วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

คำโต้แย้งของ อ.สุรพล ต่อข้อกล่าวหาและการสอบสวนวินัยร้ายแรงของฝ่ายบริหาร

เรื่อง ขอปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอส่งถ้อยคำเพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหาตามเอกสาร สว.3

ตามเอกสาร สว.3 ที่ส่งให้แก่กระผม และแจ้งให้กระผมรับทราบว่า กระผมได้“กระทำผิดวินัยร้ายแรง ฐานดูหมิ่นเหยียดหยามผู้ร่วมปฏิบัติราชการ และกระทำการให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วตามมาตรา 41 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547” และ “ผิดวินัยร้ายแรงตามมาตรา 39 วรรคห้า” ความทราบแล้วนั้น

กระผมขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวที่อ้างถึงในเอกสาร สว.3 เนื่องจากว่า

(1)การเขียนบทความทางวิชาการของกระผมและการอภิปรายทางวิชาการของกระผมในเวทีสัมมนาวิชาการ ไม่มีเจตนาที่จะดูหมิ่นเหยียดหยามบุคคลใดหรือองค์กรใด หากเป็นการแสดงออกทางวิชาการด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขเพื่อประโยชน์โดยรวมของ มศว มิใช่เป็นการประพฤติชั่วดังที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

(2)ข้อความที่ปรากฏเป็นเหตุแห่งการกล่าวหากระผมในบทความต่างๆ ไม่ได้ทำให้บุคคลหรือองค์กรใดได้รับความเสียหาย เนื่องจากมิได้จงใจระบุชื่อใครหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ หากแต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทความที่เขียนขึ้น เพื่อวิเคราะห์ผลดีและผลเสียที่เกิดขึ้นในทางการบริหารของมหาวิทยาลัยด้วยหลักวิชาการเท่านั้น และ

(3)การเขียนบทความทางวิชาการหรืออภิปรายทางวิชาการของกระผม มิใช่เป็นการจงใจขัดมติรัฐมนตีหรือนโยบายของรัฐบาลดังที่ถูกกล่าวหา เพราะเป็นเพียงการแสดงออกทางวิชาการอย่างบริสุทธิ์ใจ ในการไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าวหรือคัดค้านนโยบายดังกล่าวเท่านั้น ด้วยการสะท้อนให้เห็นถึงผลดีและผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา มิใช่เป็นการต่อต้านรัฐบาลหรือต่อต้านมหาวิทยาลัยดังที่กล่าวหา เนื่องจากการไม่ห็นด้วยและการต่อต้านเป็นคนละประเด็นกัน

นอกจากเหตุผลหลักข้างต้นที่กล่าวมา กระผมยังมีเหตุผลสนับสนุนที่สำคัญอื่นๆอย่างน้อย 6 ประการ ดังต่อไปนี้

เหตุผลประการที่ 1
การเขียนบทความทางวิชาการ และการอภิปรายในเวทีสัมมนาทางวิชาการ เป็นการแสดงออกทางวิชาการโดยสุจริตใจของกระผมบนพื้นฐานของหลักวิชาการ ตามบทบาทหน้าที่ของนักวิชาการที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยมิได้มีเจตนาหรือวัตถุประสงค์ในการที่จะดูหมิ่น เหยียดหยาม อธิการบดี มหาวิทยาลัย หรือสภามหาวิทยาลัยแต่ประการใด

แนวทางการเขียนบทความของกระผมซึ่งเป็นการใช้คำเปรียบเปรย หรือการเลือกใช้ภาษาที่อ่านแล้วอาจไม่รื่นหู ล้วนเป็นสิ่งปรากฏในข้อเขียน ปาฐกถา การอภิปราย หรือแม้แต่ในคำสอนของพระอาจารย์ที่เป็นพระผู้ใหญ่ที่ผู้คนนับถือตลอดมา จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย การสื่อสารในลักษณะนี้มุ่งที่จะใช้การเปรียบเปรยหรือถ้อยคำ เพื่อเป็นการเตือนสติให้คนได้ฉุกใจคิด หรือในหลายๆ กรณีได้ก่อให้เกิดปัญญากับคนหมู่กว้าง

กระผมขอยกตัวอย่างคำเปรียบเปรย และการเลือกใช้ถ้อยคำที่มีนัยดังกล่าวข้างต้น พอเป็นสังเขปดังนี้

ตัวอย่างที่ 1
ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้เปรียบเปรยถึงระบบการศึกษาในปัจจุบันว่าเป็น “ระบบการศึกษาหมาหางด้วน” เพราะยังเป็นการศึกษาที่ขาดสาระของความเป็นมนุษย์ ท่านยังได้กล่าวอีกว่า “ระวังให้ดีว่าการศึกษาในปัจจุบันตั้งแต่ขั้นต่ำสุด จนถึงระดับ academic study ของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มันเพิ่มความเห็นแก่ตัว เพื่อพรรคพวกของตัว เพื่อประโยชน์ของตัว...”

ในทางกลับกัน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีคติเชื่อว่า “การศึกษาคือความเจริญงอกงาม” แต่การจะตีความสิ่งที่ท่านพระพุทธทาสภิกขุ ใช้คำว่า ระบบการศึกษาหมาหางด้วนว่า เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามการศึกษา ย่อมไม่เป็นการถูกต้อง เพราะท่านเพียงเปรียบเปรยให้เห็นว่า หากจัดการศึกษาอย่างที่เป็นอยู่ก็ควรเรียกว่า ระบบการศึกษาหมาหางด้วน ซึ่งคำกล่าวของท่านก็กลายเป็นข้อคิดที่เตือนใจคนไทยตลอดมาว่า ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา ก็คงเป็นได้เพียง ระบบการศึกษาหมาหางด้วน เท่านั้น

ตัวอย่างที่ 2
ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้มีการเทศน์ในเรื่องการศึกษา ณ ลานหินโค้ง สวนโมกข์ ติดต่อกันหลายครั้งโดยเรียกการเทศน์ชุดนี้ว่า “ชุดมหาวิทยาลัยต่อหางสุนัข” และในการเทศน์ครั้งสุดท้ายท่านเรียกว่า“ปัจฉิมนิเทศ” หรืออีกนัยหนึ่ง ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกว่า“เป็นการสั่งเสียครั้งสุดท้าย” ในการเทศน์ครั้งนี้ ท่านได้กล่าวเปรียบเปรยว่า

“เราอยากจะเรียกการพูดในครั้งนี้ว่าบรมมหาวิทยาลัย ชื่อมันแปลกจนคนเขาต้องโห่ ทำไมจึงต้องเรียกว่า บรมมหาวิทยาลัย เพราะว่าเราพูดสูงกว่าระดับมหาวิทยาลัยซึ่งพูดแต่เพียงรู้เรื่องหนังสือกับอาชีพนั้น มันยังเหมือนกับหมาหางด้วน หรือยอดด้วน แล้วแต่ว่าจะมองกันในแง่ที่เป็นสุนัข หรือว่าเป็นพระเจดีย์ เดี๋ยวนี้เราพูดต่อไปให้สมบูรณ์ คือให้ต่อหางสุนัข หรือว่าต่อยอดพระเจดีย์ แล้วแต่จะชอบเรียก”

ตัวอย่างที่ 3
ในการบรรยายธรรม เรื่อง “ทาน ทำอย่างไรจึงจะได้บุญมาก” ท่านพุทธทาสภิกขุได้ชี้ให้เห็นถึงการให้ทานที่ไม่ถูกต้องตามหลักธรรม เพราะ“ให้แบบค้ากำไรบ้าง” “ให้อย่างแลกเปลี่ยน”บ้าง “ให้อย่างลงทุน”บ้าง “ให้เพราะกิเลสต้องการ”บ้าง “ให้เพื่ออวด”บ้าง “ให้อย่างตกเบ็ด”บ้าง “ให้เพราะบ้าดี เมาดี หลงดี”บ้าง การบรรยายธรรมดังกล่าวมิใช่เพื่อทำลายศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในการทำทาน เพราะหากใครเข้าใจเช่นนั้น ก็จะตีความต่อไปว่า ท่านพุทธทาสภิกขุประสงค์ร้ายในการทำลายพระพุทธศาสนา ทั้งๆที่มีฐานะเป็นพระเถระ

ในทางตรงกันข้าม ท่านพุทธทาสภิกขุชี้ตรงให้เห็นสัจธรรมว่า การให้สูงสุดคือการสละตัวตน สละตัวกู สละของกู ดับอุปาทานว่าตัวกู ว่าของกู ท่านกล่าวไว้ว่า “ทานสูงสุดให้ตัวกู ให้ของกู ให้ตัวตนออกไปเสียเท่านั้นแหละ ก็ถึงนิพพานเอง.... ไม่มีตัวกูนิพพานก็มีอยู่ที่นั่นแหละ พอตัวกูของกูเข้ามา นิพพานก็หนีหายไปเสีย ไม่ปรากฏ” หากสาธุชนเข้าใจภาษาธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ ก็จะเห็นถึงกรุณาธรรมอันลึกซึ้งที่ท่านมีต่อศาสนิกชาวพุทธทั้งหมด

ตัวอย่างที่ 4
พระเดชพระคุณพระธรรมปิฏก(ป. อ. ปยุตโต) ปัจจุเป็นดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพรหมคุณาภรณ์ ได้เทศน์โดยเปรียบเปรยว่าคนไทยมีลักษณะ 3 ประการคือ “มองแคบ คิดใกล้ ใฝ่ต่ำ” ท่านได้ใช้คำพูดว่า“สภาพของคนไทยทั่วไปในเวลานี้ อาตมภาพอาจจะมองในแง่ร้ายสักหน่อย แต่ถ้าไม่มองในแง่ร้ายก็ไม่รู้จักตื่น แล้วก็จะตกอยู่ในความประมาท เพราะฉะนั้นจำเป็นจะต้องมองในแง่ร้าย เพื่อปลุกพวกเราให้ตื่นขึ้นมา สภาพของคนไทยเวลานี้ ขอพูดว่ามีลักษณะสามอย่าง คือ มองแคบ คิดใกล้ และใฝ่ต่ำ (คำนี้รุนแรงหน่อย)”

ตัวอย่างที่ 5
พระอาจารย์พยอม กัลยาโณ ได้เตือนสติคนไทยในช่วงที่เกิดกระแสจตุคามรามเทพ และมีการผลิต ขาย และ ซื้อ สัญลักษณ์ของจตุคามรามเทพในเชิงพาณิชย์ จนดูจะกลายเป็นเรื่องงมงายและไร้เหตุผล ท่านจึงได้ผลิตคุกกี้“จตุคำ” รุ่น“ฉุกคิด 4 คำ รวยโคตร!” บรรจุในกระป๋องอะลูมิเนียม โดยมีรูปแบบคล้ายจตุคามรามเทพ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 ซม. ด้านหน้าปั๊มตัวหนังสือว่า“จตุคำ”มีทองคำเปลวติด ส่วนด้านหลังมียันต์คาถามหาเศรษฐีที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมาว่า “อุ อา กะ สะ” ซึ่งแปลว่า ขยันหา ขยันเก็บ เลือกคบ เลือกใช้ พร้อมด้วยลายเซ็นของพระอาจารย์พยอมเอง พระอาจารย์พยอมกล่าวว่า “ที่ทำคุกกี้จตุคำ เพราะที่ผ่านมาพยายามพร่ำสอนเตือนคนไทยให้ได้ฉุกคิดและเข้าถึงหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง”

สิ่งที่พระอาจารย์พยอมได้ทำไป มีผลทำให้เกิดการต่อต้านจากกลุ่มผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับจตุคามรามเทพที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้มารวมตัวกันและกล่าวว่าพระอาจารย์พยอมดูหมิ่นสิ่งที่พวกตนและคนทั่วไปเคารพบูชา แต่คนที่มีสติย่อมตระหนักดีว่า พระอาจารย์พยอมมิได้มีเจตนาจะลบหลู่จตุคามรามเทพ แต่ต้องการจะเตือนสติให้เกิดความตระหนักและไม่ตกเป็นทาสของการลุ่มหลงในอภินิหารต่างๆ และการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาใช้ในเชิงธุรกิจจนเกินเลย

ตัวอย่างที่ 6
ในหนังสือรวมบทความอันหลากหลายทางธรรมะชื่อ สวนทางนิพพาน ของ ศ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตทางพระพุทธศาสนา มีอยู่บทความหนึ่งชื่อว่า “วิธีทดสอบอริยะของเจ้าคุณแจ่ม” ท่านเขียนถึงกรณีที่น่าสนใจยิ่งกรณีหนึ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ดังนี้

“ยายชีคนหนึ่งอ้างว่าตัวเองปฏิบัติธรรมมานานกิเลสลดลงตามลำดับ จวนจะหมดอยู่แล้ว แกชอบไปคุยให้ท่านเจ้าคุณพระศาสนโสภณ(แจ่ม จตฺตสลฺโล)ฟังเสมอๆจนเจ้าคุณท่านรำคาญจึงพูดขัดขึ้นในวันหนึ่งว่า
“งั้นรึ อีตอแหล”
เท่านั้นแหละครับ กิเลสที่ว่ามันจวนจะหมดอยู่รอมร่อแล้วก็สำแดงตัว ยายชีแกลุกขึ้นเต้นหน้าแดงก่ำด้วยความโกรธ ลงส้นตึงๆจากกุฏิ ท่านเจ้าคุณพูดพลางหัวเราะหึหึไล่หลัง
“ไหนว่ากิเลสมันเหลือน้อยแล้วไง โยม”
พระอริยะราคาคุยทั้งหลายระวังจะโดนทดสอบด้วยวิธีของหลวงพ่อแจ่มเข้าสักวัน”

