เรื่องสั้น เพื่อชีวิตไม่สั้น
เรื่อง “อำนาจ สัญญาจ้างงาน และความเป็นมนุษย์”
โดย สุรพล จรรยากูล
..............................................
ตอนที่ 1
“อาจารย์ทำให้พวกเรายุ่งกันไปหมดเลยนะครับ”
เสียงที่ฟังดูนุ่มนวลและสุภาพ ในประโยคแรกที่กระผมได้ยิน เมื่อสายตาของกระผมเงยหน้าขึ้นไปมองผู้ที่กำลังจะนั่งลงในเก้าอี้โซฟาตัวติดกัน ขณะนั่งรอเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง ต่อคณะอนุกรรม การสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน ณ สำนักงาน กสม. ใกล้กับสะพานหัวช้าง ในช่วงใกล้เที่ยง ของวันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2551
ผมประหลาดใจมาก กับคำพูดเช่นนั้น เพราะประโยคนี้เป็นประโยคแรกในรอบเกือบ 5 ปี ที่กระผมได้ยินต่อหน้าต่อตาเป็นครั้งแรก จากปากของ“ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของ มศว” ภายหลังจากที่กระผมโอน จากการเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เพื่อมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือของ มศว
กระผมไม่แน่ใจว่า ท่านคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และท่านผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต มศว ฝ่ายประถม ซึ่งกำลังนั่งลงอยู่ใกล้ๆได้ยินประโยคดังกล่าวหรือไม่ และหากได้ยิน ท่านทั้งสองจะรู้สึกอย่างใด ผมไม่อาจคาดเดาใจของท่านได้
นั่นไม่สำคัญเท่าไรนักหรอก สิ่งที่สำคัญและน่าสนใจก็คือ คำพูดเช่นนี้เกิดขึ้นระหว่าง“ผู้ทรงอำนาจ”ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด และ“ผู้ไร้อำนาจ”เช่นตัวกระผมเอง และเกิดขึ้นในบริเวณห้องรับแขกของสำนักงาน กสม. เพื่อรอเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของพนักงาน มศว ในการร้องเรียนต่อศาลปกครอง อันเนื่องมาจากสัญญาจ้างงาน(ที่ไม่เป็นธรรม???)
แม้ในสำนักงาน กสม. “อาการเสพติดอำนาจ”ของการข่มขู่ คุกคาม ข่มขวัญ และกล่าวหา ในนามของ “อำนาจที่เหนือกว่า” ยังไม่ลดละที่จะแสดงตัวตนออกมา ต่อผู้ที่ด้อยกว่าทั้งในตำแหน่งฐานะ อำนาจ และโอกาสที่จะถ่วงดุล
ความศักดิ์สิทธิ์ของ กสม.ในฐานะองค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ดูจะไร้ความหมายไปเสียกระมัง สำหรับอดีตสมาชิก สนช.บางคน
หากผู้ที่ได้ยินประโยคดังกล่าว มิใช่ตัวกระผมเอง เป็นคนอื่นๆใน มศว กระผมไม่แน่ใจว่าผู้ที่ได้ยินจะมีอาการถึงขั้น“ขี้แตก ขี้แตน” หรือ “ขี้ราด เยี่ยวราด”หรือไม่
โชคดี ที่ขณะนั้นและในเวลานั้น กระผมมีความรู้สึกว่า กระผมได้อยู่ใกล้ๆกับอาจารย์ของกระผมคนหนึ่ง อาจารย์ผู้ซึ่งเคยสั่งสอนกระผมมาเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ในขณะเวลาที่กระผม ยังเป็นนักศึกษาผู้เบาปัญญา ของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์(แม้ขณะนี้ ปัญญาของกระผมก็ยังมิได้มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเท่าไรนัก) และในเวลานี้ ท่านดำรงตำแหน่งเป็นประธาน กสม. องค์กรที่กระผมเชื่อมั่นว่า จะมีคำตอบที่น่ารับฟังและรับฟังได้เสมอสำหรับการแสวงหา“ความเป็นธรรม” ในสังคมที่มุ่งแข่งขันและมุ่งเอารัดเอาเปรียบกันในยุคปัจจุบัน
ตอนที่ 2
“อาจารย์สุรพล มาคนเดียวหรือคะ”
