงสุดขององค์การในตำแหน่งอธิการบดี กล่าวให้ชัดเจนขึ้นก็คือ อนาคตของ มศว จะเป็นอย่างไร เงื่อนไขการทำงาน(work conditions) และชีวิตในหน้าที่การงานและในองค์การของบุคลากร(organizational and work life)จะเป็นอย่างไร รวมทั้งความสุข ความทุกข์ ความขัดแย้ง และความยังประโยชน์ให้เกิดแก่สังคม ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับประชาคม มศว ในโอกาสนี้เป็นสำคัญทีเดียว
ข้อเสนอของผู้เขียนต่อประชาคม มศว ในการสรรหาอธิการบดี มศว ที่กำลังจะเสนอต่อไปนี้ เป็นข้อเสนอที่ตรงไปตรงมา แม้อาจจะดูแข็งกร้าวอยู่บ้างในบางส่วน แต่ก็เป็นข้อเสนอที่จริงใจต่อประชาคม มศว และตั้งอยู่บนความปรารถนาดีต่อประชาคม มศว และทุกชีวิตที่ร่วมงานในประชาคม มศว และที่สำคัญก็คือ ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่าทุกชีวิตใน มศซ มีคุณค่า มีความหมาย และมีเกียรติภูมิมากพอที่จะคิดฝันและตัดสินใจอย่างเป็นกลาง อย่างมีเหตุผล อย่างรอบคอบ-รอบด้าน และอย่างกล้าหาญ เพื่อกำหนดชะตากรรมของตน ผ่านช่องทางการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี มศว
ผู้เขียนขอเสนอว่า ประชาคม มศว ควรเริ่มต้นในการเกี่ยวข้องสัมพันธ์ กับการสรรหาอธิการบดี มศว ด้วยฐานคิดที่ประกอบด้วย การตั้งคำถาม 4 ข้อ(หรือจตุปุจฉา) ดังต่อไปนี้
(1)อธิการบดีคนปัจจุบันและคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติภารกิจได้น่าพึงพอใจเพียงไร ในมิติที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของมหาวิทยาลัย ในการรับใช้และตอบสนองต่อความต้องการของสังคม(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เป็นธรรมในสังคม) ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอน การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการแก่ชุมชน การทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม รวมทั้ง การบริหารองค์การในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานบุคคล การรักษาขวัญและกำลังใจ การส่งเสริมสวัสดิการ การเงินการคลัง การพัสดุและอาคารสถนที่ และอื่นๆ
(2)ผลของการปฏิบัติภารกิจเหล่านั้น เกิดจากกระบวนการ หรือวิธีการ หรือแบบแผนของการใช้อำนาจ(Style of management and power use)แบบใด [ระหว่างประชาธิปไตย ที่เน้นการมีส่วนร่วม และให้กำลังใจ(democratic/participatory/encouraging) กับ เผด็จการอำนาจนิยม แบบรวมศูนย์ ที่บั่นทอนกำลังใจ(authoritarian/centralized/discouraging)] และเป็นที่น่าพอใจแล้วหรือไม่ อย่างไร
(3)ผู้ร่วมปฏิบัติงานทุกระดับใน มศว ได้รับการยอมรับ และได้รับเกียรติเพียงพอแล้วหรือไม่ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสำเร็จ และแบบแผนการจัดการดังที่กล่าวมาใน (1) และ (2)
(4)ท่านคิดว่า ที่ผ่านมาเกือบ 4 ปี ท่านทำงานด้วยความสุข เต็มกำลังความสามารถ เพื่อยังประโยชน์ให้แก่ มศว และสังคมไทยโดยรวมแล้วหรือยัง และการประเมินของท่านในข้อนี้สัมพันธ์กับ (1) (2) และ(3) ที่กล่าวมาอย่างน่าพอใจหรือไม่ เพียงใด
บนฐานคิดที่วางอยู่บน“จตุปุจฉา”ที่กล่าวมาสักครู่ ผู้เขียนมีความเห็นว่าชาว มศว ต้องตัดสินใจในประเด็นต่อไปนี้ให้ได้ และได้อย่างแจ่มชัดด้วย
(1)จะให้อธิการบดีคนปัจจุบัน เป็นอธิการบดีในวาระที่ 2 หรือไม่(บนข้อสันนิษฐานที่ว่า ท่านมิได้เป็นกรรมการสรรหาฯ ท่านจึงมีสิทธิ์เสนอชื่อท่านเอง หรือถูกคนอื่นเสนอชื่อได้อีกครั้งหนึ่ง)