ถ้อยคำของหลวงพ่อแจ่มที่ว่า“งั้นรึ อีตอแหล” เป็นภาษาธรรมที่หลวงพ่อใช้เพื่อต้องการเตือนสติและทดสอบระดับธรรมของแม่ชีเพื่อให้เกิดการฉุกคิด มิใช่เป็นการใช้ถ้อยคำหยาบคายเพื่อทำให้แม่ชีได้รู้สึกอายหรือแสดงการดูหมิ่นเหยียดหยามแม่ชีแต่อย่างใด และในทำนองเดียวกัน ท่าน ศ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก ซึ่งเป็นผู้เขียนบทความนี้ ก็มิได้เป็นผู้ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ถ้อยคำหยาบคายหรือดูหมิ่นดังกล่าวแต่อย่างใด

กระผมจึงขอยืนยันว่า คำเปรียบเปรยและความคิดเห็นต่างๆ ของกระผมที่มีต่อมหาวิทยาลัย เป็นเสมือนการเตือนให้ประชาคมได้ “ฉุกคิด” กับสิ่งที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อบังคับและระเบียบต่างๆ รวมทั้งการบริหารและการดำเนินการต่างๆของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งกระผมหวังว่า ผู้เกี่ยวข้องจะได้มองปรากฏการณ์เหล่านี้ด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง เพราะมหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่ของประชาคม ที่มีบรรยากาศที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยพร้อมจะรับฟังความคิดเห็น คำทักท้วง คำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆซึ่งเป็นเรื่องของส่วนรวม ทุกประเด็นที่กระผมนำมาเสนอล้วนเป็นประเด็นสาธารณะ กระผมจึงเห็นว่า การนำเรื่องที่ผมได้ทำไปด้วยเจตนาดีต่อมหาวิทยาลัยซึ่งกระผมถือว่าเป็นสถาบันอันทรงคุณค่าของสังคม มาตั้งเป็นข้อกล่าวหาว่ากระผมกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงต่อมหาวิทยาลัยและต่อผู้บริหาร เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล และไม่เป็นไปตามหลักแห่งกฎหมาย ดังกระผมจะได้นำเสนอต่อไป

เหตุผลประการที่ 2
กระผมขอยืนยันว่า การแสดงความคิดเห็นของกระผมผ่านสื่อต่างๆ เป็นการทำงานของนักวิชาการที่มีความสนใจในประเด็นสาธารณะ ขณะที่นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ สนใจศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสสาร(อินทรีย์และอนินทรีย์)และพลังงาน นักสังคมศาสตร์ก็ให้ความสนใจศึกษาและวิจัยปรากฏการณ์ทางสังคม รัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของสังคมศาสตร์ มีขอบข่ายที่ครอบคลุมปรากฏการณ์ทางสังคมที่เรียกว่าสาธารณกิจ (public affairs)ขององค์การภาคสาธารณะ (public sector organizations) เป็นสำคัญ และกิจการของมหาวิทยาลัยของรัฐก็เป็นส่วนหนึ่งของสาธรณกิจด้วย กระผมในฐานะผู้ศึกษามาทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จึงให้ความสนใจต่อสาธารณกิจของ มศว ซึ่งเป็นเวทีของปรากฏการณ์สาธารณกิจที่ใกล้ตัวของกระผมมากที่สุด การศึกษาประเด็นใดๆของ มศว จึงมิใช่การกระทำที่นอกเหนือกิจธุระของกระผมในฐานะผู้ศึกษาด้านรัฐประศาสนศาตร์แต่อย่างใด

เหตุผลประการที่ 3
บทความทางวิชาการที่มีเนื้อหาสาระและรูปแบบที่หลากหลาย ที่ผู้ถูกกล่าวหาเขียนขึ้น อันเป็นเหตุแห่งการถูกกล่าวหาตามเอกสาร สว.3 เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ความรู้อย่างต่อเนื่องแก่สมาชิกประชาคมมหาวิทยาลัย ในประเด็นสาธารณะที่หลากหลาย ตามบทบาทหน้าที่ของนักวิชาการ โดยมิได้มุ่งเน้นในการเป็นศัตรูหรือมีเจตนาขัดขวางหรือมุ่งทำลายชื่อเสียงของอธิการบดี ของมหาวิทยาลัย หรือของสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งมิได้มุ่งที่จะขัดขวางหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อนโยบายของรัฐบาลแต่อย่างใด

จากการที่กระผมได้ศึกษาวิเคราะห์ประเด็นต่างๆที่เป็นสาธารณกิจของ มศว การทำหน้าที่ขั้นต่อไปก็คือการเผยแพร่ผลการศึกษาต่อผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจ ประชาคม มศว เป็น stakeholder ที่เกี่ยวข้องกับงานศึกษาวิเคราะห์ของกระผมมากที่สุด เมื่อกระผมเผยแพร่งานศึกษาของกระผม กระผมขอข้อวิจารณ์จากผู้อ่านทุกคน เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้นเสมอ ช่องทางเผยแพร่ผลงานศึกษาของกระผมในขั้นต้นจึงเป็นการใช้ประโยชน์จากระบบอีเมลของ มศว ซึ่งง่ายและสะดวกที่สุด มิใช่เพื่อเจตนาแอบแฝงใดๆทั้งสิ้น สำหรับกระผมแล้วในฐานะที่เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยา ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในองค์การเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง ดังนั้น การใช้ช่องทางอีเมลของ มศว ในการนำเสนองานศึกษาของกระผม จึงเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์ทางวิชาการและสติปัญญา(intellectual interaction)ได้อย่างกว้างขวางภายในประชาคม มศว และไม่จำกัดสถานภาพผู้อ่าน โดยสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยมาก อีกทั้งเนื้อหาสาระก็ไม่สูญหายไปโดยง่ายดังเช่นที่เกิดขึ้นกับบทความที่เป็นเอกสาร

เหตุผลประการที่ 4
การหยิบยกคำบางคำหรือถ้อยคำเพียงบางส่วน จากบทความทางวิชาการที่ผู้ถูกกล่าวหาเขียนขึ้น หรือจากคำอภิปรายของผู้ถูกกล่าวหาในเวทีสัมมนาทางวิชาการ มาตั้งเป็นข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง โดยไม่พิจารณาความเชื่อมโยงกับบริบทโดยรวมของบทความ หรือการอภิปรายในเวทีนั้นๆ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเกิดความเข้าใจความหมายที่คลาดเคลื่อนไปจากที่เป็นจริง หรือเบี่ยงเบนไปจากเจตนาหรือความตั้งใจของผู้ถูกกล่าวหา ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ตัวอย่างที่ 1
ในบทความเรื่อง “อธิการบดี มศว คือผู้นำที่คน มศว ศรัทธา ภูมิใจ และสุขใจที่จะร่วมงานอย่างทุ่มเท”
ถ้อยคำที่ถูกนำมาอ้างอิง เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหา เป็นดังนี้

“SWU” อาจหมายถึงวลีดังนี้ “Songdej & Waiwod in Unity” หรือ “Stupidity-oriented & Wickedness-based Uniformity”
“Songdej & Waiwod in Unity”นั้น อาจแปลเป็นภาษาไทยว่า “เอกภาพแบบส่งเดชสู่ความวายวอด”
“Stupidity-oriented & Wickedness-based Uniformity”นั้น อาจจะแปลว่า “เอกรูปเชิงสามานย์สู่ความเขลา”

ขณะที่ถ้อยคำเหล่านี้ มิได้ปรากฏอยู่โดดเดี่ยวและมีความหมายในทางลบตามที่กล่าวหา หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อที่เขียนถึง หรือปรากฏเป็นภาพย่อยของภาพใหญ่ ความหมายทางวิชาการของถ้อยคำเหล่านี้ ต้องพิจารณาอย่างเชื่อมโยงกับภาพย่อยอื่นๆ พร้อมๆกับภาพใหญ่โดยรวมด้วย ดังจะเห็นได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเขียนบทความไว้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา เพื่อมุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ดังต่อไปนี้

2.วัตถุประสงค์ของบทความ
วัตถุประสงค์หลักในการเขียนบทความนี้ มี 3 ประการที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
ประการแรก ผู้เขียนในฐานะที่เป็นสมาชิกของประชาคม มศว ปรารถนาที่จะรู้ว่า กระบวนการสรรหาอธิการบดีของ มศว เป็นอย่างไรบ้าง ทั้งในมิติของเวลา ขั้นตอน กิจกรรม และบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบทบาทของพวกเขา
ประการที่สอง ผู้เขียนประสงค์ที่จะสะท้อนความคิด ความรู้สึก และตั้งข้อสงสัยเชิงวิพากษ์ต่อประเด็นต่างๆ ในกระบวนการสรรหาอธิการบดีดังที่กล่าวไว้ในวัตถุประสงค์ประการแรก
ประการที่สาม ผู้เขียนประสงค์ที่จะนำเสนอข้อเสนอแนะบางประการ ต่อกระบวนการสรรหาอธิการบดี ของ มศว ในอนาคต เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สมฐานะของการเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียง ซึ่งควรเป็นแบบอย่างขององค์การประชาธิปไตย ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ของ มศว เองด้วย

และการนำเอา “SWU” มาเป็น entry point ในการอภิปรายและวิเคราะห์ ก็มิได้เป็นไปเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ มศว และผู้บริหารแต่อย่างใด ดังนี้

5.อธิการบดี มศว คือใคร
ผู้เขียนขอเริ่มต้นการสะท้อนความคิดของผู้เขียนในประเด็นนี้ ด้วยการถกเถียงเกี่ยวกับอักษรภาษาอังกฤษ 3 ตัว คือ “SWU” ซึ่งเป็นอักษรย่อ(acronym)ที่คน มศว รู้ดีว่าหมายถึง Srinakharinwirot University หรือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒนั่นเอง

สำหรับผู้เขียนเอง ในฐานะที่เป็นนักศึกษา นักวิจัย และผู้สอนทางด้านสังคมศาสตร์ การพยายามมองและพิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมหนึ่งๆ ด้วยมุมที่หลายคนไม่อยากจะมองเพราะเป็นมุมที่ไม่น่าพอใจ หรือมองแล้วได้ภาพที่ไม่น่าพอใจ อาจจะมีประโยชน์อย่างยิ่งหรือมีประโยชน์มากกว่า ในความหมายที่ว่า มันอาจจะช่วยให้เราสามารถมองเห็นมุมที่เราควรจะมอง หรือเห็นในสิ่งที่เราอยากจะมอง ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะผู้เขียนตีความว่า “SWU” อาจหมายถึงวลีดังนี้ “Songdej & Waiwod in Unity” หรือ “Stupidity-oriented & Wickedness-based Uniformity” ก็ได้

สำหรับวลีชุดแรก ที่เรียกว่า“Songdej & Waiwod in Unity”นั้น อาจแปลเป็นภาษาไทยว่า “เอกภาพแบบส่งเดชสู่ความวายวอด” ความ หมายของวลีนี้ก็คือ สภาวะของการเน้น/การยึดติด หรือ การใช้อำนาจจากศูนย์กลางระดับสูงขององค์การ(top-down/centralized approach to power exercise) เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปแบบเดียวกัน(pre-determined design for change) โดยขาดความใส่ใจในความหลากหลายตามลักษณะธรรมชาติ ของรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ขององค์การย่อย ของบุคคล และขององค์ความรู้ เป็นการกระทำแบบส่งเดช(ที่ไม่รอบคอบและไม่รอบด้าน บนฐานของความไม่รอบรู้) ที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการนำไปสู่ความวายวอดหรือหายนภัยขององค์การ(organizational disaster-oriented risk taking)ในที่สุด เพราะบั่นทอนพลังสร้างสรรค์ร่วมขององค์การ(organizational synergy)อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์และอย่างน่าเสียดายยิ่ง

สำหรับวลีชุดที่สอง ที่เรียกว่า “Stupidity-oriented & Wickedness-based Uniformity”นั้น อาจจะแปลว่า “เอกรูปเชิงสามานย์สู่ความเขลา” ความหมายของวลีนี้ก็คือ สภาวะของการยึดติดกับคติที่ว่าผู้อื่นไม่น่าไว้วางใจ ไม่มีความปรารถนาดีจึงไม่ควรให้ความสนใจ ขณะที่มองว่า ตนเองกลุ่มหรือกลุ่มของตนเองเท่านั้น ที่เป็นเลิศและประเสริฐ จึงเป็นผู้ที่รู้ทุกเรื่องเป็นอย่างดี และเชื่อมั่นอย่างจริงๆจังๆว่า การกระทำของตนเองย่อมนำไปสู่ความสำเร็จ และความเจริญก้าวหน้าที่มีค่าสูงยิ่งเสมอ คติเช่นว่านี้ ปิดโอกาสที่สมาชิกประชาคม มศว จะได้มีส่วนร่วมอย่างเสียสละและจริงใจ เพื่อให้ มศว ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง สง่างาม และมีเกียรติในประชาคมวิชาการของประเทศ
แต่ผู้ถูกกล่าวหายังได้นำเสนอประเด็นทางวิชาการในลักษณะที่เป็น future desirable scenarios สำหรับ มศว ไว้อีกด้วย ดังนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าโลกนี้ไม่จนตรอกสำหรับมนุษย์ เพราะมนุษย์คือผู้สร้างโอกาสได้เช่นกัน ดังเช่นที่ท่านเจ้าคุณประยุตต์ได้นำเสนอไว้ในงานเขียนชิ้นเล็กๆ ที่ชื่อว่า“ลุอิสรภาพด้วยอนิจจัง” เพราะในทางกลับกัน ผู้เขียนมองว่า “SWU” ควรมาจากคำว่า “Solidarity-based & Wisdom-oriented University” ได้เช่นกัน ซึ่งผู้เขียนขอแปลความหมายจากวลีนี้ว่า “มศว คือ มหาวิทยาลัยที่เจิดจรัสด้วยปัญญาและเป็นศรีสง่าเพื่อความสมานฉันท์” หรือกล่าวอย่างสั้นๆว่า “มศว เจิดจรัสด้วยปัญญา ศรีสง่าสู่สมานฉันท์”

