วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2553

จดหมายเปิดผนึก เรื่องการจ่ายค่าตอบแทนการสอนอาจารย์ มศว

จดหมายเปิดผนึก วันที่ 3 กรกฎาคม 2552 เรื่อง ประเด็นการแก้ไขระเบียบการเบิกจ่ายเงินรายได้ฉบับปัจจุบัน

เรียน คณาจารย์ มศว และสมาชิกประชาคม มศว ทุกท่าน
................................................................

คณาจารย์ มศว ทุกท่านคงทราบดีแล้วว่า ในวันที่ 1 สิงหาคม 2551 สภา มศว ได้อนุมัติเกณฑ์ภาระงานสายวิชาการ และหลังจากนั้น หลักเกณฑ์การจ่ายเงินรายได้ฉบับใหม่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ถูกกำหนดขึ้น

ผลที่เกิดขึ้นทันที ก็คือ มีการยกเลิกระเบียบการจ่ายเงินรายได้เดิมที่ใช้อยู่ก่อน สิ่งที่เปลี่ยนไปในระเบียบการจ่ายเงินรายได้ใหม่ มีทั้งด่านบวกและด้านลบ

ในด้านบวกนั้น ค่าตอบแทนหลายประการของบุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งย่อมสร้างความพึงพอใจให้แก่บุคลากรในส่วนนี้อย่างแน่นอน

แต่ผลในด้านลบที่ตามมาที่สำคัญ ก็คือ (1)คณาจารย์ มศว ทั้งที่เป็นข้าราชการและเป็นพนักงาน ที่สอนภาคพิเศษและภาคสมทบ ในเวลาช่วงเย็นถึงค่ำในวันธรรมดา และในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่สามารถเบิกค่าตอบแทนการสอนตามระเบียบเดิมได้อีกแล้ว และ(2)แม้กำหนดให้คณาจารย์สามารถเบิกค่าสอนเกินภาระงานสอน(เกิน 10 หน่วยกิต ต่อภาคการศึกษา)ได้ก็ตาม แต่เงื่อนไขประกอบเกี่ยวกับภาระงานเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง จนเกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีเจตนาให้เบิกค่าสอนเกินภาระงานสอนแต่อย่างใด

บัดนี้ มหาวิทยาลัยเห็นควรให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินรายได้ พ.ศ. 2551 นั้น กระผมในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากระเบียบดังกล่าว และในฐานะของกรรมการสภาคณาจารย์ฯ ประเภทผู้แทนทั่วไป ขอเสนอประเด็นที่เป็นหลักการสำคัญๆ 4 ประการ ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1

ควรระบุเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนว่า “กรณีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนการสอนในภาคพิเศษและภาคสมทบทุกระดับชั้น ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อนปีการศึกษา 2552 ให้อนุโลมใช้ระเบียบการเบิกจ่ายเงินรายได้เดิม ไปจนกระทั่งนิสิตคนสุดท้ายสำเร็จการศึกษาหรือครบระยะเวลาของการศึกษาในหลักสูตรนั้น” ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อคณาจารย์ผู้สอนทุกคนซึ่งเป็นบุคลากรของ มศว เนื่องจากคณาจารย์เหล่านั้นไม่สามารถละทิ้งความรับผิดชอบ ในการสอนรายวิชาต่างๆที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว และเมื่อเปรียบเทียบกับอาจารย์พิเศษภายนอกที่มาสอนและได้รับค่าตอบแทนในช่วงเวลาเดียวกันแล้ว ดูจะเป็นเรื่องที่ลักลั่นและบั่นทอนขวัญกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น หากได้ดำเนินการดังที่กระผมเสนอมาแล้ว คณาจารย์ มศว ที่รับผิดชอบการสอนภาคพิเศษและภาคสมทบก่อนการประกาศใช้ระเบียบฯฉบับใหม่ จะได้รับค่าตอบแทนตามสิทธิที่ควรได้ อย่างเป็นธรรม และไม่เสียขวัญและกำลังใจอย่างมาก ดังที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

ประเด็นที่ 2

ระเบียบการเบิกจ่ายฯใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ควรนำเอาเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเกณฑ์ภาระงานสายวิชาการ มาเป็นเงื่อนไขอุปสรรคในการจ่ายค่าตอบแทนการสอนเกินภาระงานสอน เพราะเป็น 2 ประเด็นที่จำเป็นต้องแยกจากกัน เนื่องจากการสอนที่เกินจำนวนชั่วโมงที่กำหนดได้เกิดขึ้นแล้ว คณาจารย์ผู้สอนได้ปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นไปแล้ว ย้อนเวลากลับไปเพื่อยกเลิกกิจกรรมเหล่านั้นไม่ได้ การกำหนดเงื่อนไขอื่นๆเพื่อเป็นอุปสรรคในการรับค่าตอบแทนการสอน ในลักษณะ“มัดมือชก”จึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อคณาจารย์ผู้สอน หากมหาวิทยาลัยต้องการให้คณาจารย์ปฏิบัติงานตามเกณฑ์ภาระงาน มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสร้างเงื่อนไขและปัจจัยที่เกื้อหนุน(encouraging conditions and factors)อื่นๆให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จึงจะเกิดผลตามที่ต้องการได้ แต่การสร้างเงื่อนไขอุปสรรคในการเบิกค่าตอบแทนดังที่กำลังทำอยู่ กลับจะเป็นเงื่อนไขและปัจจัยบั่นทอน(discouraging conditions and factors) ที่ขัดขวางความสำเร็จตามที่มหาวิทยาลัยต้องการโดยตรง