นั่นเป็นคำถามที่แฝงไว้ด้วยความประหลาดใจ หลังจากบุคคล 3 คนในฝ่ายผู้ถูกฟ้องร้องเข้าไปปรากฏตัวต่อคณะอนุกรรมการ ก่อนที่กระผมจะตามเข้าไปในห้องนั้น
เป็นความประหลาดใจ ที่กระผมพอจะคาดเดาได้ว่า ในฝ่ายผู้เสียหายที่ได้ฟ้องร้องน่าจะมีจำนวนไม่น้อย และน่าจะมาร่วมกับกระผม และมาร่วมกันให้ข้อมูล พร้อมๆกับการให้กำลังใจที่เปี่ยมล้น
แม้กระผมจะไม่ได้ยินเสียงว่า “อาจารย์สุร พล สู้สู้ อาจารย์สุรพล สู้ตาย อาจารย์สุรพล ไว้ลาย สู้ตาย สู้สู้” เพื่อ cheer up กระผมให้ฮึกเหิมและก้าวไปข้างหน้า อย่างเด็ดเดี่ยวและมั่นคง เหมือนนักกีฬาทีมชาติ แต่กระผมได้ยินเสียงของหลายๆคน ที่พยายามสะท้อนวลีที่ว่า“สัญญาทาส” ขณะที่บางเสียงกล่าวสั้นๆว่า “แย่จังเลยค่ะ” บางเสียงปรากฏพร้อมกับสีหน้าที่ดูหดหู่ และกังวลใจอย่างยิ่งว่า“หนูจะไปมีปัญญาเรียนต่อที่ไหน” เสียงที่หลากหลายและต่างถ้อยคำเหล่านี้ พยายามจะบอกกระผมในทำนองเดียวกันว่า “อาจารย์สุรพล ช่วยพวกเราด้วยค่ะ”เสียงเหล่านี้ เป็นเสียงของบุคคลที่เป็นครูของลูกสาวของกระผม ทั้งในอดีต ในปัจจุบัน และในอนาคตกาลอันใกล้ เป็นเสียงของเพื่อคณาจารย์ร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกันกับกระผม เป็นคณาจารย์ที่กระผมไม่เห็นว่าพวกเขาควรจะเป็น“พลเมืองชั้นสอง” ในบริบทของการใช้อำนาจกระทำต่อของฝ่ายบริหารของ มศว
เสียงแว่วที่ว่า“อาจารย์สุรพล ช่วยพวกเราด้วยค่ะ” ชวนให้กระผมกลับไปทบทวนประโยคข้างต้นของผู้ทรงอำนาจที่ว่า “อาจารย์ทำให้พวกเรายุ่งกันไปหมดเลยนะครับ” คำว่า “พวกเรา”คำเดียวกันนี้ ในทั้ง 2 ประโยคข้างต้น ช่างมีความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง ..... แล้วตัวกระผมเอง .......“พวกไหนกันแน่วะ???”
ผมเชื่อมั่นด้วยสามัญสำนึก และสติสัมป ชัญญะ ของกระผมเองว่า “พวกเรา”ในประโยคแรกสุดที่กระผมได้ยินมาต่อหน้าต่อตาของกระผม คงไม่มีตัวกระผมป็นสมาชิกอยู่ในนั้นเป็นแน่แท้ ไม่เช่นนั้น กระผมและ“พวกเขา”คงไม่ต้องมาเผชิญหน้ากันที่ สำนักงาน กสม.
“พวกเขา”ที่กระผมเรียก หรือ“พวกเรา”ที่พวกเขาอ้างถึง เป็นผู้ร่วมกันจัดทำสัญญาจ้างงานสำหรับคณาจารย์ที่เป็นพนักงาน มศว ขณะที่ “พวกเรา”ในวลี“ช่วยพวกเราด้วยค่ะ ”เป็นผู้ถูกสัญญานั้นบังคับใช้
การอยู่ตรงกลาง ในแง่ภูมิศาสตร์หรือในแง่กายภาพ คงใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ในสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อกระผมถูกเขี่ยออกจาก“พวกเรา”ประเภทหนึ่ง กระผมก็ต้องเป็น“พวกเรา”อีกประเภทหนึ่งจนได้ แล้วฐานยืนของกระผมคืออะไร กระผมถามตัวเองอยู่เสมอว่า “ยึดเอามิจฉาทิฐิเป็นพื้นฐานอยู่หรือเปล่า???” กระผมพยายามเตือนตนเองด้วยนัยของถ้อยคำของท่านพุทธทาสอยู่เสมอว่า “จงอย่าประทุษร้ายสรรพสัตว์” แต่ขณะเดียวกัน กระผมก็กระตุ้นเตือนตนเองอยู่เสมอ ด้วยวลีของบูรพาจารย์ที่ว่า“จงกล้าหาญทางจริยธรรม”
หาก“พวกเรา” ที่ถูกกระทำโดย“สัญญาทาส” เรียกหาความช่วยเหลือต่อหน้ากระผม กระผมจะนิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไร ถ้าเช่นนั้น ทำไม การกระทำของกระผม จึงถูกตราว่าเป็นการทำให้“ยุ่งกันไปหมด” ผู้ที่พยายามปลดปล่อยตนเองจากสัญญาทาส กลายเป็นผู้ที่สร้าง“ความยุ่ง”กระนั้นหรือ แล้วการสร้าง“ความเป็นทาส”เล่า คืออะไรกันแน่ “วีรกรรม”กระนั้นหรือ???