ผู้เขียนขออภิปรายขยายความคำสำคัญ 2 คำที่นำเสนอมาข้างต้น คือ คำว่า Solidarity และคำว่า Wisdom ดังต่อไปนี้
คำว่า Solidarity เป็นคำที่ได้ยินกันเกือบทั้งโลกเมื่อหลายปีก่อน ก่อนที่ประเทศโปแลนด์จะแปลงโครงสร้างสังคม-การเมือง จากเผด็จการฝ่ายซ้ายมาสู่ระบอบประชาธิปไตยดังเช่นปัจจุบันนี้ ในที่นี้ ผู้เขียนเห็นว่าคำนี้เหมาะที่จะแปลว่า”ความสมานฉันท์”หรือ”ความกลมเกลียว” ในลักษณะ“ไปด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย” แต่ผู้เขียนมุ่งหมายให้เป็นสภาวะของความสมานฉันท์ ในความหมายของ“การบริหารจัดการสาธารณกิจแบบมีส่วนร่วม” หรือ “Participatory management of public affairs” เนื่องจาก มศว เป็นองค์การสาธารณกิจเพื่อสาธารณประโยชน์(publicness-based and public interest-oriented organization) ดังนั้น การกล่าวถึงการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม จึงมิใช่เพียงแค่วลีที่กล่าวกันลอยๆ แต่จำเป็นต้องสะท้อนถึงความจริงของการมีส่วนร่วม“ที่แท้และมีความหมาย”(genuine and meaningful participation) ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์การ ทั้งภายในและภายนอกองค์การ(by all internal and external stakeholders) ทั้งในระดับล่าง ระดับกลาง และระดับบนสุด(at all levels) และในทุกมิติของภารกิจที่

สำหรับคำว่า Wisdom ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแปลกันเป็นภาษาไทยว่า“ปัญญา” ในที่นี้ ผู้เขียนมุ่งประสงค์ให้หมายถึง “กระบวนการเรียนรู้แบบองค์รวม(holistic learning process) โดยผ่านการเชื่อมโยงแบบปฏิสัมพันธ์(through interactive involvement) เพื่อก่อร่างสร้างสรรค์วิถีชีวิตแบบองค์รวมที่ทรงความหมาย(towards holistic and meaningful lifestyles)”

ผู้เขียนขอเรียนย้ำว่า ไม่ว่าจะมองด้วยทัศนะเชิงลบอย่างไรก็ตาม มศว ไม่ใช่กองทหารที่ถูกบังคับเกณฑ์ ไม่ใช่โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิตเวช และไม่ใช่คุกหรือเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ ที่อาศัยอำนาจสั่งการแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของนายทหารผู้บังคับบัญชา ที่อาศัยอำนาจของความเชี่ยวชาญและการควบคุมของแพทย์ผู้รักษา หรือที่อาศัยอำนาจลงโทษคุมขังของเจ้าหน้าที่และพัศดี แล้วแต่กรณี เป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนกลไกขององค์กร แต่ มศว คือศูนย์รวมของปัญญาชนและผู้รู้ที่ทรงคุณความดีที่หลากหลาย(หรืออีกนัยหนึ่ง “ปราชญ์ผู้ทรงศีล” ตามความคิดของศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ปูชนียบุคคลของชาว มศว) เป็นปัญญาชนและผู้รู้ที่สังคมโดยรวมคาดหวังว่าจะผลิตความรู้ ถ่ายทอดความรู้ สะท้อนความจริงและปัญหาสังคมเชิงวิพากษ์อย่างจริงจัง จริงใจและซื่อสัตย์ และนำพาชีวิตผู้คนและสังคมโดยรวมไปสู่ศานติภาวะ การไม่เบียดเบียนต่อกัน และความยั่งยืนแบบบูรณาการ บนรากฐานของความรู้จริงและความอาทรต่อกัน

“กระบวนการเรียนรู้แบบองค์รวม(holistic learning process) โดยผ่านการเชื่อมโยงแบบปฏิสัมพันธ์(through interactive involvement) เพื่อก่อร่างสร้างสรรค์วิถีชีวิตแบบองค์รวมที่ทรงความหมาย(towards holistic and meaningful lifestyles)” ที่เพิ่งกล่าวมา มุ่งให้เกิดปัญญา 2 แบบ กล่าวคือ (1)ปัญญาเชิงอุปกรณ์(instrumental wisdom) และ(2)ปัญญาขั้นสูงส่ง(ultimate wisdom)

ปัญญาเชิงอุปกรณ์ ตั้งอยู่บนรากฐานของความรู้เชิงโลกียวิสัย เพื่อการครองตนในโลกฆราวาสทางวัตถุ(mundane knowledge for secular living) เป็นปัญญาที่เกิดจากการศึกษาองค์ความรู้และฝึกฝนทักษะทางวิชาชีพ(professional skills) การเรียนรู้ทางวิชาการและการสร้างทักษะเช่นว่านี้ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนหรือบัณฑิต ได้มีความแกร่งและเป็นที่ยอมรับในทางวิชาการ(academic vigor and recognition)จากสังคมภายนอก และเพื่อให้ข้ามพ้นไปจากข้อจำกัด หรืออุปสรรคทางวิชาชีพและทางเศรษฐกิจ(freedom from professional and economic limitation) เพื่อการยังชีพของตนองและครอบครัวในชีวิตประจำวัน

ส่วนปัญญาขั้นสูงส่ง ตั้งอยู่บนรากฐานของความรู้เหนือโลกียวิสัย เพื่อการครองตนในโลกฆราวาสทางจิตวิญญาณ(super-mundane knowledge for spiritual living)เป็นปัญญาที่เกิดจากการการศึกษาองค์ความรู้ และฝึกฝนทักษะทางสังคม-วัฒนธรรมและทางจิตวิญญาณ(socio-cultural and spiritual skills) การเรียนรู้และการฝึกฝนจริงในโลกแห่งความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เป็นจริงดังกล่าวนี้ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนหรือบัณฑิต ได้มีความแกร่งและเป็นที่ยอมรับทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณ(psycho-spiritual vigor and recognition) จากสังคมภายนอก และเพื่อให้ข้ามพ้นไปจากข้อจำกัด หรืออุปสรรคทางด้านจิตวิญญาณ(freedom from spiritual constraints) ที่เกิดจากโลภจริต(Greed) โทสจริต(hatred) และโมหจริต(delusion) จนสามารถยังชีพได้อย่างเป็นสุข และรู้เท่าทันอกุศลธรรมทั้งปวง ที่ได้สัมผัสและที่มาเยือนเพื่อเย้ายวนในชีวิตประจำวัน ในโลกยุกโลกาภิวัตน์บนฐานของกิเลสนิยม-บริโภคนิยม

จากที่กล่าวมาทั้งหมดในหัวข้อนี้ อธิการบดี มศว สำหรับผู้เขียนจึงหมายถึง ผู้นำที่สามารถสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อสภาวะการเปลี่ยนผ่านจาก “SWU” ในความหมายของ“Songdej & Waiwod in Unity” หรือ “Stupidity-oriented & Wickedness-based Uniformity”ไปสู่“SWU” ในความหมายของ“Solidarity-based & Wisdom-oriented University”ได้อย่างราบรื่นและเป็นที่ยอมรับของประชาคม มศว นั่นเอง

และในประเด็นที่เกี่ยวกับอธิการบดี มศว เป็นการเฉพาะนั้น ผู้ถูกกล่าวหาได้นำเสนอคุณลักษณะไว้หลายประการในเชิงสร้างสรรค์ มิได้มีส่วนใดเลยที่แสดงเจตนาว่าต้องการดูหมิ่นเหยียดหยามผู้บริหาร มศว ดังต่อไปนี้