ประเด็นที่ 3

ระเบียบการเบิกจ่ายฯปัจจุบัน ควรแยกการจัดการเรียนการสอนในช่วงเวลาปกติ(เวลาราชการ) ออกจากการจัดการเรียนการสอนที่เป็นส่วนเกินตามปกติ(นอกเวลาราชการ) และจัดระเบียบการเบิกจ่ายเป็น 2 ส่วนที่ไม่มีการซ้ำซ้อนกัน หรือมีการวางเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อกันและกันในการเบิกจ่ายค่าตอบแทน ทั้งนี้ เนื่องจากว่า บุคลากรสายสนับสนุนของ มศว ที่ทำงานล่วงเวลา(โอที)ยังได้รับสิทธิเบิกค่าตอบแทนตามกฎหมาย กรรมกร ผู้ใช้แรงงานอื่นๆ แม่บ้าน และเจ้าหน้าที่ รปภ.ภาคเอกชน ก็ยังได้รับสิทธิเบิกค่าตอบแทนในลักษณะเดียวกัน หากคณาจารย์ของ มศว ซึ่งมาปฏิบัติราชการเกินเวลาปกติเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย ไม่ได้รับสิทธิในการเบิกจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว ดูจะเป็นการปฏิบัติต่อคณาจารย์ มศว ที่ยากจะยอมรับได้ทั้งในแง่ของหลักกฎหมาย ในแง่ของหลักสิทธิมนุษยชน และในแง่ของหลักศีลธรรม/มนุษยธรรม

หากมหาวิทยาลัยจะอ้างว่า คณาจารย์ต้องพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอดเวลาทั้งในและนอกเวลาราชการ ข้ออ้างเช่นนี้ใช้ได้กับกรณีจำเป็นและฉุกเฉินเท่านั้น การจัดตารางสอนนอกเวลาราชการทั้งช่วงค่ำ และช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่ใช่กิจกรรมจำเป็นและฉุกเฉิน หากแต่เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจกันดำเนินการ ของแต่ละหลักสูตรในแต่ละภาควิชาหรือคณะ ภายใต้ระบบการจัดการที่เป็นทางการตามกฎหมายของรัฐ และภายใต้การยอมรับร่วมกันว่า คณาจารย์ทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี มิใช่นักโทษหรือทาสที่ไร้อิสรภาพและเสรีภาพแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 4

มหาวิทยาลัยควรแจ้งอยางเป็นทางการไปยังคณบดี/ผู้อำนวยการอีกครั้งหนึ่งว่า การเบิกจ่ายค่าตอบแทนการสอนเกินภาระงานสอน ของคณาจารย์ที่เป็นข้าราชการจากเงินงบประมาณแผ่นดินยังเป็นสิทธิคงเดิมที่มีอยู่ หากคณะใดมิได้เตรียมตั้งงบประมาณแผ่นดินรองรับไว้ ให้เสนอเรื่องต่อมหาวิทยาลัยเพื่อเตรียมการในปีงบประมาณถัดไป และเบิกจ่ายย้อนหลังให้แก่คณาจารย์เหล่านั้น และหากมหาวิทยาลัยหรือคณะมีงบประมาณเงินรายได้เพียงพอ และต้องการเบิกจ่ายให้คณาจารย์เหล่านั้นแทนงบประมาณแผ่นดิน ก็ไม่ควรนำเงื่อนไขอื่นๆตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการเงินฯใหม่นี้มาเป็นอุปสรรคแต่อย่างใด

หากคณาจารย์ มศว ท่านใดที่ได้รับผลกระทบดังที่กระผมนำเรียนมา โปรดกรุณาสนับสนุนข้อเสนอนี้ โดยร่วมกันเสนอต่อคณบดีในคณะของท่านให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยรับทราบว่า ระเบียบการเงินฯที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จำเป็นต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน เพราะสร้างความไม่เป็นธรรม ลดสถานะของคณาจารย์ มศว ให้ต่ำกว่ากรรมกรเมืองไทย และทำลายขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่การเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่ง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา


(อาจารย์สุรพล จรรยากูล)
อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น