เมื่อนึกถึง ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เมื่อนึกถึง แม่ชีเทเรซา เมื่อนึกถึงคนเฉกเช่นอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ หรือแม้แต่ หลวงพ่อนาน ผีบุญแห่งจังหวัดสุรินทร์ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ กระผมเชื่อมั่นว่า คนเหล่านี้ยอมพลีตนสร้าง“ความยุ่ง” เพื่อขจัด“ความเป็นทาส”ทั้งสิ้น กระผมเชื่อมั่นว่า “การปลดปล่อยความเป็นมนุษย์”ในหมู่มนุษยชาติ คือเป้าหมายเบื้องปลายของคนเหล่านี้ อดีตอาจารย์ของกระผมคนนั้น ที่กระผมได้กล่าวมาข้างต้น คงมีเป้าหมายเช่นนั้นเหมือนกัน ส่วนตัวของกระผมเองคงไม่บังอาจกระทำเช่นนั้นได้ โลกของกระผมไม่ใหญ่โตมากนัก แค่ประชาคม มศว ก็ใหญ่โตเกินไปแล้วสำหรับกระผม แต่ไม่ว่ามันจะเล็กเพียงใดก็ตาม กระผมก็อยากมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อนร่วมงานของกระผมก็คงหวังเช่นเดียวกันกับกระผม
กระผมไม่คิดว่า “การสร้างสันติประชาธรรม”ใน มศว เป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าจะเป็นจริง บูรพปูชนียาจารย์ของ มศว ยังเชื่อมั่นว่าจะสร้าง“ปราชญ์ ผู้ทรงศีล”ของ มศว ได้เลย หากเราตระหนักสำนึกในการปฏิบัติต่อกัน บนพื้นฐานของความเคารพในสิทธิมนุษยชนของกันและกัน การประทุษร้ายย่อมกลายเป็นอดีตโดยพลัน กระผมยังเชื่อมั่นว่าคน มศว สามารถทำได้ ช้าหรือเร็วเป็นเรื่องของ“นาฬิกาและปฏิทิน”เท่านั้น
ตอนที่ 3
“ดิฉันอ่านสัญญา ก็ยังตกใจเลยค่ะ”
“ถ้าผมจะเป็นผู้เซ็นสัญญาฉบับนี้ ผมจะวิตก กังวลใจ และรู้สึกทุกข์ระทมเป็นอย่างยิ่ง”
ประโยคทำนองนี้ เป็นภาพสะท้อนสัญญาจ้างงานของ มศว ที่บังคับใช้กับคณาจารย์ มศว ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นความรู้สึกของผู้ที่มิใช่ “พวกเรา”ทั้ง 2 ประเภทที่กล่าวมา หากแต่มีนัยชวนให้“พวกเราทั้งหมด”ในประชาคม มศว ต้องทบทวนท่าทีและฐานคิดของพวกเรา ต่อพวกเราเองด้วยกันเสียใหม่อย่างจริงจัง
ท่าทีทางความคิดและฐานคิด ที่ควรต้องทบทวน ก็คือ ประเด็นของความเชื่อมโยงระหว่างมโนทัศน์ที่ว่าด้วย (1)การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย (2)การทำผลงานวิจัย (3)การมีอาจารย์วุฒิปริญญาเอกจำนวนมาก (4)การมีคณาจารย์ที่มีคุณภาพ เพราะมีตำแหน่งทางวิชาการจำนวนมาก ในฐานะที่เป็นเป้าหมาย(ends)ชุดหนึ่ง และมโนทัศน์ในเรื่อง (1)การกำหนดเป็นข้อบังคับ และ (2)การลงโทษในสัญญาจ้างงาน สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยสายอาจารย์ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือ(means)อีกชุดหนึ่ง
ขณะที่ฝ่าย“ผู้ทรงอำนาจ”พยายามยืนยันอย่างหนักแน่น ในเจตนาที่ดีในมิติของเป้าหมายขององค์กร และเชื่อมั่นว่า การยึดกุมในวิถีแห่งอำนาจบังคับเพื่อบรรลุเป้าหมาย พร้อมด้วยนัยซ่อนเร้นในเชิงการลงโทษ (disguised punishment) น่าจะเป็นสิ่งที่ชอบแล้วและถูกต้องแล้ว อย่างไม่น่าจะมีข้อสงสัยใดๆ แต่ทว่า ภาพสะท้อนในที่ประชุมนั้น จากบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน กลับเป็นไปในลักษณะตรงกันข้าม ตรงกันข้ามถึงขนาดที่ว่า วุฒิการศึกษาปริญญาเอก และการมีตำแหน่งทางวิชาการขั้นศาสตราจารย์ หาใช่เครื่องประกันความมีคุณภาพ ของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่แท้จริงไม่ !!