6.อธิการบดี มศว คนต่อไป ควรเป็นอย่างไร
ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า “SWU” จากทัศนะวิพากษ์ในเชิงลบ(negative / critical viewpoint) เป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปสู่ ”SWU” ในเชิงวิพากษ์สร้างสรรค์(positive / critical viewpoint)ได้อย่างไม่ต้องสงสัย ประเด็นที่สำคัญเชื่อมโยงต่อมาก็คือ อธิการบดีของ มศว ที่จะเป็นผู้นำเชิงสร้างสรรค์ควรเป็นอย่างไร
ในทัศนะของผู้เขียน อธิการบดีของ มศว ที่จะเป็นผู้สรรค์สร้าง“มศว เจิดจรัสด้วยปัญญา ศรีสง่าสู่สมานฉันท์” ให้เกิดขึ้นจริงได้นั้น มีคุณลักษณะหรือภาวะผู้นำ(leadership)ตามคำศัพท์ในภาษอังกฤษ 2 คำ ดังนี้คือ (1)SANE และ (2)SMART
ภาวะผู้นำที่จำเป็นประการแรกที่เรียกว่า“SANE”นั้น มีความหมายในตัวของมันเอง อันหมายถึงการมี“จิตประเสริฐ” ซึ่งสามารถขยายความในรายละเอียดตามอักษรแต่ละตัวได้ดังนี้
(1)S หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Sensitiveness(มีจิตใจอ่อนไหวต่อการรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ใต้บังคับบัญชา หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นคนประเภทรู้ร้อน รู้หนาว หัวใจไม่กระด้าง)
-Sensibility(มีจิตใจที่รับฟังเหตุผลของผู้อื่น และมีเหตุผลที่อธิบายได้ในการกระทำของตนอง)
-Spiritual awareness(ตระหนักรู้อยู่เสมอในประเด็นด้านจิตวิญญาณและจริยธรม ทั้งของตนเองและผู้ร่วมงาน หรือที่เรียกกันเป็นภาษาชาวบ้านว่า มีต่อมศีลธรรมปกติ/ไม่บกพร่อง)
-Sacrifice for teaching profession(มีจิตใจเคารพวิชาชีพครู และผู้ที่ทำหน้าที่ในการสอนหนังสือ และพยายามเชิดชูในฐานะที่เป็นภารกิจสำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัย)
(2) A หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Awareness of gender issues(มีจิตใจระแวดระวัง ในการคิด การกำหนดนโยบาย การออกคำสั่ง และการกระทำ ที่ไม่ละเมิดสิทธิและความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงภายใน มศว และสังคมภายนอก)
-Acceptance of ideational differences(มีจิตใจที่ไม่รังเกียจความคิดที่แตกต่าง และพยายามส่งเสริมความหลากหลายของความคิด เพื่อแปลงเป็นพลังร่วมแบบบูรณาการไปสู่ความก้าวหน้าขององค์การ และการเกิดขึ้นของชุมชนกัลยาณมิตรใน มศว)
(3) N หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Neutrality of greed, hatred and ignorance(มีอุเบกขา หรือจิตใจที่เป็นกลาง ไม่มีอคติหรือความลำเอียงต่อผู้ร่วมงาน อันเนื่องมาจากมีประโยชน์ทางวัตถุแอบแฝง อันเนื่องมาจากความรังเกียจส่วนตัว หรืออันเนื่องมาจากอวิชชาซึ่งทำให้ลุ่มหลงมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ
(4) E หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Equity-friendly mind(มีจิตใจรักความเป็นธรรม และตระหนักอยู่เสมอว่า การใช้คำสั่งและอำนาจใดๆที่แม้ว่าอาจจะถูกกฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับของทางราชการ แต่อาจก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ร่วมงานได้เสมอ จึงต้องระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา และพร้อมที่จะปรับแก้ตามควรแก่กรณี)
-Equality-friendly mind(มีจิตใจรักความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกัน และคอยตรวจสอบมิให้เกิดการกระทำที่นำไปสู่ความไม่เสมอภาค โดยสร้างเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมภายใน มศว)
-Eco-friendly mind(มีนิเวศสำนึกแนวลึกในการบริหารองค์การ เป็นแบบอย่างของชีวิตที่ไม่ละเมิดชีวิตด้วยกัน และตระหนักถึงคุณค่าของดุลยภาพระหว่างความสำเร็จขององค์การ การใช้ทรัพยากรของโลก และความสุขของคนในองค์การ ไม่นิยมการทุ่มเททุกสิ่งหรือการบีบคั้นทุกอย่าง เพียงเพื่อให้ตนเองเป็นคนที่เด่นที่สุดในองค์การ ในลักษณะ “สุขเข้าตัว ชั่วโยนคนอื่น”)
-Exploitation-free mind(เป็นผู้ที่มีจิตใจเมตตา ไม่กระทำทุกวิถีทางและไม่ยอมให้มีการกระทำ ใดๆ ในลักษณะที่แฝงเร้นการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบคนในองค์การด้วยกันเอง เพื่อสร้างความก้าวหน้าหรือความสำเร็จเฉพาะตัว)
-Egolessness-based mind(เป็นผู้ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และพร้อมที่จะเสียสละ ทุ่มเทและรับใช้คนในองค์การ เพื่อให้งานสำเร็จและคนก็เป็นสุขไปพร้อมๆกัน)
สำหรับภาวะผู้นำที่จำเป็นประการที่สอง ที่เรียกว่า“SMART”นั้น ก็มีความหมายในตัวของมันเองเช่นกัน โดยหมายถึง“เลิศปัญญา” ซึ่งสามารถขยายความในรายละเอียดตามแต่ละตัวอักษร ได้ดังนี้
(1)S หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Supporter of critical thinking and dialogue(ฉลาดและมีไหวพริบ ในการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการคิดและการแลกเปลี่ยนเชิงวิพากษ์อย่างเสรีและเปิดเผย ในลักษณะของการเปิดกว้างต่อกระบวนการ“ติเพื่อก่อ”
-Structural transformational leadership(เป็นผู้นำที่ฉลาดในการเปลี่ยนโครงสร้างและความสัมพันธ์ในองค์การ จาก “บนสู่ล่าง” ไปเป็น “ตามแนวระนาบ” จาก “รวมศูนย์อย่างนาสะพึงกลัว” ไปเป็น “มีส่วนร่วมอย่างเป็นสุข” และจาก “แล้วแต่ท่าน” ไปเป็น “เรื่องนี้ ผม/ดิฉันคิดว่า...” และสามารถทำให้อำนาจกลายเป็นมิตร และมิตรกลายเป็นพลังร่วมสู่ความก้าวหน้าและควมสำเร็จ)
-Socially engaged intelligence(เป็นผู้มีความปราดเปรื่องที่ไม่เอาเปรียบสังคมหรือผู้อื่น หรือมุ่งแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นสำคัญ และส่งเสริมให้ผู้ร่วมงานหมั่นเรียนรู้ให้รู้จริง เพื่อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมเป็นหลัก)
(2)M หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Mutual learning and mutual assistance advocator(เป็นผู้ที่รู้เท่าทันว่า การเรียนรู้ร่วมกัน และการพึ่งพาอาศัยกันของคนในองค์การ ทั้งในแนวระนาบและแนวดิ่ง เป็นปัจจัยวิกฤตเชิงบวกต่อความสำเร็จขององค์การและความสุขของคนทำงาน และพยายามส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จริงจัง ทั่วทั้งองค์การจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์การขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน)
-Moral suasion advocator(เป็นผู้ฉลาดที่รู้เท่าทันว่า มนุษย์รักความสงบ ซาบซึ้งในความดี และยอมปฏิบัติตามอย่างเต็มใจ เมื่อมีการสื่อสารอย่างจริงใจ บนฐานของความเคารพที่มีต่อกัน)
-Manager of synergy-based action(มีทักษะและความชำนาญในการขับเคลื่อนองค์การ โดยสามารถกระตุ้นพลังสร้างสรรค์ภายในของคนในองค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องใช้ “อาชญา”ตามสำนวนของท่านพุทธทาสภิกขุ)
(3)A หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Academic excellence – academic freedom equilibrium advocator(เป็นผู้ที่รู้และเข้าใจดีว่า ความเป็นเลิศทางวิชาการและความรู้ ตั้งอยู่บนฐานของคำสั่งและอำนาจไม่ได้นาน เพราะรากฐานของปัญญาที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างยั่งยืน คือความมีอิสระและเสรีภาพที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่เหมาะสม บนพื้นฐานของความเคารพต่อกันและการสร้างสรรค์บรรยากาศที่เอื้ออำนวย
-Appreciator of follower’s contribution(เป็นผู้ฉลาดที่มองออกว่า แม่บุคลากรที่ต่ำต้อยที่สุดในองค์การ ก็สามารถทำให้องค์สำเร็จได้ พอๆกับที่ดูเหมือนไม่มีความหมายอะไรมากนัก เพราะทุกๆคนต้องการได้รับการยอมรับ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในสิ่งที่เขาได้ทำไปด้วยความตั้งใจและจริงใจ)
(4)R หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Re-allocator of resources for research advancement(เป็นผู้ที่มีทักษะและความชำนาญ ในการกระตุ้นให้งานวิจัยเติบโตใน มศว ได้โดยไม่ต้องใช้คำสั่งหรือคำขู่หรือมาตรการทางลบแอบแฝงใดๆ แต่โดยการจัดสรรทรัพยากรให้ได้ดุล ระหว่างระบบย่อยต่างๆใน มศว และกระตุ้นทางบวกให้ศักยภาพของคณาจารย์และบุคลากรสนับสนุน ปรากฏจนเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจ
-Revitalizer of “cultural action for freedom”(เป็นผู้ที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า วัฒนธรรมเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม ที่เป็นไปในลักษณะกดขี่ก็ได้ หรือปลดปล่อยสู่ความเป็นไทก็ได้ และพยายามส่งเสริมให้กระบวนการทำงานใน มศว นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมความสัมพันธ์ในรูปแบบที่เอื้อต่อการส่งเสริมเสรีภาพทางความคิด การกระทำ และการท้วงติงเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งภายในและภายนอก มศว
(5)T หมายถึง คุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ต่อไปนี้
-Teaching improvement advocator(เป็นผู้ที่มองเห็นภาพรวมได้ว่า การปรับปรุงให้ภารกิจในการจัดการเรียนการสอนก้าวหน้าได้นั้น คณาจารย์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด และกำลังบังคับภายนอกหรือจากฝ่ายบริหาร จะกำหนดให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งตามลำพังย่อมไม่ได้ การได้ร่วมดำเนินการในการปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่ต้องสร้างเงื่อนไขอำนวยที่เหมาะสมเป็นเบื้องต้นก่อน ด้วยความพยายามเข้าใจสถานการณ์และด้วยความจริงใจ)
-Training improvement advocator(เป็นผู้รู้และเข้าใจดีว่า การส่งเสริมให้บุคลากรสนับสนุน มีโอกาสพัฒนาการทำงานและทักษะทางสังคมในองค์การ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ เป็นองค์ประกอบที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน และต้องไม่สร้างเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคขัดขวางโดยไม่จำเป็น)
กล่าวโดยสรุป ภาวะผู้นำที่จำเป็นสำหรับอธิการบดีของ มศว ก็คือ “SANE & SMART” หรือ “จิตประเสริฐ เลิศปัญญา” หรือหากจะกล่าวให้ทันกับยุคสมัยปัจจุบัน ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ผู้นำของ มศว ต้องเป็นผู้นำที่มี“UV Protection”(ซึ่งหมายถึง“Ultra Viciousness Protection” หรือ “สาร” ป้องกัน “รังสีแห่งอกุศลธรรมทั้งมวล”) และต้องมี“UV Fortification”(ซึ่งหมายถึง“Ultra Verity Fortification” หรือ “เสริมธาตุกุศลธรรมทั้งมวล”)

และผู้ถูกกล่าวหาเอง ก็ได้แสดงเจตนาโดยบริสุทธิ์ใจในการเขียนบทความนี้ไว้ชัดเจนว่าเพื่อการใด ดังนี้

........................ข้อวิพากษ์ ข้อเรียกร้อง และข้อเสนอแนะที่ผู้เขียนนำเสนอบางส่วน อาจจะมีลักษณะ“กระด้าง” ไม่สละสลวย และไม่นุ่มเนียนในแง่ของถ้อยคำ แต่ผู้เขียนขอยืนยันว่า ข้อวิพากษ์ ข้อเรียกร้อง และข้อเสนอแนะดังกล่าว มีลักษณะ“บริสุทธิ์”ในแง่ของเจตนา เพราะผู้เขียนไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆทั้งสิ้น ผู้เขียนมุ่งหวังแต่เพียงว่า การวิพากษ์และข้อเสนอเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนให้กระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว โดยมีองค์ประกอบด้านการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการสร้างสำนึกประชาธิปไตย เป็นแก่นสารควบคู่ไปด้วย น่าจะได้รับการยอมรับอยู่บ้าง และน่าจะมีคุณค่าและประโยชน์ทั้งต่อตัวอธิการบดี มศว เอง ต่อสภา มศว ต่อประชาคม มศว และต่อสังคมโดยรวมมากกว่าที่เป็นอยู่ อย่างน้อยก็ในช่วงระยะ 4 ปีหลังการสรรหาฯเสร็จสิ้น
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเห็นได้ว่า บทความนี้ยังไม่มีข้อสรุป ผู้เขียนหวังแต่เพียงว่า หากบทความนี้จะมีคุณค่าอยู่บ้าง ก็คงเป็นคุณค่าในฐานะที่เป็นสื่อ เพื่อสร้างการเริ่มต้นสำหรับประชาคม มศว และเมื่อประชาคม มศว ได้เริ่มต้นอย่างเข้าใจ อย่างรู้เท่าทัน อย่างจริงจัง อย่างกระตือรือร้น และอย่างจริงใจแล้ว ผลที่เกิดขึ้นอย่างมีความหมายคงตามมา หลังจากนั้น ประชาคม มศว จะเป็นผู้เขียนบทสรุปร่วมกันด้วยตนเอง

ตัวอย่างที่ 2
ในบทความเรื่อง “ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา มศว : คิดต่อจากอาจารย์ประเวศ”
ถ้อยคำที่ถูกนำมาอ้างอิง เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหา เป็นดังนี้

“....จตุอัปลักษณ์ ที่ผู้เขียนล้อให้เห็น......”
และ
“....เย้วๆน่าไม่อาย อาจารย์ประเวศเตือนแล้ว ทำไมไม่ทำ.....”
และ
“...การได้มาซึ่งผู้นำ มศว และการจัดทำวิสัยทัศน์ของ มศว เป็นกระบวนการแฝดที่มีลักษณะปิดลับ...”

ขณะที่ถ้อยคำเหล่านี้ มิได้ปรากฏอยู่โดดเดี่ยวและมีความหมายในทางลบว่า ดูหมิ่น เหยียดหยาม อธิการบดี หรือสภา มศว หรือมหาวิทยาลัยตามที่กล่าวหา หากแต่เป็นถ้อยคำที่ผู้เขียนกล่าวถึงตัวผู้เขียนเอง เพื่อสื่อความหมายในเชิงตลกโปกฮาและผ่อนคลายเท่านั้น เพราะเนื้อหาของบทความนี้มีลักษณะเชิงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้าง(seriously critical paper) ดังนี้

..........ข้อคิดและข้อเสนอแนะจากบทความของอาจารย์ประเวศ บอกเราว่า ผู้นำองค์การที่พึงประสงค์ในยุคสมัยปัจจุบัน คือผู้ที่สามารถโน้มนำให้สมาชิกองค์การทั้งมวล ร่วมกันระดมสรรพกำลังที่หลากหลาย เพื่อสร้างจินตนาการใหม่ สู่อนาคตแห่งความสำเร็จ บนพื้นฐานของสำนึกรับผิดชอบร่วมกัน บนพื้นฐานของความรักที่มีต่อองค์การและต่อเพื่อนร่วมงาน
รูปธรรมที่สะท้อนถึงผู้นำดังกล่าว ก็คือ การสร้างวิสัยทัศน์ร่วม ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง(genuine participation) ซึ่งจะนำไปสู่การอุทิศตนของมวลสมาชิกขององค์การอย่างไม่ย่อหย่อน(endless devotion) จนบรรลุอนาคตที่ร่มเย็นเป็นสุขร่วมกัน
หากยึดเอาว่า บทความของอาจารย์ประเวศ ต้องการบอกให้ประชาคม มศว รับรู้ด้วยว่า วิสัยทัศน์ มศว ควรมาจากจินตนาการใหม่ของ ประชาคม มศว เป็นวิสัยทัศน์ที่เกิดจาการรวมตัวกันทำในสิ่งที่ดี เป็นวิสัยทัศน์ที่สะท้อนการสร้างพลังมหาศาล(มหาชนานุภาพ)ในการเคลื่อนไปข้างหน้า เป็นวิสัยทัศน์ที่เกิดจากพลังของอนาคต เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขทั่วทั้งองค์กร มศว แต่สิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอมา ในประเด็นของการสรรหาอธิการบดีและการจัดทำวิสัยทัศน์ มศว กลับนำไปสู่ภาพลักษณ์ที่ตรงข้ามโดยสิ้นเชิง เป็นภาพลักษณ์ที่คล้ายจะล้อ มศว ว่า
(1)พลังสร้างสรรค์มหาศาลขององค์กร มศว ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมของสมาชิกในองค์กร มศว(เพราะคณะผู้บริหาร มศว มีสติปัญญาเป็นเลิศเหนือกว่าทุกคนใน มศว อยู่แล้ว ????)
(2)สภา มศว หรือ ผู้บริหาร มศว ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำให้สมาชิกขององค์การ มศว สร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมกัน(เพราะไม่มีกฎหมายใดๆกำหนดให้ต้องทำเช่นนั้นเลย จะเหนื่อยทำไปเพื่ออะไร ???)
(3)แม้จะให้สมาชิก มศว มีส่วนร่วมในการสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมแล้วก็ตาม พฤติกรรมองค์การของคน มศว ก็ไม่อาจเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง คน มศว ไม่จำเป็นต้องรักองค์กร มศว หรือรักกันเอง และร่วมกันทำงานเสมอไป อีกทั้งผู้บริหาร มศว ก็คงต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไชอยู่ร่ำไปนั่นเอง(เพราะคน มศว ไม่ได้ความมาแต่ไหนแต่ไร เห็นแก่ตัว คอยหนีงาน และแสวงหาประโยชน์ใส่ตัวอยู่ล่ำไป ???)
(4)ไม่จำเป็นต้องให้คน มศว รวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี โดยเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคน มศว ทุกคน เพราะเป็นเรื่องยาก และเพราะเราไม่ต้องการเปลี่ยนจากนรกเป็นสวรรค์แต่อย่างใด(เพราะคน มศว ให้ความสนใจเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เสียเมื่อไรเล่า เขาอยากอยู่ในนรกก็ช่างเขา ส่วนเรา คณะผู้บริหารอยู่สวรรค์กันต่อไปดีกว่า ???)