(2)ถ้าอยากให้อธิการบดีคนปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งต่อไปในวาระที่ 2 ท่านได้เตรียมข้อเสนอเชิงนโยบาย(ในบางประเด็น)ที่มีความชัดเจนเอาไว้แล้วหรือยัง เพื่อเสนอต่อคณะทำงานฯ
(3)ถ้าท่านเห็นตรงข้ามกับ (2) และอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงอธิการบดี มศว เป็นบุคคลอื่น ท่านต้องมีเหตุผลที่อธิบายได้ และมีคำตอบว่าท่านจะเสนอใครที่เหมาะสมกว่าในทุกๆด้านหรือเสมอกัน ด้วยเหตุผลใด พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบาย(ในบางประเด็น)ที่ชัดเจนด้วย
(4)ไม่ว่าคำตอบใน (1) (2) และ(3)จะเป็นอย่างไรก็ตาม
(ก)ชาว มศว ทั้งหมด ควรเข้าร่วมในการเสนอชื่อให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้[เพราะในกรณีนี้ ปริมาณที่เหมาะสม(critical mass)จะแปรเปลี่ยนไปเป็นคุณภาพ ที่มีพลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ดังที่มีคติไทยโบราณว่า “ฟางเส้นเดียว ทำให้โคหลังหัก” และมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ นักปฏิบัติว่าด้วยเกษตรธรรมชาติ ก็ประกาศก้องโลกในหนังสือชื่อว่า“ปฏิวัติยุสมัย ด้วยฟางเส้นเดียว”]
(ข)ชาว มศว ควรร่วมในการให้ความคิดเห็นให้มากที่สุดในประเด็นที่ชดเจนและตรงกัน และ
(ค)ชาว มศว ควรร่วมติดตามกระบวนการสรรหาฯอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ เพื่อยืนยันและคงความหมายที่ว่า การสรรหาอธิการบดี มศว ครั้งนี้ คือ การกำหนดชะตากรรมของท่านด้วยเช่นกัน เพราะนี่คือ จุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่ง(critical turning point) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการนำ มศว ออกนอกระบบราชการ(หรืออาจจะเป็นการนำใครบางคนออกนอกระบบ มศว!!!)โดยไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับได้ว่า ข้าราชการที่เหลืออยู่จะมีความมั่นคงและก้าวหน้าในชีวิตราชการอย่างสมศักดิ์ศรี ได้อย่างไร และระบบพนักงานที่มีอยู่จะได้รับการพัฒนาให้มั่นคง ให้ก้าวหน้า และสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในอาชีพ ได้อย่างไร

9.ข้อเสนอแนะสำหรับอนาคตเกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดี มศว
เราคงต้องยอมรับร่วมกันโดยไม่สามารถหาข้อปฏิเสธใดๆได้ว่า ในรัฐธรรมนูญของประเทศ ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประเด็นว่าด้วยการสร้างสำนึกประชาธิปไตยและการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย เป็นเป้าหมายที่สำคัญประการหนึ่งของการจัดการศึกษาของชาติ และของการปฏิบัติภารกิจของสถาบันการศึกษา และบนรากฐานความคิดข้างต้น เราคงจะปฏิเสธได้ยาก(หรือไม่สามารถสร้างข้อยกเว้นพิเศษ)ว่า กระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว จำเป็นต้องน้อมนำเอาจิตวิญญาณและวิถีเพื่อประชาธิปไตยมาผนวกเข้าไว้ด้วย ที่ผู้เขียนนำเสนอเช่นนี้ มิใช่เพื่อต้องการแปลงเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เป็น “เวทีต่อสู่เพื่ออำนาจทางการเมือง”(Battle field for political power) เช่นที่พรรคการเมืองและนักการเมืองพอใจที่จะกระทำกันอยู่เสมอตามปกติ ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและในเวทีต่างๆเมื่อมีโอกาส
