วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

คำร้องทุกข์เนื่องจากถูกคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ

คำร้องทุกข์ต่อประชาคมวิชาการไทย

เรื่อง อาจารย์ มศว ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง อันเนื่องมาจากการเขียนบทความ
ทางวิชาการ การเผยแพร่บทความทางวิชาการ และการอภิปรายทางวิชาการในเวทีสัมมนา
ทางวิชาการ

เรียน คณาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิชาการในประชาคมวิชาการไทย

กระผม อ.สุรพล จรรยากูล สังกัดภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มศว ประสานมิตร ขณะนี้ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงโดยคำสั่งของท่านอธิการบดี ซึ่งมีฐานะเป็นผู้เสียหายด้วยในขณะเดียวกัน โดยมีข้อกล่าวหาปรากฏใน สว.3 ว่ากระผมได้“กระทำผิดวินัยร้ายแรง ฐานดูหมิ่นเหยียดหยามผู้ร่วมปฏิบัติราชการ และกระทำการให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วตามมาตรา 41 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547” และ “ผิดวินัยร้ายแรงตามมาตรา 39 วรรคห้า”ด้วย

มูลเหตุแห่งการกล่าวหาซึ่งนำไปสู่การสอบสวนวินัยร้ายแรงในขณะนี้ ก็คือ การที่กระผมจัดทำและเผยแพร่เอกสารทางวิชาการและอภิปรายทางวิชาการในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของ มศว อันได้แก่ประเด็นเรื่องการสรรหาอธิการบดี การเลือกตั้งกรรมการสภาคณาจารย์ ประเภทคณาจารย์ แนวทางการออกนอกระบบ และ(ร่าง)เกณฑ์ภาระงานเชิงปริมาณสายวิชาการสำหรับคณาจารย์ กระผมได้จัดทำเอกสารวิชาการเหล่านี้เมื่อ 3 ปีที่แล้วโดยประมาณ โดยรายชื่อเอกสารวิชาการที่กระผมจัดทำขึ้นปรากฏในตาราง ดังนี้

ลำดับ ชื่อเรื่อง
บทความที่ 1 “อธิการ มศว คือผู้นำที่คน มศว ศรัทธา ภูมิใจ และสุขใจที่จะร่วมงานอย่างทุ่มเท”
บทความที่ 2 “ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา มศว : ล้อ มศว คิดต่อจากอาจารย์ประเวศ”
บทความที่ 3 “ร่าง พ.ร.บ. มศว(นอกระบบ) กับ “ปรากฏการณ์อีแอบ 4 มิติ”
บทความที่ 4 “คำถามสำคัญเรื่อง มศว ออกนอกระบบราชการ”
บทความที่ 5 “การออกนอกระบบของ มศว เป็นมิจฉาทิฐิ”
บทความที่ 6 “จากระบอบทักษิณสู่ระบอบวิจิตร-กฤษณพงษ์: ทางสู่สวรรค์หรือทางลงนรกของมหาวิทยาลัยส่วนราชการไทย???”
บทความที่ 7 “มศว: จากระบบราชการ สู่ ระบบ “ราชกู”
บทความที่ 8 จดหมายเปิดผนึก เพื่อสื่อสารความรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ฉบับปรับปรุงล่าสุด 30 สิงหาคม 2550 เพิ่มเติมจากฉบับ 24 สิงหาคม 2552 ข้อเสนอต่อประชาคม มศว เรื่อง การเลือกตั้งผู้แทนคณาจารย์เป็นกรรมการสภา มศว
บทความที่ 9 จดหมายเปิดผนึก เพื่อสื่อสารความรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ฉบับ 24 กันยายน 2550 (ปรับปรุงจากฉบับ 22 กันยายน 2550) เรื่อง ความจริงของอดีตที่ถูกซ่อนเร้นในการได้มาซึ่งกรรมการสภา มศว จากการเลือกตั้งของคณาจารย์ มศว
บทความที่ 10 จดหมายถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง โปรดให้ความเมตตาต่อชาว มศว โดยชะลอการนำเสนอร่าง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(ออกนอกระบบ)ต่อคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2549

สำหรับหัวข้อการอภิปรายทางวิชาการที่มีการถอดเทปการอภิปราย และนำมาเป็นเหตุแห่งการกล่าวหาทางด้านวินัยขั้นร้ายแรงมี 2 หัวข้อ ดังนี้

ลำดับ หัวข้อ วันที่จัด/ผู้จัด
1 การเสวนาทางวิชาการ เรื่อง“เกณฑ์มาตรฐานภาระงานสายวิชาการ” วันที่ 1 สิงหาคม 2551 จัดโดยสภาคณาจารย์ฯ
2 การประชุม เรื่อง“ร่าง พ.ร.บ. กับอนาคต มศว” วันที่ 8 มกราคม 2552 จัดโดยสภาคณาจารย์ฯ