“จตุอัปลักษณ์”ที่ผู้เขียนล้อให้เห็น หาใช่สิ่งที่ผู้เขียนอยากเห็นแต่อย่างใดไม่ และผู้เขียนเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมด้วยความสุจริตใจว่า คน มศว ทั้งมวลก็ไม่อยากเห็นและไม่อยากให้เป็นเช่นนั้นเช่นเดียวกัน แต่“จตุอัปลักษณ์”ดังกล่าว กลับกลายเป็นสิ่งที่ปรากฏจริงในลักษณะแอบแฝงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อมองผ่านกรอบคิด จากคุณูปการของบทความของอาจารย์ประเวศ ผู้เขียนนึกถึงถ้อยคำสมัยเด็กๆที่ชอบพูดกันว่า “เย้วๆ น่าไม่อาย” เวลาเราจะล้อเพื่อน คงถึงเวลาที่ผู้เขียนคงต้องล้อตนเองอีกครั้งหนึ่งว่า “เย้วๆ น่าไม่อาย อาจารย์ประเวศเตือนแล้ว ทำไมไม่ทำ”


และการกล่าวหาด้วยคำว่า “...เป็นกระบวนการแฝดที่มีลักษณะปิดลับ...”นั้น เป็นการนำเอาคำบางคำมาใช้โดยไม่ครบถ้วน เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้ถูกกล่าวหาได้ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงผู้ถูกกล่าวหาได้นำเสนอข้อเท็จจริงหลายประการที่เกิดขึ้น และได้เขียนประเด็นต่างๆไว้กว้างกว่านั้น รวมทั้งมีความหมายมากกว่าเพียงบางถ้อยคำที่นำมากล่าวหา ดังปรากฏในข้อความดังต่อไปนี้

6.เริ่มใหม่ยังไม่สาย
แม้สภาวะไม่พึงประสงค์(undesirable occurrences)หลายประการจะเกิดขึ้นแล้ว ทั้งในกระบวนการสรรหาอธิการบดี มศว และในกระบวนการจัดทำวิสัยทัศน์ มศว ก็ตามที แต่ผู้เขียนคิดว่ายังไม่สายเกินแก้ ถ้าสายเกินแก้เสียแล้ว อาจารย์ประเวศคงไม่นำเสนอบทความดังกล่าวต่อสังคมไทย
เราจะเริ่มกันอย่างไรดี ผู้เขียนคิดว่า ข้อบังคับ มศว เป็นกลไกที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์หลายสิ่งที่เราต้องการ ถ้าเช่นนั้น เราคงต้องเริ่มจากสาระในข้อบังคับนั้นเอง โดยมีกระบวนการ ดังต่อไปนี้
(1)ประชาคม มศว หรือ สภา มศว ร่วมกันหรือเปิดโอกาส ให้เกิดการร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ และวิพากษ์ อย่างเปิดกว้างและครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่างๆในข้อบังคับ ตามกรอบคิดในบทความของอาจารย์ประเวศ
(2)เปิดเวทีสาธารณะใน มศว เพื่อให้ประชาคม มศว ร่วมกันนำเสนอประเด็นแก้ไขปรับปรุง โดยให้มีการนำเสนอหลักการรองรับในแต่ละประเด็นที่แก้ไขอย่างชัดเจน
(3)เมื่อได้ข้อยุติในการถกเถียงในประเด็นต่างๆแล้ว นำเสนอต่อสภา มศว เพื่อพิจารณาและแก้ไขข้อบังคับเก่า ให้สอดคล้องกับหลักคิดตามบทความของอาจารย์ประเวศ
จากขั้นตอนทั้ง 3 ที่กล่าวมา ข้อบังคับใหม่ที่แก้ไขแล้ว จึงมีฐานะเป็นผลผลิตร่วมของปัญญาร่วมของคน มศว(SWU common wisdom-based product)และจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมในกิจการของ มศว ในอนาคตอย่างกระตือรือร้น อย่างมีความสุข และอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

7.บทสรุป
การได้มาซึ่งผู้นำของ มศว และการจัดทำวิสัยทัศน์ของ มศว เป็นกระบวนการแฝด(dual processes)ที่มีลักษณะปิดและปิดลับ(closed and secret) ซึ่งไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์องค์กร มศว(detrimental to organizational creativity)ในภาวะปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่กระบวนทัศน์ฐานอำนาจ(power-based paradigm)ดังกล่าว จะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่กระบวนทัศน์ฐานปัญญา(wisdom-based paradigm)อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้เกิดผู้นำ มศว และวิสัยทัศน์ มศว ที่มีลักษณะเปิดและโปร่งใส(open and transparent) ซึ่งยังไม่สายเกินไป และยังไม่ยากเกินการกระทำสำหรับประชาคม มศว ยุทธศาสตร์ทางปัญญาแบบมีส่วนร่วม(participatory wisdom strategy)คือคำตอบสำหรับความร่มเย็นเป็นสุขของประชาคม มศว และสังคมไทยโดยส่วนรวม


และเมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของบทความที่ปรากฏข้างล่าง ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เจตนาของผู้เขียนหาใช่การดูหมิ่น เหยียดหยาม อธิการบดี สภา มศว และมหาวิทยาลัย ตามที่กล่าวหาผู้เขียนแต่อย่างใดไม่

2.วัตถุประสงค์ของบทความ
ผู้เขียนบทความนี้ ไม่มีเจตนาใดๆในทางร้ายกับอาจารย์ประเวศ แม้เพียงประการเดียว หากแต่บทความของอาจารย์ประเวศเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่กระตุ้นทางความคิดให้ผู้เขียนอยากแสวงหาคำตอบว่า
(1)ปรากฏการณ์ “การได้มาซึ่งผู้นำและการจัดทำวิสัยทัศน์ขององค์กร”ใน มศว เป็นเช่นไร และการมองผ่านกรอบคิดของอาจารย์ประเวศ ช่วยให้เห็นอะไรได้บ้างในกระบวนการดังกล่าวขององค์การ ซึ่งในที่นี้ คือ มศว
(2)ทิศทางข้างหน้าของ มศว น่าจะเป็นเช่นไร หากเราน้อมนำเอาข้อเสนอของอาจารย์ประเวศมาพิจารณาอย่างจริงจัง


ตัวอย่างที่ 3
ในบทความเรื่อง “ร่าง พ.ร.บ. มศว(นอกระบบ) กับ “ปรากฏการณ์อีแอบ 4 มิติ””
ถ้อยคำที่ถูกนำมาอ้างอิง เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหา เป็นดังนี้

“ปรากฏการณ์ อีแอบ 4 มิติ” หรือ “อีแอบ จตุลักษณ์” ในที่นี้ “อีแอบ” คือ “E-AAb” ซึ่งย่อมาจากคำว่า Educational-Academic Abnormality”
และ
“ภาพของสภาวะสิ้นไร้ไม้ตอกทางสติปัญญา”

ขณะที่ถ้อยคำเหล่านี้ มิได้ปรากฏอยู่โดดเดี่ยวและมีความหมายในทางลบว่า ดูหมิ่น เหยียดหยาม อธิการบดี หรือสภา มศว หรือมหาวิทยาลัยตามที่กล่าวหา หากแต่เป็นถ้อยคำที่ผู้เขียนนำเสนอข้อเท็จจริง และแนวคิดเชิงวิเคราะห์(analytical concepts) รวมทั้งตั้งคำถามทางวิชาการเพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งเพิ่มขึ้นไป ดังนี้

การเกิดขึ้นของ ร่าง พ.ร.บ. มศว(นอกระบบ) และการนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวสู่กระบวนการด้านนิติบัญญัติในปัจจุบัน ในยุคของรัฐบาล(ครม.)และรัฐสภา(สนช.)ภายใต้ คมช.สะท้อนสิ่งที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์ อีแอบ 4 มิติ” หรือ “อีแอบ จตุลักษณ์” ในที่นี้ “อีแอบ” คือ “E-AAb” ซึ่งย่อมาจากคำว่า Educational-Academic Abnormality

-มิติที่ 1 คือ อีแอบทางการบริหาร(Administrative Abnormality)
สะท้อนจากปรากฏการณ์ Lack of Full Participation ของ Overall Organizational Members ใน Academic Community หรือ Overall Organizational Stakeholders

-มิติที่ 2 คือ อีแอบทางสังคม(Social Abnormality)
สะท้อนจากภาพของ Insufficient Participation ของ Social Community of Tax Payers ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

-มิติที่ 3 คือ อีแอบทางการเมือง(Political Abnormality)
สะท้อนจากภาพของการเป็นนักฉวยโอกาสทางการเมือง(political opportunist) ของบรรดาอธิการบดี(และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง) และนายกสภามหาวิทยาลัย(รวมทั้งบรรดากรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง) ที่นำเสนอ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ในบริบททางการเมืองปัจจุบันที่มีลักษณะ Non-Democratic ในทำนองเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ฉวยโอกาสทางการเมืองภายใต้บริบทเดียวกัน โดยการ “โยนกลอง” ว่าเป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยเอง และรัฐบาลชุดก่อน และ สนช. ก็ฉวยโอกาส “โยนกลอง” เช่นกัน ว่าเป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยโดยตรง ไม่ใช่รัฐบาลชุดปัจจุบันเช่นกัน
กล่าวเฉพาะในส่วนของมหาวิทยาลัย ปรากฏการณ์ในมิตินี้ สะท้อนให้เห็นแก่นแท้และตัวตนของของคณะผู้บริหาร ที่เป็นเพียง “ปุถุชนที่ถูกเชิด แต่ขาดวุฒิภาวะทางการเมืองตามแนวทางประชาธิปไตย” ได้อย่างชัดเจน อาจกล่าวได้ว่า เป็นภาพของ “อีแอบทางด้านจิตลักษณ์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย”(University Administrator’s Mentality Abnormality)

-มิติที่ 4 คือ อีแอบทางสติปัญญา(Intellectual Abnormality)
มิตินี้สะท้อนถึง Fundamental Intellectual Crisis ของ มศว ที่ได้รับการยอมรับมานานว่าเป็นเอตะทักคะทางวิชาการด้านศึกษาศาสตร์ ทั้งในมิติทางด้านปรัชญา ทฤษฎี และการวิจัย เพราะมีความเชื่อและบทสรุป(ตามๆกันมา อย่างซื่อๆ)ว่า การที่ มศว เป็นส่วนราชการ เป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่สภาวะ Impasse หรือ Deadlock และเชื่อต่อไปอีกว่า “การล้มล้างสภาวะการเป็นส่วนราชการของ มศว” (ซึ่งผู้เขียนขอย้ำและท้าทายให้คิดกันหนักๆว่า เป็นคนละประเด็นกับ “สภาวะการติดยึดกับระเบียบราชการใน มศว”) คือทางออกที่จำเป็นต้องเลือกในเชิงโครงสร้าง(Structural Imperative) จริงๆแล้ว น่าสงสัยว่า นี่คือ ภาพของสภาวะสิ้นไร้ไม้ตรอกในทางสติปัญญา(Intellectual Impasse)ของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยใช่หรือไม่ ?????