มศว สามารถเป็นตัวแบบขององค์การราชการ ในระบบบริหารราชการแผ่นดินที่มีจิตวิญญาณและวิถีองค์การแบบประชาธิปไตยได้โดยไม่ยาก หากผู้เกี่ยวข้องมีความจริงใจและจริงจัง เพราะวิถีแห่งวิชาการและการแสวงหาความรู้ของชาว มศว ไม่ใช่วิถีแห่งอำนาจนิยมแต่ดั้งเดิม ทั้งในเชิงปรัชญาและในเชิงปฏิบัติ หากจะมีใครบางคนตั้งข้อรังเกียจหรือข้อท้วงติงว่า การเรียกร้องประชาธิปไตยใน มศว อาจจะเป็นการทำให้การบริหารการศึกษากลายเป็นเรื่องของการเมืองมากเกินไป ผู้เขียนไม่อาจโต้แย้งว่าข้อท้วงติงดังกล่าวนั้นผิดหรือถูกประการใด แต่ผู้เขียนสามารถยืนยันได้ว่า ด้วยเงื่อนไขของความเป็น มศว และด้วยเงื่อนไขของความเป็นพหูสูตและความเป็นสัตบุรุษของคน มศว จำนวนมากมาย หากกระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว จะมีลักษณะเป็นกระบวนการทางการเมืองอยู่บ้าง ก็คงสามารถเป็นการเมืองในลักษณะ “อารยวิถี”ได้ หาใช่จำเป็นต้องเข้าลักษณะของการเมืองแบบ “อนารยวิถี” ตามคติของนักการเมืองประเภทนักเลือกตั้งไม่
ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะ 2 ชุด เพื่อให้กระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว เป็นกระบวนการประชาธิปไตยแบบ “อารยวิถี” ดังต่อไปนี้
ข้อเสนอชุดที่ 1 ข้อเสนอเชิงกระบวนการ(Process-related proposition) ในข้อเสนอชุดนี้ ผู้เขียนขอเสนอว่า
(1)สภา มศว ควรตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ(ad hoc working group)ขึ้นมาหนึ่งคณะ โดยมีตัวแทนจากทุกส่วนราชการใน มศว และตัวแทนเหล่านี้ ได้มาจากกระบวนการนำเสนอตนเองแบบเปิดเผย(open self-presentation) และการลงคะแนนลับ(secret voting)
(2)ให้คณะทำงานเฉพาะกิจชุดนี้ เปิดเวทีสุนทรียเสวนาด้วยช่องทางที่หลากหลาย เพื่อสะท้อนประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการส่งเสริมสำนึกประชาธิปไตย ในกระบวนการสรรหาอธิการบดีของ มศว
(3)เมื่อคณะทำงานเฉพาะกิจ ทำการรวบรวมข้อวิพากษ์และความคิดเห็น และได้สังเคราะห์ข้อมูลเสร็จสิ้นแล้ว ให้คณะทำงานฉพาะกิจนำเสนอต่อประชาคม มศว อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มีการปรับแต่งและแก้ไขบางประเด็นตามสมควร ก่อนนำเสนอสภา มศว ต่อไป
(4)สภา มศว ดำเนินการเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว โดยการจัดทำข้อบังคับ มศว ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี ฉบับใหม่ ทดแทนฉบับ พ.ศ. 2541
จากที่เสนอมา จะเห็นได้ว่าไม่ว่าเนื้อหาของการแก้ไขกระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม คุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากข้อเสนอข้างต้นย่อมมีขึ้น ดังต่อไปนี้
(1)คน มศว ได้เกิดความรู้สึกว่า ตนเองเป็นผู้ที่มีค่าและมีความหมายต่อ มศว ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
(2)คน มศว ได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกันอย่างใกล้ชิด อย่างต่อเนื่อง และอย่างเปิดเผย ด้วยบรรยากาศที่เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ในประเด็นว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี มศว อย่างมีความสุข(จากที่เคยเป็น “untouchable and horrible issue” ดังเช่นในอดีต) จนสำนึกประชาธิปไตยเบ่งบานในจิตใจอย่างเสรีและมั่นคง จนยากที่จะถูกทำลายลงไปได้ในอนาคต
(3)การยอมรับและศรัทธาของคน มศว ในระดับสูงและลึกซึ้งต่ออธิการบดี มศว คนใหม่ และ
(4)การทุ่มเทในการทำงานร่วมกับอธิการบดี มศว คนใหม่แบบสุดจิตสุดใจหรือแบบถวายหัว เพื่อ มศว และเพื่อสังคมไทยโดยรวม จะกลายเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมองค์การตามปกติของคน มศว เป็นวิถีชีวิตที่ความสุขในงาน คุณค่าและความหมายของชีวิต และการเสียสละทุ่มเทเพื่อการบรลุเป้าหมายของการงาน ดำเนินไปบนเส้นทางแห่งกัลยาณมิตรเส้นทางเดียวกัน อย่างเสรีและราบรื่น จน มศว กลายเป็นองค์การเรียนรู้บนฐานความสุขที่มุ่งสู่ความสำเร็จ(Success-oriented and happiness-based learning organization)อย่างน่าชื่นชมยิ่ง