ภาพสะท้อนเชิงวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา(straightforward critical reflection)เช่นนั้น ชวนให้กระผมนึกถึงคติทางวิชาการ ในสาขาวิชาสังคมวิทยาอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า“credentialism” หรือ “คตินิยมวุฒิบัตรในฐานะใบเบิกทาง” อีกทั้งยังชวนให้ผมนึกถึงภาษิตไทยโบราณที่ว่า “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” ซึ่งตรงข้ามกับคำสอนดั้งเดิมที่ว่า“อันความรู้ รู้กระจ่างแม้อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” โดยมีภาพของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม และพ่อมหาอยู่ สุนทรธัย เป็นแบบอย่างรูปธรรมที่มีชีวิตให้เห็นเพื่อเตือนสติ
กระผมไม่คิดว่าเพื่อนคณาจารย์ มศว ของกระผม ซึ่งไม่พึงพอใจและรู้สึกหดหู่กับ“สัญญาทาส” จะเป็นบุคคลในประเภท“ขี้เกียจ สันหลังยาว” หรือประเภท“อยู่ไปวันๆ เหมือนไม้ตายซาก” นักเรียนและนิสตที่อยู่ต่อหน้าของพวกเขา คือแรงบันดาลในการแสวงหาความรู้ บนพื้นฐานความใฝ่รู้อย่างเสรี เมื่อโอกาสของชีวิตในมิติต่างๆอำนวย การศึกษาต่อจนระดับสูงสุด และการทำผลงานวิจัยบนคำถามที่สนใจจะแสวงหาคำตอบ ย่อมเป็นวิถีธรรมชาติในชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยมิต้องใช้“อาชญา”ดังวลีของท่านพุทธทาส
ณ จุดนี้ เสียงสะท้อนของคณะอนุกรรมการ จึงมุ่งไปยังประเด็นที่ว่า “การส่งเสริมและสนับสนุนด้วยวิธีการจูงใจ และการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม”ผ่านกระบวนการบริหารที่มีประสิทธิภาพ น่าจะช่วยให้ มศว บรรลุเป้าหมายของตนเองได้ อย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องสุ่มเสี่ยงต่อการถูกเหนี่ยวรั้ง ด้วยประเด็นของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงาน
หรือ“ความเป็นแรงงาน”ในทัศนะของ กสม. มีคุณค่าสูงกว่า “การเป็นพนักงาน มศว” อนิจจา!!! อย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะ“สัญญาทาส”ไม่ควรมีอยู่ใน มศว
แม้คณาจารย์เหล่านั้น จะเป็นพนักงาน มศว มิใช่ข้าราชการ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่นตัวกระผมเอง แต่กระผมเชื่อมั่นว่า สิ่งที่กระผมและเพื่อนคณาจารย์เหล่านั้นพึงปรารถนาเหมือนกัน ก็คือ “ความเป็นไท” เป็น“คนไท”ใน มศว
หรือจะมีใครบางคน จะพูดค้านแทนคนเหล่านั้นว่า ไม่จริง กรุณาเชิญปรากฏตัวด้วยครับ
เริ่ม 21.30 น.
สิ้นสุด 24.00 น.
5 ส.ค.2551
วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น