อันที่จริงแล้วในทางสังคมศาสตร์ การนำเสนอมุมมองทางวิชาการ(academic viewpoint)และการวิเคราะห์ทางวิชาการผ่าน acronym เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติ ดังเช่นแนวคิดที่เรียกว่า NICs ซึ่งมาจากคำว่า Newly Industrialized Countries ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการที่มองต่างและให้ความหมายของคำย่อดังกล่าวว่า “Narok is coming soon”

ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับบทความนี้ ก็คือ มีการตั้งข้อกล่าวหาว่า กระผมเป็นผู้เผยแพร่ โดยที่คณะกรรมการสอบสวนไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันว่า กระผมเป็นผู้เผยแพร่เอกสารดังกล่าว โดยมุ่งหวังที่จะ ดูหมิ่น ผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมปฏิบัติราชการ การตั้งข้อกล่าวหาเช่นนี้ลอยๆ เป็นการกล่าวร้ายกลั่นแกล้งต่อกระผมอย่างไม่เป็นธรรมโดยชัดเจน นอกเหนือไปจากปัญหาช่องว่างทางวิชาการ ในการทำความเข้าใจเนื้อหาสาระทางวิชาการของบทความดังที่กล่าวมาแล้ว

ตัวอย่างที่ 4
ในบทความเรื่อง “คำถามสำคัญเรื่อง มศว ออกนอกระบบราชการ”
ถ้อยคำที่ถูกนำมาอ้างอิง เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหา เป็นดังนี้

มึงพูดถึง “มือมาร” แล้วมึงก็เปลี่ยน “มือมาร” มาเป็น “มือมึง” แทนเสียเอง โถ!!! ไอ้จอมปลอม ไอ้โคตรโกง


ขณะที่ถ้อยคำเหล่านี้ มิได้ปรากฏอยู่โดดเดี่ยวในลักษณะหยาบคาย และมีความหมายในทางลบว่า ดูหมิ่น เหยียดหยาม อธิการบดี หรือสภา มศว หรือมหาวิทยาลัยตามที่กล่าวหา หากแต่เป็นถ้อยคำที่มีบริบทเฉพาะในทางภาษาว่าต้องการอ้างอิงถึงในความหมายใด ดังนี้

คำถามที่ 6: แนวคิดเรื่อง “Autonomous University” นั้น มีมาก่อนหน้านี้แล้วประมาณ 30 ปี ในฐานะที่เป็นปฏิกิริยาเชิงอุดมคติที่บริสุทธิ์ของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ในการตอบโต้กับการครอบงำและการปิดกั้นความเป็นอิสระและเสรีภาพทางวิชาการโดยกลุ่มอำนาจเผด็จการทหารในอดีต แล้ววันนี้ บทบัญญัติต่างๆในร่าง พ.ร.บ. มศว เป็นไปเพื่ออุดมคติชุดเดียวกันหรือ
หากเป็นเรื่องเดียวกันแล้ว เหตุใด (1)จึงมีบทบัญญัติที่รวมศูนย์อำนาจให้แก่สภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี จนมีลักษณะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเกือบทุกเรื่อง (2)จึงไม่เน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาคม(คณาจารย์ บุคลากรสนับสนุน นิสิตและชุมชนรอบข้าง) ในกระบวนการบริหารจัดการของ มศว (3)จึง “ฉวยโอกาส” เสนอร่าง พ.ร.บ.นี้กลับไปสู่รัฐบาล เพื่อเสนอต่อ สนช. อย่างเร่งรีบ ทั้งๆที่สามารถปฏิเสธได้ บนหลักการที่ว่า ทั้ง ครม. และ สนช. มิใช่องค์การบริหารและองค์การนิติบัญญัติ ที่เกิดจากระบอบประชาธิปไตย และ (4)ขณะที่ แนวคิดเรื่อง “Autonomous University” เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งเน้นการปลดปล่อย(หรือปลดแอก)ทางวิชาการ(academic liberation)ของมหาวิทยาลัย จากการกดขี่ข่มเหงของกลุ่มอำนาจเผด็จการทหาร แต่ทว่า ในร่าง พ.ร.บ. มศว กลับพลิกผันและแปลงรูปการกดขี่ข่มเหงจากภายนอกกลายเป็นการกดขี่ข่มเหงจากภายใน มศว เอง ด้วยอำนาจของสภา มศว และคณะผู้บริหาร มศว (ขออภัย พูดให้ชัดๆด้วยภาษายุคพ่อขุนรามคำแหง ดังนี้ มึงพูดถึง “มือมาร” แล้วมึงก็เปลี่ยน “มือมาร” มาเป็น “มือมึง” แทนเสียเอง โถ!!! ไอ้จอมปลอม ไอ้โคตรโกง)


ในการวิเคราะห์และอธิบายแก่นสารของข้อธรรมบางประการในพระพุทธศาสนา เพื่อให้ชาวพุทธและผู้สนใจได้เข้าถึงความหมายที่เป็นแก่นสารอย่างแท้จริง และเข้าถึงสัจธรรมจนสามารถปฏิบัติได้ทันทีด้วยตนเอง ท่านพุทธทาสภิกขุเองก็จงใจที่จะสื่อสารด้วยภาษาไทยดั้งเดิมที่ตรงไปตรงมา ดังเช่นข้อธรรมสำคัญ 2 ข้อ ได้แก่
(1)ข้อธรรมสำคัญในภาษาบาลีที่ว่า “อหังการ มมังการ” ท่านพุทธทาสภิกขุ สื่อสารด้วยคำว่า“ตัวกู ของกู” และ
(2)ข้อธรรมสำคัญอีกประการหนึ่งในภาษาบาลีที่ว่า “อตัมมยตา” ท่านพุทธทาสภิกขุ สื่อสารด้วยคำว่า“กูไม่เอากับมึงอีกแล้ว”
ผู้ถูกกล่าวหาเองได้เรียนรู้จากงานของท่านพุทธทาสภิกขุจำนวนไม่น้อย ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผู้ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับพุทธธรรมกับงานพัฒนาชนบท ผู้ถูกกล่าวหาได้เขียนถึงงานและความคิดของท่านพุทธทาสภิกขุไว้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ด้วย การเขียนอย่างตรงไปตรงมาของผู้ถูกกล่าวหาในการสะท้อนความเป็นจริงทางสังคม อาจฟังดูหยาบคายสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย หรือผู้ที่ศึกษาในสาขาที่แตกต่างกันมาก แต่นั่นเป็นคนละประเด็นกับการที่จะด่วนสรุปเอาอย่างรวบรัดว่า เป็นการประพฤติชั่วไม่สมฐานะของอาจารย์มหาวิทยาลัย หากผู้อ่านงานในลักษณะนี้เปิดใจกว้างสักนิดหนึ่ง จะเข้าใจสาระของบทความได้ไม่ยาก และจะไม่พะวงอยู่กับบางถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในระดับตื้นเขินในขณะอ่าน จนไปไม่ถึงความหมายที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลังถ้อยคำเหล่านั้น

ตัวอย่างที่ 5
ในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ร่าง พ.ร.บ. กับอนาคต มศว” ของสภาคณาจารย์และข้าราชการ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2550
ถ้อยคำที่ถูกนำมาอ้างอิง เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหา เป็นดังนี้

“ผมให้ชื่อท่านเรียกว่า กฤษณพงษ์ Syndrome”
และ
“ระบอบวิจิตร กฤษณพงษ์”

ขณะที่ถ้อยคำเหล่านี้ มิได้ปรากฏอยู่โดดเดี่ยวและมีความหมายในทางลบว่า ดูหมิ่น เหยียดหยาม อธิการบดี หรือสภา มศว หรือมหาวิทยาลัยตามที่กล่าวหา หากแต่เป็นถ้อยคำที่เป็นส่วนหนึ่งของการอภิปรายแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ อย่างเป็นอิสระและบริสุทธิ์ใจของผู้ถูกกล่าวหาในเวทีสัมมนาทางวิชาการ การใช้คำว่า “Syndrome” ในทางสังคมศาสตร์ มิใช่หมายถึงอาการป่วยทางจิตหรือทางสมอง หากแต่เป็น technical term ที่ใช้เรียกลักษณะหรือปรากฏการณ์ทาสังคมบางอย่างที่เกิดขึ้น ดังเช่น Professor L. Pye นักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงทางด้านการพัฒนาทางการเมือง(political development) ได้นำเสนอลักษณะ 3 ประการของระบบการเมืองที่มีระดับการพัฒนาทางการเมืองสูง ได้แก่ (1)Differentiation (2)Equality และ (3)Capacity และ Professor L. Pye ให้ชื่อเรียกลักษณะทั้ง 3 ประการนี้ว่า “Development Syndrome”

ในส่วนของคำว่า“ระบอบ”ก็เช่นกัน ในประชาคมวิชาการด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์การเมือง การใช้คำว่าระบอบเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่ใช้ในการ conceptualize ปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองบางอย่าง เพื่อเป็นกรอบความคิดในการวิเคราะห์(conceptual/analytical framework)ในระดับที่ลึกซึ้งมากขึ้น บ่อยครั้งทีเดียวที่เริ่มมาจากชื่อของบุคคล ดังเช่น term ต่อไปนี้
-Taksinocracy/Taksinomics มีที่มาจาก อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร
-Sarit Regime มีที่มาจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์
-Fordism มีที่มาจาก อดีตประธานาธิบดี G. Ford
-Reaganonomics มีที่มาจาก อดีตประธานาธิบดี R. Reagan
-Tatcherism มีที่มาจาก นาง M. Tatcher อดีตนายกฯของอังกฤษ
-Boycott มีที่มาจาก นาย Boycott ในความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน
-Gerrymandering มีที่มาจาก นาย Gerry ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการแบ่งเขต
เลือกตั้ง

ประเด็นที่ผู้ถูกกล่าวหากำลังอภิปรายอยู่ เป็นประเด็นสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบุคลากรทั้งหมดของมหาวิทยาลัย และเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมซึ่งเป็นผู้เสียภาษีและเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหาแสดงออกในการอภิปรายมีบริบทที่ล้อมรอบอยู่ ดังนี้

“..........เรียกว่า กฤษณพงษ์ syndrome เพราะท่านยกย่องยกยอให้มันสำเร็จ แต่ทำไมท่านยังเป็นข้าราชการอยู่ละครับ และทำไม มจธ. เขียนให้ท่านเป็นข้าราชการ และกลับไปเป็นพนักงานและให้กลับมาเป็นข้าราชการได้......... สิ่งที่ผมชี้ให้เห็นเป็นความน่ากลัว ผมเรียกมันว่า ระบอบวิจิตร กฤษณพงษ์ ให้เกียรติเอาท่านมาอยู่ในเวทีวิชาการ ผมวิเคราะห์ให้เห็นเส้นทางการเติบโตของระบอบทักษิณ และนำไปสู่การล่มสลายของการเมืองและระบบเศรษฐกิจไทย......ในแท่งขวามือเขียนให้เห็นถึงที่มาของการออกนอกระบบ ที่ไม่ใช่รากเหง้าเดียวเดียวกับกับที่อาจารย์วิชัยเขียนไว้.......... ผมชี้ให้เห็นว่าขณะนี้ประชาคมวิชาการ นักวิชาการที่เทิดทูนเสรีภาพทางวิชาการกำลังจะใช้บริบททางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีอยู่น้อยมาก........ ผลักดันในสิ่งที่เป็นความแตกต่างทางความคิดอย่างหาข้อสรุปทางวิชาการไม่ได้....ประโยชน์เพิ่มเติมข้อมูล............. ขณะนี้การแปรรูปจากส่วนราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เป็นการแปรรูปตามความพึงพอใจของผู้เขียน ส่วนราชการที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยกำลังถูกกระทำจากผู้หวังดี แต่ไม่ได้สนใจว่า คน 60-70 % อย่างน้อยจาก 144 คนที่ผมให้มา เค้าคิดเห็นด้วยเช่นนั้นไหม ผมขอถือเวทีนี้เสมือนว่าผมได้ทำหนังสือแจ้งต่อท่านอธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่า ผมเกรงว่าความพยายามที่ท่านจะเปลี่ยนสถานภาพจากส่วนราชการไปเป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับ ไม่มีกฎหมายกลางที่รองรับอยู่ ท่านระวังจะทำผิดกฎหมายด้วย ผมได้ทำหน้าที่แล้ว หากเกิดการฟ้องร้องขึ้นมาก็ถือว่าผมได้พูดแล้ว”

นอกจากนี้ ในข้อกล่าวหาที่ว่า ผู้ถูกกล่าวหากล่าวข้อความอันเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการงดรับนิสิตในปีการศึกษา 2550 ในโครงการบัณฑิตคืนถิ่นนั้น ผู้ถูกกล่าวหาขอเรียนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการแสดงความคิดเห็นของกระผม เกี่ยวกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในเรื่องซึ่งกระผมเห็นว่ามีความสำคัญ และกระผมเห็นว่า เรื่องนี้ควรได้ผ่านมติของคณะกรรมการคณะ และแม้ว่ามหาวิทยาลัยจะเห็นว่าได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว แต่การที่กระผมเห็นว่าสิ่งที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการไปแล้วเป็นไปอย่างไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม ก็มิได้แสดงว่า กระผมกล่าวเท็จแต่อย่างใด เพราะกระผมในฐานะอาจารย์ที่มีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้ย่อมมีสิทธิที่จะโต้แย้งสิ่งที่มหาวิทยาลัยดำเนินการไปแล้วได้ โดยกระผมขอยืนยันว่าสิ่งที่กระผมทำไปนั้นเป็นความบริสุทธิ์ใจ และมีเจตนาดีต่อมหาวิทยาลัย

ตัวอย่างที่ 6
ในบทความเรื่อง “การเลือกตั้งผู้แทนคณาจารย์เป็นกรรมการสภา มศว”(30 สิงหาคม 2552)
ถ้อยคำที่ถูกนำมาอ้างอิง เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหา เดิมปรากฏในเอกสาร สว.2 เป็นดังนี้

“การกำหนดให้การลงคะแนนเสียงของคณาจารย์ในคณะไม่ใช่การเลือกตัวแทนคณาจารย์ที่แท้จริง และไม่ถือเป็นที่สุดในขั้นนั้น หากแต่เป็นเพียงบันไดขึ้นสู่ความชอบธรรมจอมปลอม(fake legitimacy) ในการเลือกตั้งรอบที่สอง ซึ่งมิใช่การเลือกตั้งในความหมายของการเป็นตัวแทนคณาจารย์อย่างแท้จริง”

และต่อมามีการเพิ่มเติมถ้อยคำเพื่อตั้งเป็นข้อกล่าวหา ปรากฏในเอกสาร สว.3 ดังนี้

“....เป็นข้อบังคับที่ตั้งอยู่บนรากฐานของคติอำนาจนิยมอำพราง.........หรือ นพอัปลักษณ์...”
และ
“.....การกำหนดให้อธิการบดีในฐานะผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ...ในการแสดงบทบาทที่สามารถครอบงำการได้มาซึ่งผู้กำหนดนโยบาย... เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการวิปริตทางวิชาการที่น่าเศร้าใจยิ่ง....การเลือกตั้งที่กำลังจัดให้มีขึ้นในวันที่ 3 กันยายน 2550 เป็นการเลือกตั้งที่จอมปลอม”