(5)หากข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาฯฉบับใหม่ มีปัญหาในการนำไปปฏิบัต ชาว มศว ในฐานะ“ผู้ร่วมสร้างมากับมือ” ก็สามารถจะมองปัญหานั้นออกได้อย่างชัดเจน และรู้ว่ามาจากต้นเหตุใด และควรปรับแก้ไขอย่างไรต่อไปอีก ในลักษณะ“ผิดเป็นครู เรียนรู้ไม่จบสิ้น”(dynamic learning through cyclical trial and error)
ข้อเสนอชุดที่ 2 ข้อเสนอเชิงเนื้อหาสาระ(Substance-related proposition) ในข้อเสนอชุดนี้ ผู้เขียนขอเสนอว่า ประเด็นต่อไปนี้ควรได้รับการแก้ไขโดยเร็วในข้อบังคับ มศว ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2541
(1)เงื่อนไขเวลาในการเริ่มดำเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งอธิการบดี มศว คนใหม่ ควรไม่น้อยกว่า 180 วัน เพื่อส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม และการติดตามความคืบหน้าในขั้นตอนต่างๆ โดยไม่ต้องรู้สึกถูกบีบคั้นเพราะความรีบเร่ง
(2)ผลการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จากทุกส่วนราชการของคณะทำงานที่สภา มศว แต่งตั้ง ขึ้น เพื่อจัดทำเอกสารกำหนดเป้าหมายฯ ควรได้รับความสำคัญจากสภา มศว อย่างจริงจังมากขึ้น และก่อให้เกิดผลเชื่อมโยงอย่างจริงจังต่อขั้นตอนการสรรหาอธิการบดี มศว มิฉะนั้นแล้ว คณะทำงานดังกล่าวจะถูกประเมินจากประชาคม มศว ว่ามีสถานะเป็นเพียงตรายางที่ไร้ความหมาย เพียงเพื่อให้เหตุการณ์ผ่านไปพอเป็นพิธี(meaningless rubber stamp under tokenism or artificial justification)เท่านั้น
(3)องค์ประกอบของคณะกรรการสรรหาฯ ควรมาจากประชาคม มศว ด้วยจำนวนที่สมดุลกับองค์ประกอบจากสภา มศว และไม่ควรขาดองค์ประกอบในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก เมื่อต้องมีการพิจารณาและตัดสินใจร่วมกันของคณะกรรมการสรรหาฯ
(4)ในการพิจารณาและตัดสินใจของคณะกรรมการสรรหาฯ ควรกำหนดให้มีการลงมติด้วยสัดส่วนที่ชัดเจน เช่น 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด เป็นต้น
(5)การหยั่งเสียงเป็นขั้นตอนที่ควรกำหนดให้มีขึ้น และเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ควรนำเข้ามาร่วมพิจารณา ก่อนที่สภา มศว จะลงคะแนนเสียง เพราะกลไกนี้เป็นสิ่งที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการเมืองแบบประชาธิปไตยเต็มรูป(การเลือกตั้งแบบการเมืองเพื่ออำนาจรัฐ) และการเมืองแบบเผด็จการอำนาจนิยมในองค์การ(การสรรหาฯแบบ “ปิดและปิดลับ”) การไม่ให้ช่องทางการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายเหลือไว้บ้างเลย ในประชาคมของชาวมหาวิทยาลัย เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่น่าเป็นห่วงมาก และหมิ่นเหม่ต่อการเอื้อให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบายได้ในภายหลัง เช่นที่ได้เกิดขึ้นแล้วในระบบการเมืองของประเทศเมื่อไม่นานมานี้ ภายใต้ระบอบทักษิณ(Taksinocracy)