ในการใช้อำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ท่านอธิการบดีในฐานะผู้เสียหายและเป็นผู้กล่าวหาด้วย ได้ใช้ดุลพินิจของตนเองคัดเลือกบุคคลมาเป็นกรรมการในคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงชุดนี้ซึ่งมีจำนวน 7 ท่าน ประกอบด้วยรองอธิการบดี 2 ท่าน คณบดี/ผู้อำนวยการสถาบันรวม 3 ท่านและนิติกรของ มศว 1 ท่าน และนิติกรจาก สกอ.อีก 1 ท่าน

กระผมได้ทำหนังสือถึงท่านอธิการบดี เพื่อคัดค้านรองอธิการบดีซึ่งทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการสอบสวนนับแต่เริ่มต้นการสอบสวน เนื่องจากประธานคณะกรรมการสอบสวนเป็นคู่กรณีกับกระผมในคดีฟ้องร้องเรื่องอื่นๆทั้งที่ร้องเรียน/ร้องทุกข์ใน มศว และนอก มศว รวมทั้งได้คัดค้านกรรมการท่านอื่นๆ ในความไม่เหมาะสมในการทำหน้าที่กรรมการสอบสวนด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตาม ท่านอธิการบดียังคงยืนยันให้คณะกรรมการชุดเดิมทำหน้าที่ต่อไป แต่เนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ ดำเนินการสอบสวนโดยไม่ยึดเอาข้อบังคับ มศว ว่าด้วยการสอบสวนเป็นแนวทางอย่างเคร่งครัด จนทำให้การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ข้อบังคับกำหนดไว้ และในที่สุด คณะกรรมการอุทธรณ์ประจำ มศว ก็ได้วินิจฉัยให้คณะกรรมการสอบสวนย้อนกลับไปดำเนินการสอบสวนใหม่นับแต่เริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่กระผมได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ฯประจำ มศว อย่างเป็นทางการ

หลังจากที่คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนโดยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ และถูกคณะกรรมการอุทธรณ์ประจำ มศว วินิจฉัยให้ดำเนินการสอบสวนใหม่รอบที่ 2 ดังที่กล่าวมานั้น กระผมได้ทำหนังสือส่งถึงท่านอธิการบดีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อคัดค้านคณะกรรมการสอบสวนทั้งชุด เนื่องจากคณะกรรมการชุดนี้ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมในการสอบสวนได้อีกแล้ว เพราะจงใจกระทำผิดข้อบังคับว่าด้วยการสอบสวนอย่างซ้ำซาก แต่อย่างไรก็ตาม ท่านอธิการบดีก็ยังคงยืนยันให้คณะกรรมการสอบสวน ดำเนินการสอบสวนเพื่อเอาความผิดวินัยขั้นร้ายแรงต่อกระผมต่อไปอีกจวบจนปัจจุบัน และในขณะนี้ คณะกรรมการสอบสวนกำลังดำเนินการสอบสวนโดยเร่งรัดเพื่อให้ผลการสอบสวนออกมาโดยเร็ว การเร่งรัดเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมในการสอบสวนอย่างมากทีเดียว

กระผมเห็นว่า การใช้อำนาจหน้าที่ของท่านอธิการบดีในครั้งนี้ไม่เป็นธรรมต่อกระผมเป็นอย่างยิ่ง เพราะตัวท่านอธิการบดีเองมีปัญหาในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างการเป็นผู้เสียหายและการใช้ดุลพินิจคัดเลือกกรรมการ และตัวกรรมการหลายท่านก็มีปัญหาในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างการเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมในการสอบสวน และการสนองงานของอธิการบดีในฐานะผู้บริหารระดับรองลงมา

นอกจากนี้ การใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าวยังเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งส่งผลต่อการจำกัดและบั่นทอนบรรยากาศของเสรีภาพทางวิชาการในประชาคมวิชาการของ มศว อย่างน่าเป็นห่วงอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่มีการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ทางสังคม เป็นจุดเน้นสำคัญในการสร้างสรรค์องค์ความรู้และการบริการวิชาการแก่สังคมและชุมชน หากนักวิชาการภายนอก มศว จะทำการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ทางสังคมโดยเอา มศว เป็นกรณีศึกษา นักวิชาการเหล่านี้ก็จะตกอยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องโดยฝ่ายบริหารของ มศว เช่นเดียวกันกับกระผม

จากความไม่เป็นธรรมที่กระผมกล่าวมาข้างต้น กระผมจึงขอร้องทุกข์ต่อคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยไทยและต่อนักวิชาการอื่นๆในต่อประชาคมวิชาการของไทย หากท่านเห็นว่าการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร มศว ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมต่อกระผมในฐานะนักวิชาการ และอาจส่งผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการในวงกว้างในสังคมไทยด้วย โปรดกรุณาร่วมกันลงชื่อในเอกสารนี้ เพื่อแสดงถึงการไม่เห็นด้วยต่อการใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าว และเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกคำสั่งการสอบสวนวินัยร้ายแรงที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลดังกล่าวข้างต้นโดยเร็วด้วย

ด้วยความเคารพ

อาจารย์สุรพล จรรยากูล

หมายเหตุ โทร. 086-898-1801

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น