ถ้อยคำที่ใช้เป็นเหตุแห่งการกล่าวหาข้างต้น หากดึงแยกออกมาอย่างโดดเดี่ยว ก็สามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายคลาดเคลื่อนไปในแง่ลบได้ ทั้งๆที่ในบทความนี้ มีการให้ข้อเท็จจริงเป็นพื้นฐาน หลังจากนั้น จึงเป็นการวิเคราะห์โดยอาศัยหลักวิชาการเป็นเครื่องมืออย่างตรงไปตรงมาและโดยสุจริตใจ เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ของสมาชิกประชาคม มศว เป็นสำคัญ

นอกจากนี้ คณะกรรมการสอบสวนยังกล่าวหากระผมว่า วิพากษ์วิจารณ์โดยไม่อยู่บนพื้นฐานตามหลักวิชาการ กระผมขอเรียนว่าประเด็นของบทความนี้เป็นประเด็นวิเคราะห์เนื้อหาทางวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลไกและกระบวนการของระบอบประชาธิปไตยที่เรียกว่า การเลือกตั้ง เนื่องจากไม่มีกรรมการท่านใดในคณะกรรมการชุดนี้ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐศาสตร์ในเรื่องการเลือกตั้ง หากกรรมการที่สอบสวนกระผมมิใช่ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับบทความทางวิชาการของกระผมชิ้นนี้แล้ว กระผมจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า การดำเนินการสอบสวนของคณะกรรมการจะเป็นไป เพื่อ“ให้เกิดความยุติธรรมตลอดกระบวนการสอบสวน”ต่อกระผม ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 14 แห่งข้อบังคับ มศว ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณาเพื่อลงโทษทางวินัย พ.ศ. 2552

กระผมขอเรียนยืนยันว่า กระผมศึกษาเรื่องการเลือกตั้งมาเป็นเวลาหลายปี และมีประสบการณ์โดยตรงในกระบวนการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ได้เคยทำงานร่วมกับองค์กรกลางตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ศึกษาเรื่องการเลือกตั้ง กระผมได้รับความรู้จาก รศ.นรนิต เศรษฐบุตร และ รศ.ดร.โกสินทร์ วงศ์สุรวัฒน์ ซึ่งเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในสังคมไทย นอกจากนี้ กระผมยังได้ศึกษาวิชาการเลือกตั้งเป็นการเฉพาะ ในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้เกรด A ในวิชานี้ บทวิเคราะห์ของกระผมจึงมิได้ไร้รากฐานทางหลักวิชาการแต่อย่างใด หรือเขียนโดยไม่มีหลักวิชาการรองรับ การกล่าวหาเพิ่มเติมข้างต้นของคณะกรรมการสอบสวนจึงไม่เป็นธรรมต่อกระผมอย่างชัดเจน

สำหรับประเด็นที่คณะกรรมการสอบสวนแจ้งว่า สภามหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดเอาไว้ใน พ.ร.บ. มศว และข้อบังคับ มศว ทุกประการแล้ว กระผมขอเรียนว่า กระผมไม่เคยเขียนใส่ร้ายหรือเหยียดหยามสภามหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยให้เสียหายไว้ที่ใดว่า มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ เพราะนั่นเป็นคนละประเด็นกับสาระที่กระผมนำเสนอไว้ในบทความข้างต้นนี้

อีกประเด็นหนึ่งที่กระผมขอนำเรียนต่อคณะกรรมการสอบสวน ก็คือ การวิเคราะห์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง policy maker กับ policy implementer เป็น topic ที่นักรัฐศาสตร์และนักรัฐประศาสนศาสตร์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง กระผมศึกษาทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์โดยตรงทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท และในระดับปริญญาโท กระผมศึกษา“วิชานโยบายสาธารณะและการวางแผน”ที่นิด้า กระผมได้ศึกษากับ รศ.ดร.ไพศาล สุริยะมงคล และศ.ดร.กฤช เพิ่มทันจิตต์ เมื่อประเมินผลการเรียน กระผมได้เกรด A ในวิชานี้ด้วย กระผมจึงมิได้วิเคราะห์และวิจารณ์โดยไร้หลักวิชาการดังที่ถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด

ตัวอย่างที่ 7
ในจดหมายเปิดผนึก เพื่อสื่อสารความรู้สู่การเปลี่ยนแปลง วันที่ 24 กันยายน 2550
ถ้อยคำที่ถูกนำมาอ้างอิง เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหา เป็นดังนี้

“เป็นการเลือกตั้งที่จอมปลอมบิดเบือน(distort psudo-election) และทอนสิทธิ์ของคณาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัย(violation of all SWU lecturers’ right)”


ขณะที่ถ้อยคำเหล่านี้ มิได้ปรากฏอยู่โดดเดี่ยวและมีความหมายในทางลบว่า ผู้เขียนมีเจตนาสบประมาทผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่า ไม่มีคุณธรรม ตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด หากแต่เป็นถ้อยคำที่เป็นส่วนหนึ่งของบริบทที่กว้างกว่านั้นของบทความทั้งบท

การโต้แย้งของผู้เขียนต่อข้อกล่าวหาตามที่อ้างถึงนี้ เป็นเช่นเดียวกันกับกรณีที่ 6 ที่กล่าวมา การทำความเข้าใจบทความนี้ให้ถูกต้องจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่พิจารณาไปพร้อมกับบทความตามตัวอย่างที่ 6 เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกัน และตั้งอยู่บนรากฐานหลักการทางวิชาการชุดเดียวกัน

ตัวอย่างที่ 8
ในการอภิปรายในเวทีการประชุมสัมมนาทางวิชาการ วันที่ 1 สิงหาคม 2552 ซึ่งจัดโดยสภาคณาจารย์ฯเรื่อง “เกณฑ์มาตรฐานภาระงานสายวิชาการ”
ถ้อยคำที่ถูกนำมาอ้างอิง เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาดูถูกเหยียดหยามและบิดเบือนข้อเท็จจริง มีจำนวนมากมาย ดังต่อไปนี้

“......ผมได้ข้อสรุปทันที.............มีสติวิปลาส.............”
“.....เขาเห็น.......เปรตหิวเงิน..........”
“.....อาจารย์ มศว เปรียบเสมือนนักโทษในแดนเถื่อน......”
...............
..............
..............
“...ผมไม่เชื่อ..............เปรตหิวเงิน....”

การนำเอาถ้อยคำบางคำแบบแยกส่วนมาเป็นข้อกล่าวหา ดูจะเป็นเจตนาร้ายต่อกระผมเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้อยคำเหล่านี้ปรากฏอยู่ท่ามกลางเนื้อหาสาระอื่นๆที่กระผมอภิปรายในเวทีนั้น คำว่า “มีสติวิปลาส” ก็ดี คำว่า “เปรตหิวเงิน” ก็ดี หรือคำว่า “อาจารย์ มศว เปรียบเสมือนนักโทษในแดนเถื่อน”ก็ดี ล้วนเป็นการใช้ภาษาไทยเชิงอุปมาอุปไมยประกอบกับการอภิปรายและมีข้อเท็จจริงประกอบเป็นพื้นฐาน

ในการอภิปรายครั้งนั้น รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ได้เสนอผลการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบของภาระงานที่ฝ่ายบริหารจัดทำต่อคณาจารย์ทั้งหมดของ มศว และสะท้อนให้เห็นผลเสียหายมากมายหลายประการโดยไม่ชอบธรรมต่อคณาจารย์ และจะส่งผลเสียหายโดยรวมต่อ มศว ด้วย การอภิปรายของกระผมมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับเนื้อหาสาระของเกณฑ์ภาระงานและผลการศึกษาของ รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ โดยตรง ไม่ใช่การอภิปรายเพื่อใสร้ายฝ่ายบริหาร หากแต่เป็นการอภิปรายทั้งในฐานะที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และได้เผยแพร่ข้อมูลต่อคณาจารย์ มศว มาอย่างต่อเนื่อง และในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจากเกณฑ์ภาระงานดังกล่าว

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อกระผมที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา กระผมขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการสอบปากคำ รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ เกี่ยวกับผลกระทบของเกณฑ์ภาระงานในช่วงเวลานั้นว่าเสียหายต่อคณาจารย์หรือไม่ แค่ไหน และอย่างไรบ้าง

ตัวอย่างที่ 9
ในหนังสือฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 เรื่อง ขอรับทราบความชัดเจนเกี่ยวกับการออกนอกระบบของ มศว
ถ้อยคำที่ถูกนำมาอ้างอิง เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหา เป็นดังนี้

“ท่านในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยสนับสนุนและยืนยันให้ มศว ออกนอกระบบหรือไม่”
และ
“กำลังรอคำตอบที่ชัดเจนจากท่านในฐานะที่ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีความรับผิดชอบสูงสุดของ มศว”

ขณะที่ถ้อยคำเหล่านี้ มิได้ปรากฏอยู่โดดเดี่ยวและมีความหมายในทางลบว่า ดูหมิ่น เหยียดหยาม อธิการบดี หรือสภา มศว หรือมหาวิทยาลัยตามที่กล่าวหา หากแต่เป็นถ้อยคำที่สื่อความหมายของคำถามต่อต่อกรรมการสภา มศว อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งมิใช่ข้อห้ามการกระทำแต่อย่างใด และการถามคำถามต่อกรรมการสภา มศว ในเรื่องที่เป็นประเด็นสาธารณะ ซึ่งกระทบต่อประชาคม มศว ทั้งหมด น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อประชาคม มศว โดยตรง

ที่สำคัญก็คือ อดีตกรรมการสภา มศว ท่านหนึ่ง ท่านไม่รู้สึกว่าคำถามที่ส่งถึงท่านเป็นเรื่องเสียหายหรือดูหมิ่นท่านแต่ประการใด ที่น่ายินดียิ่งก็คือ ท่านตอบจดหมายฉบับนี้อย่างเต็มใจและเปิดเผย และส่งคำตอบกลับมาที่กระผมโดยตรง ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านคือ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ตัวอย่างที่ 10
ในหนังสือฉบับลงวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เรื่องโปรดให้ความเมตตาต่อชาว มศวฯ
ถ้อยคำที่ถูกนำมาอ้างอิง เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นดังนี้

“.....การทำให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสิ้นสภาพการเป็นส่วนราชการ และผลักดันให้ข้าราชการเปลี่ยนสภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ย่อมหมายถึงการลดทอนความสำคัญของงานราชการ(ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีย้ำว่า “ราชการ”คืองานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) อย่างมิควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง”

อันที่จริงแล้ว ข้อความดังกล่าวนี้เป็นเพียงบางถ้อยคำในเหตุผลข้อที่ 8 จากทั้งหมด 9 ข้อที่ผู้ถูกกล่าวหานำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อประกอบการพิจารณาให้ชะลอการนำร่าง พ.ร.บ. มศว ต่อคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การดึงบางถ้อยคำออกมาเพื่อตั้งข้อกล่าวหากระผม จึงดูไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เพราะเจตนาของจดหมายฉบับนี้ หาใช่เพื่อดูหมิ่นผู้ใด หรือเพื่อให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผู้ใดไม่

ตัวอย่างที่ 11
ในบทความเรื่อง “การออกนอกระบบของ มศว เป็นมิจฉาทิฏฐิ ???”
ถ้อยคำที่ถูกนำมาอ้างอิง เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ หยาบคาย หมิ่นประมาท เสียดสี ให้ร้าย เป็นดังนี้

POSITIVIST MYTHS OF “PARTIAL PRIVATIZATION of SWU into AUTOCRATIC UNIVERSITY

ขณะที่ถ้อยคำเหล่านี้ มิได้ปรากฏอยู่โดดเดี่ยวและมีความหมายในทางลบว่า ดูหมิ่น เหยียดหยาม อธิการบดี หรือสภา มศว หรือมหาวิทยาลัยตามที่กล่าวหา หากแต่เป็นถ้อยคำที่ใช้เป็นหัวข้อส่วนหนึ่งของบทความ โดยที่บทความนี้เป็นบทความเชิงการตั้งคำถามในทางหลักการ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่หลากหลายกับความสำเร็จในการทำหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ดังจะเห็นได้ว่าชื่อของบทความมีเครื่องหมายคำถาม 3 เครื่องหมาย เพื่อกระตุ้นกระบวนการคิดและการวิเคราะห์ของสมาชิกประชาคม มศว และผู้สนใจทั่วไป อันที่จริงแล้วบทความนี้มีลักษณะเป็นกรอบความคิดที่ต้องมีการนำเสนอการอภิปรายในรายละเอียดอีกมาก ดังนั้น การนำเอาถ้อยคำบางคำมาเป็นข้อกล่าวหาต่อผู้เขียน จึงเป็นการด่วนสรุปที่เร็วเกินไปและไม่เป็นธรรมต่อผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง

ตัวอย่างที่ 12
ในบทความเรื่อง “มศว: จากระบบราชการ สู่ ระบบ “ราชกู”???”
ถ้อยคำที่ถูกนำมาอ้างอิง เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ หยาบคาย หมิ่นประมาท เสียดสี ให้ร้าย เป็นดังนี้


“ทุนนิยมสามานย์” หรือ “ทรราชประชานิยมทางการศึกษา”????