(6)ชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี ที่คณะกรรมการสรรหาฯจะพิจารณาและคัดเลือก เพื่อเสนอต่อสภา มศว ควรมีมากกว่าเพียง 1 ชื่อดังเช่นที่เป็นอยู่ แต่อาจจะไม่เกิน 5 ชื่อ เพื่อให้สภา มศว ได้มีโอกาส“พิจารณาเลือกและตัดสินใจ” มากกว่าแค่เพียง “รับหรือไม่รับ” เท่านั้น ประเด็นนี้ เป็นการเน้นว่ากรรมการสภาม มศว ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒินั้น เป็นผู้ที่ควรได้รับความเคารพทั้งในแง่ทฤษฎีและการปฏิบัติ ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบที่มีนัยสำคัญสูงยิ่ง(supremely significant component) ในการกำหนดทิศทางและกำกับควบคุมการบริหารงานโดยรวมของ มศว
(7)การนำเสนอตนเองแบบเปิดและเสรี(open and free self-presentation)ของบรรดาผู้ถูกเสนอชื่อในระดับส่วนราชการ ก่อนที่จะมีการคัดเลือกให้เหลือเพียง 3 ชื่อ ควรกำหนดให้มีขึ้นอย่างเหมาะสมในข้อบังคับ
(8)การนำเสนอตนเองแบบเปิดอย่างเสรีของบรรดาผู้ถูกเสนอชื่อ ก่อนคณะกรรมการสรรหาฯคัดเลือกให้เหลือเพียง 3-5 ชื่อ ควรกำหนดให้มีขึ้นอย่างเหมาะสมในข้อบังคับเช่นกัน

10.บทสรุปในฐานะก้าวแรกของการเริ่มต้น
ในบรรยากาศของการเริ่มต้นกระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว ประจำปี 2550 สุ้มเสียงที่ปรากฏใน มศว แบ่งได้เป็นอย่างน้อย 4 ลักษณะดังนี้
ลักษณะที่ 1 เป็นเสียงของกลุ่มบุคคลที่สะท้อนความสนใจและความรู้สึกอยากรู้ว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นบ้างเกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดี มศว กระบวนการจะดำเนินไปอย่างไร และตนเองจะสามารถมีส่วนร่วมได้บ้างหรือไม่ อย่างไร กล่าวโดยรวม กลุ่มนี้มองสถานการณ์ด้วยความสนใจและด้วยทัศนะเชิงบวก(active group with positive view of hope)
ลักษณะที่ 2 เป็นเสียงที่สะท้อนออกมาของกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน แต่ดูเหมือนจะแฝงความรู้สึกในลักษณะสิ้นหวัง(hopeless) โดยเห็นว่า ไม่ว่าอะไรจะดำเนินไปในกระบวนการดังกล่าว ตนเองคงทำอะไรไม่ได้ คล้ายกับว่ามีการกำหนดผลบั้นปลายไว้ล่วงหน้าแล้ว หรืออะไรที่ตนเองอาจจะได้ทำ(มิใช่ทำได้)ก็ดูจะไร้ความหมายที่ควรจะเป็น กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มองสถานการณ์ด้วยความสนใจ แต่ก็มีทัศนะในเชิงลบแฝงอยู่ภายใน(active group with negative view of hope)
ลักษณะที่ 3 เป็นเสียงของกลุ่มที่ไม่ได้ให้ความสนใจว่าจะมีการสรรหาใครอยู่ ในเรื่องอะไร เมื่อไร และอย่างไร หรือแม้แต่ประเด็นที่ว่า ตนเองจะต้องเกี่ยวข้องหรือมีบทบาทด้วยหรือไม่ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ให้ความสนใจและไม่อยากรับรู้ด้วย(inactive group with indifference)
ลักษณะที่ 4 เป็นเสียงของกลุ่มที่คล้ายกับกลุ่มที่ 3 หากแต่มีความแตกต่างกันตรงที่ว่า กลุ่มนี้มองกิจกรรมการสรรหารอธิการบดี มศว เป็นเรื่องของการเมืองในองค์การในความหมายลบที่น่ารังเกียจและชั่วร้าย(dirty, unpleasant and destructive administrative politics) และตนเองก็ไม่ประสงค์ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้ บางครั้งก็อาจจะมีทัศนะที่ไม่เป็นมิตรต่อผู้ที่ให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าวด้วย กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่นอกจากจะไม่ให้ความสนใจแล้ว ยังอาจจะต่อต้านการมีส่วนร่วมด้วย(inactive group with anti-participatory view)