คำว่า“ทุนนิยมสามานย์” เป็นคำที่ใช้กันกว้างขวางในการวิพากษ์แนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย นักวิชาการที่ใช้คำนี้บ่อยคือ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วนคำว่า “ทรราชประชานิยม”นั้น เป็นแนวคิดของ รศ.ใจ อึ๊งภากร อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ใช้ในการวิเคราะห์และวิจารณ์แนวนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร คำว่า“ทรราช”ในตัวของมันเอง ซึ่งมาจากศัพท์วิชาการว่า “Tyranny” ถูกใช้ในแวดวงของนักรัฐศาสตร์อย่างกว้างขวาง เพื่อเปรียบเทียบกับ“Kingship”หรือ“Monarchy” และใช้มาอย่างยาวนานตั้งแต่งานเขียนของนักปรัชญาการเมืองคลาสสิกนามกระเดื่องที่มีชื่อว่า Aristotle ส่วนคำว่า“ประชานิยม”นั้น ก็เป็นแนวคิดทางวิชาการอันเป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิชาการด้านการพัฒนา โดยแปลมาจากคำต่างประเทศว่า “Populism”

เหตุผลประการที่ 4
กระผมในฐานะผู้เขียนบทความทางวิชาการและผู้อภิปรายในเวทีวิชาการ ถูกตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินความเป็นจริง เนื่องจากการกระทำที่เป็นเหตุแห่งการถูกกล่าวหาในครั้งนี้ เป็นเพียงการแสดงออกทางวิชาการด้วยการเขียนและการพูดในประเด็นสาธารณะ ตามปกติวิสัยของผู้เป็นนักวิชาการในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยความบริสุทธิ์ใจเท่านั้น ไม่ใช่การกระทำในลักษณะของการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์โดยมิชอบแต่อย่างใด ในอดีตที่ผ่านมา การสอบสวนความผิดวินัยร้ายแรงเกิดขึ้นในกรณีของการทุจริตต่อหน้าที่ และสร้างความเสียหายร้ายแรงอย่างชัดเจน ไม่เคยปรากฏเลยว่า มีการสอบสวนความผิดวินัยร้ายแรงใน มศว อันเนื่องมาจากการวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการด้วยวาจาหรือด้วยงานเขียนแต่อย่างใด กรณีของกระผมจึงเป็นกรณีแรกที่ค่อนข้างจะดูไม่ปกติแต่อย่างใด

เหตุผลประการที่ 5
ในการกล่าวหาว่ากระผมในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำความผิดวินัยร้ายแรงในครั้งนี้ ฐานความผิดที่กล่าวหากระผมไม่มีกำหนดไว้ในข้อบังคับ มศว ว่าด้วยการลงโทษทางวินัย พ.ศ. 2552. แต่อย่างใด

เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 17 ปรากฏว่ามีบทบัญญัติไว้ ดังนี้
“มาตรา 17 หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารงานบุคคล วินัยและการรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ และการพิจารณาตำแหน่งวิชาการ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับของสภาสถาบันอุดมศึกษา
.........................
ข้อบังคับตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่เป็นการขัดหรือแย้งกับที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ ก.พ.อ. กำหนดตามมาตรา 14(3)”

ตามมาตรา 14(3)ที่กล่าวมา ก.พ.อ.ได้จัดทำประกาศ ก.พ.อ. เรื่องมาตรฐานการลงโทษทางวินัยข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 ไว้เรียบร้อยแล้ว

หลังจากนั้น สภา มศว จึงได้จัดทำข้อบังคับ มศว ว่าด้วยการลงโทษทางวินัย พ.ศ. 2552 เพื่ออนุวัตรตามประกาศ ก.พ.อ.ดังกล่าว ดังนั้น การกล่าวโทษกระผมในฐานะที่เป็นข้าราชการของ มศว เกินเลยไปจากฐานความผิดที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ มศว และเป็นโทษที่รุนแรงที่สุดสำหรับชีวิตราชการ จึงไม่เป็นธรรมต่อกระผมเป็นอย่างยิ่ง

กระผมขอเรียนว่า แม้ว่าในมาตรา 41 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 จะบัญญัติความผิดลักษณะนี้ไว้ก็จริงอยู่ แต่บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งมีทั้งบุคลากรที่เป็นสายวิชาการ(คือ อาจารย์มหาวิทยาลัย) และบุคลากรที่เป็นสายสนับสนุนวิชาการ โดยที่บุคลากรสายวิชาการถือเป็นบุคลากรหลักของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีหน้าที่หลักในการถ่ายทอดความรู้ผ่านการเรียนการสอน การอภิปรายทางวิชาการ และการฝึกอบรมสัมมนา โดยอาศัยผลงานทางวิชาการในรูปของตำรา บทความทางวิชาการ และประดิษฐ์กรรมต่างๆเป็นสื่อกลาง รวมทั้งมีหน้าที่สำคัญในการค้นคว้าวิจัยเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในแขนงต่างๆ และในการปฏิบัติหน้าที่หลักดังกล่าวนี้เอง จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ วิพากษ์ และวิจารณ์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและปรากฏการณ์ทางสังคมที่หลากหลาย บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง หลักวิชาการ ความชำนาญ และการวินิจฉัยส่วนบุคคลของนักวิชาการประกอบด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทั้งนี้ เป็นไปเพื่อความก้าวหน้าและความลุ่มลึกทางวิชาการในแขนงนั้นๆเป็นหลัก และเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อสาธารณะเป็นสำคัญ การวิเคราะห์และวิจารณ์ทางวิชาการในลักษณะนี้ จึงเป็นคนละประเด็นกับการดูหมิ่นเหยียดหยามที่บุคคลหนึ่งกระทำต่ออีกบุคคลหนึ่ง บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ส่วนบุคคลหรืออคติส่วนบุคคล เพียงเพื่อทำลายล้างกันหรือเพื่อให้เกิดความสะใจเป็นหลัก

ดังนั้น ก.พ.อ.จึงตระหนักในประเด็นที่อ่อนไหวที่กล่าวมาเป็นอย่างยิ่ง จึงมิได้นำเอาความผิดตามมาตรา 41 ข้างต้นนี้ มาบรรจุไว้ในประกาศ ก.พ.อ. เพื่อให้เป็นฐานความผิดวินัยร้ายแรงแต่อย่างใด เพราะผลเสียหายที่เกิดขึ้นต่อความก้าวหน้าทางวิชาการจะเกิดขึ้นในวงกว้าง และนำไปสู่ความเสียหายของสังคมในส่วนรวมตามมาด้วย

เหตุผลประการที่ 6
การกล่าวหากระผมครั้งนี้ ดูราวกับว่ากระผมมุ่งที่จะกล่าวร้ายและสร้างความเสียหายต่อผู้บริหารและต่อ มศว เป็นสำคัญ ผ่านการเขียนและการอภิปรายที่ถูกอ้างถึงเท่านั้น

อันที่จริงแล้ว นับตั้งแต่ที่กระผมโอนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มารับราชการใน มศว ในปี พ.ศ. 2546 กระผมได้ทำหน้าที่ของอาจารย์ในด้านการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม เป็นประจำและอย่างต่อเนื่อง หาใช่มุ่งที่จะทำลายชื่อเสียงของผู้บริหารและของ มศว เป็นการเฉพาะ ผ่านหลักฐานที่คณะกรรมการสอบสวนอ้างถึงแต่ประการใดไม่

ดังนั้น เพื่อเป็นการยืนยันว่า ในฐานะที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ กระผมได้จัดทำโครงการบริการทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง ในหลากหลายประเด็นทั้งทางด้านรัฐศาสตร์ ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ด้านการพัฒนาชุมชน ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการศึกษาและอื่นๆ โดยที่หลายๆโครงการที่จัดทำ กระผมออกค่าใช้จ่ายด้วยงบประมาณส่วนตัวของกระผมเอง โดยไม่ต้องรอว่าหากไม่งบประมาณของราชการแล้วก็จะไม่สามารถดำเนินโครงการได้ กระผมขอความกรุณาให้คณะกรรมการสอบสวนเชิญคณบดีคณะสังคมศาสตร์(ผศ.ดร.กิตติมา สังข์เกษม) มาให้ปากคำ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการบริการวิชาการที่กระผมกล่าวถึงข้างต้น

กระผมขอเรียนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า หลายโครงการที่กระผมจัดทำขึ้น จำเป็นต้องไปดำเนินการในชุมชนต่างๆที่เป็นชุมชนแออัด ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการในช่วงเย็นจนถึงค่ำ หรือไม่ก็ต้องดำเนินการในวันอาทิตย์ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ชาวชุมชนพอมีเวลาว่างจากการทำมาหากินมาร่วมในโครงการได้ บางโครงการได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวชุมชน(ในชุมชนริมทางรถไฟโค้งอโศก) ให้ได้รับสิทธิในการได้รับบริการทางการแพทย์อย่างเป็นธรรมตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค โดยผ่านการพิจารณาและวินิจฉัยสั่งการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนในเวลานั้น(ศ.นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี) เพียงแต่กระผมมิได้แจ้งให้แก่มหาวิทยาลัยรับทราบ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลเผยแพร่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย เพราะเห็นว่าเมื่อชาวชุมชนได้รับสิทธิที่พึงมีตามกฎหมายแล้ว ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการโดยสมบูรณ์ การสร้างชื่อเสียงจึงมีสาระเป็นรองแม้หากมิได้มีการประชาสัมพันธ์ก็ไม่ได้ทำความเสียหายแก่ผู้ใด

กระผมขอความกรุณาให้คณะกรรมการสอบสวนได้ย้อนกลับไปดูข้อเท็จจริงว่า นับตั้งแต่ที่กระผมโอนมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระผมรับผิดชอบงานสอนของภาควิชาสังคมวิทยาและของคณะสังคมศาสตร์มากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับอาจารย์ท่านอื่นๆทั้งในภาควิชาและนอกภาควิชา บางภาคการศึกษากระผมต้องรับผิดชอบการสอนถึง 6 รายวิชา ต้องเดินทางไปองครักษ์ถึง 2 ครั้ง และต้องสอนในวันเสาร์เพิ่มเติมอีกด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นกับกระผมก็คือความเสื่อมโทรมของสุขภาพด้านหลอดลมและเส้นเสียง กระผมป่วยเป็นโรคทอนซิลอักเสบเป็นหนองเรื้อรังทั้ง 2 ข้างมาอย่างต่อเนื่อง แม้ขณะที่กำลังจัดทำคำโต้แย้งอยู่นี้ กระผมก็ยังเจ็บป่วยด้วยโรคทอนซิลเป็นหนองอย่างมากทั้ง 2 ข้าง คณะกรรมการสอบสวนสามารถขอตรวจสอบประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าวของกระผมได้ที่หน่วยบริการการแพทย์ของ มศว หลังสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ที่ศูนย์แพทย์พัฒนา และที่ร.พ.พร้อมมิตร(องค์การมหาชน) การกินยารักษาโรคดังกล่าวอย่างต่อเนื่องย่อมส่งผลร้ายต่อระบบร่างกาย โดยเฉพาะตับและไตของกระผมในระยะยาวอย่างน่าเป็นห่วงยิ่ง กระผมทุ่มเททำงานเพื่อมหาวิทยาลัยในนามของอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยา จนเจ็บป่วยและร่างกายทรุดโทรม กระผมรับงานของภาควิชาและของคณะสังคมศาสตร์ โดยไม่เคยเกี่ยงงอนด้วยเล่ห์เพทุบาย บนรากฐานของความสำนึกที่ไม่เคยลืมเลือนว่ากระผมเป็นอาจารย์ มศว เป็นข้าราชการที่อาศัยภาษีของประชาชนเลี้ยงชีพ และเป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่ต้องซื่อตรงต่อหลักวิชาการ แต่สิ่งที่กระผมได้รับเป็นการตอบแทนจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือ การถูกสอบสวนความผิดวินัยร้ายแรง โดยการถูกกล่าวหาว่าประพฤติชั่ว และดูหมิ่นเหยียดหยามมหาวิทยาลัย อธิการบดี และสภามหาวิทยาลัย ด้วยการนำคำบางคำ ประโยคบางประโยค จากงานบางชิ้นที่เป็นส่วนเสี้ยว ของภารกิจราชการทั้งหมดที่กระผมได้ทำไปเพื่อมหาวิทยาลัย มาเป็นเหตุแห่งความผิดและการกล่าวหา

การมุ่งจับถ้อยบางคำโดยไม่คำนึงถึงบริบททางวิชาการอย่างรอบด้าน และไม่คำนึงถึงการปฏิบัติภารกิจโดยรวมในฐานะอาจารย์ มศว คนหนึ่งที่ทำหน้าที่อาจารย์อย่างเต็มที่ ทุ่มเท และเสียสละเพื่องานของภาควิชาสังคมวิทยา ของคณะสังคมศาสตร์ และของ มศว โดยรวม มากล่าวหากระผมว่าประพฤติผิดวินัยร้ายแรง และประพฤติชั่วไม่สมฐานะของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จึงดูจะไม่เป็นธรรมและโหดร้ายต่อกระผมเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่เป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของกระผมในฐานะอาจารย์ มศว อย่างซื่อสัตย์ ทุ่มเท และสุจริตใจเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ดุลยภาพ ระหว่างการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารด้านหนึ่ง กับอีกด้านหนึ่ง ก็คือ การส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ(academic freedom) อันเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการสร้างความก้าวหน้และความเป็นเลิศทางวิชาการ(academic excellence)ในระยะยาวในประชาคมวิชาการ มศว อีกด้วย

ขอแสดงความนับถือ
ดร.สุรพล จรรยากูล
ผู้ถูกกล่าวหาโดยท่านอธิการบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น