ปรากฏการณ์ของการเกิดขึ้นและการดำรงอยู่ ของความหลากหลายของสุ้มเสียงในประชาคม มศว เกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดี มศว ดังที่เพิ่งกล่าวมา ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเอง(spontaneous generation) แบบที่ภาษไทยโบราณเรียกว่า “ไม่มีปี่ ไม่มีขลุ่ย” หากมองจากมุมสังคมศาสตร์ ผู้เขียนตั้งข้อสงสัยว่า คงต้องมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นมาก่อนในกระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว ที่มีมาก่อนหน้านี้ ซึ่งส่งผลต่อการเกิดขึ้นและการปรากฎตัวของสุ้มเสียงทั้ง 4 แบบดังที่กล่าวมา ความใคร่อยากที่จะรู้ว่า การสรรหาอธิการบดี มศว ที่เป็นมาก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร กลายเป็นโจทย์ตั้งต้นที่กระตุ้นให้ผู้เขียนจัดทำบทความนี้ขึ้นมา
ผู้เขียนได้พยายามสะท้อนภาพรวมของกระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว และได้ชี้ให้เห็นว่า ลักษณะสำคัญที่แฝงเร้นอยู่ในข้อบังคับ มศว ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2541 ก็คือ ลักษณะที่ “ปิด(close)และปิดลับ(confidential)” ผู้เขียนได้สะท้อนทัศนะเชิงวิพากษ์ต่อกระบวนการสรรหาฯดังกล่าว โดยเน้นว่า อธิการบดี มศว คือ ผู้นำการแปลงรูปองค์การ “จาก มศว ที่รวมศูนย์อำนาจ/เสี่ยงภัยกับความล้มเหลวเพราะความไม่รู้ และการสลายพลังร่วม ไปสู่ มศว ที่เน้นการระดมสรรพกำลัง/มุ่งสู่ความก้าวหน้าทางปัญญา บนฐานความสุขใจในการทำงาน” และผู้เขียนได้นำเสนอว่า ผู้นำที่พึงประสงค์ในบริบทดังกล่าวจำเป็นต้องมีคุณลักษณะสำคัญ กล่าวคือ เป็นผู้นำที่มีลักษณะ“SANE & SMART” ซึ่งกระบวนการสรรหาฯแบบ“ปิดและปิดลับ” ดังที่เป็นอยู่ไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควรในการได้มาซึ่งผู้นำเช่นนั้น

ผลจากการวิพากษ์ในหลายประเด็นที่ผู้เขียนสะท้อนออกมา นำไปสู้ข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะหลายประการ ทั้งต่อคณะกรรมการสรรหาฯ ต่อคณะทำงานจัดทำเอกสารกำหนดเป้าหมายฯ ต่อสภา มศว รวมทั้งต่อประชาคม มศว ด้วยเช่นกัน เพื่อให้กระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว มีลักษณะแบบ “เปิด(open)และเปิดเผย(transparent)” ข้อวิพากษ์ ข้อเรียกร้อง และข้อเสนอแนะที่ผู้เขียนนำเสนอบางส่วน อาจจะมีลักษณะ“กระด้าง” ไม่สละสลวย และไม่นุ่มเนียนในแง่ของถ้อยคำ แต่ผู้เขียนขอยืนยันว่า ข้อวิพากษ์ ข้อเรียกร้อง และข้อเสนอแนะดังกล่าว มีลักษณะ“บริสุทธิ์”ในแง่ของเจตนา เพราะผู้เขียนไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆทั้งสิ้น ผู้เขียนมุ่งหวังแต่เพียงว่า การวิพากษ์และข้อเสนอเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนให้กระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว โดยมีองค์ประกอบด้านการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการสร้างสำนึกประชาธิปไตย เป็นแก่นสารควบคู่ไปด้วย น่าจะได้รับการยอมรับอยู่บ้าง และน่าจะมีคุณค่าและประโยชน์ทั้งต่อตัวอธิการบดี มศว เอง ต่อสภา มศว ต่อประชาคม มศว และต่อสังคมโดยรวมมากกว่าที่เป็นอยู่ อย่างน้อยก็ในช่วงระยะ 4 ปีหลังการสรรหาฯเสร็จสิ้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเห็นได้ว่า บทความนี้ยังไม่มีข้อสรุป ผู้เขียนหวังแต่เพียงว่า หากบทความนี้จะมีคุณค่าอยู่บ้าง ก็คงเป็นคุณค่าในฐานะที่เป็นสื่อ เพื่อสร้างการเริ่มต้นสำหรับประชาคม มศว และเมื่อประชาคม มศว ได้เริ่มต้นอย่างเข้าใจ อย่างรู้เท่าทัน อย่างจริงจัง อย่างกระตือรือร้น และอย่างจริงใจแล้ว ผลที่เกิดขึ้นอย่างมีความหมายคงตามมา หลังจากนั้น ประชาคม มศว จะเป็นผู้เขียนบทสรุปร่วมกันด้วยตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น