รายงานข้อเท็จจริง
ลำดับเหตุการณ์แห่งการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ
อ.สุรพล จรรยากูล
..........................................
รายงานฉบับนี้มุ่งที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการคุกคามทางวิชาการที่เกิดขึ้นจริงใน มศว ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ จนนำไปสู่การออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อลงโทษทางวินัยขั้นร้ายแรง ทั้งนี้ เพื่อให้นักวิชาการและสมาชิกของประชาคมมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้และเกิดความตระหนักว่า การคุกคามเสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งเพียงใด และไม่ควรปล่อยให้เกิดมีขึ้น เนื่องจากการคุกคามดังกล่าวจะขยายตัวมากขึ้น และจะนำไปสู่การทำลายเสรีภาพทางวิชาการโดยสิ้นเชิงในภายหลัง
เหตุการณ์ ลำดับที่ 1
อ.สุรพล จรรยากูล เขียนบทความทางวิชาการเพื่อวิเคราะห์ วิจารณ์ และเสนอแนวทางสำหรับการปรับปรุงแก้ไขในอนาคต ในเรื่องที่เกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดี มศว จำนวน 2 บทความ คือ
(1)เรื่อง “อธิการ มศว คือผู้นำที่คน มศว ศรัทธา ภูมิใจ และสุขใจที่จะร่วมงานอย่างทุ่มเท” และ
(2)เรื่อง “ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา มศว : ล้อ มศว คิดต่อจากอาจารย์ประเวศ”
โดยมีการเผยแพร่ผ่านทางอีเมล เพื่อเป็นการให้ความรู้ทางวิชาการแก่ประชาคม มศว เป็นหลัก
หมายเหตุ
-ดูบทความทั้ง 2 บทความนี้ได้ใน http://surapoljyk.blogspot.com/
-ทั้ง 2 บทความข้างต้นเป็นบทความทางวิชาการ ที่มุ่งวิเคราะห์กระบวนการสรรหาอธิการบดีของ มศว อย่างตรงไปตรงมา เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ และเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในประชาคมวิชาการ รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขประเด็นต่างๆที่เป็นปัญหาทั้งในทางหลักการและในทางปฏิบัติ โดยมิได้มีเจตนาร้ายใดๆต่อบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีหรือต่อ มศว ในฐานะที่เป็นองค์การของรัฐแต่อย่างใด
เหตุการณ์ ลำดับที่ 2
อ.สุรพล นำเสนอบทความทั้ง 2 เรื่องข้างต้นต่อคณะอนุกรรมการด้านวิชาการของ ปอมท. ซึ่ง ปอมท.จะจัดการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2549 ในเดือนกันยายน 2549 โดยมีการปรับเปลี่ยนชื่อเล็กน้อยและตัดเนื้อหาบางตอนออกไปเพื่อให้บทความกระชับเหมาะสำหรับตีพิมพ์ในเอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ และคณะอนุกรรมการฯเห็นชอบให้ตีพิมพ์ได้ โดยชื่อใหม่ของบทความทั้ง 2 บทความเป็นดังนี้
(1)เรื่อง “การสรรหาอธิการบดี มศว: ความเงียบงันที่อำพรางปัญหาและกดทับกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของประชาคม มศว” และ
(2)เรื่อง “ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา มศว : คิดต่อจากอาจารย์ประเวศ”
หมายเหตุ
-การจัดพิมพ์บทความทั้ง 2 บทความในเอกสารวิชาการโดย ปอมท.นี้มีการเผยแพร่ไปทั่วประเทศในทุกมหาวิทยาลัยของรัฐ จึงสร้างความไม่พอใจให้แก่อธิการบดี มศว เป็นอย่างยิ่ง โดยท่านอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าผู้เขียนมุ่งโจมตีและกล่าวร้ายต่อท่านและต่อ มศว
เหตุการณ์ ลำดับที่ 3
ภายหลังจากการประชุมวิชาการของ ปอมท. เสร็จสิ้นลง ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยได้มีบันทึกข้อความราชการอย่างเป็นทางการไปถึง ดร.ไชยา กุฎาคาร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ฯ มศว และดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปอมท.พร้อมกันด้วย
ในบันทึกดังกล่าวระบุถึงชื่อ อ.สุรพล และบทความของ อ.สุรพล ที่ตีพิมพ์ในเอกสารวิชาการของ ปอมท. และกำหนดให้ ดร.ไชยา ไปรายงานข้อเท็จจริงในการจัดพิมพ์บทความดังกล่าว และแสดงความรับผิดชอบต่อฝ่ายบริหารและต่อสภา มศว
หมายเหตุ
-เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงแล้ว ดร.ไชยา มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆต่อการจัดพิมพ์บทความทั้ง 2 บทความดังกล่าวเลย เพราะเป็นภารกิจของคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการในการจัดประชุมคราวนั้น ฝ่ายบริหารของ มศว จึงไม่สามารถเอาผิดและลงโทษ ดร.ไชยา ตามที่ต้องการได้ แต่เนื่องจากความไม่พอใจและความโกรธเคืองที่ยังคงอยู่ และต้องการหาผู้ที่จะเป็นเหยื่อสนองความไม่พอใจของตนเองให้ได้ ฝ่ายบริหารของ มศว จึงเบนเข็มมาสู่การเอาผิด อ.สุรพล จรรยากูล ซึ่งเป็นผู้เขียนบทความแทน
เหตุการณ์ ลำดับที่ 4
ปี พ.ศ. 2550 อธิการบดีออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง โดยในคำสั่งฉบับนี้มีการตั้งข้อกล่าวหา อ.สุรพล จำนวน 4 ข้อกล่าวหา ดังนี้
“ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงว่า อาจารย์สุรพล จรรยากูล ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตำแหน่งอาจารย์ สังกัดภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มีพฤติกรรมดังต้อไปนี้
1.อาจารย์สุรพล จรรยากูล มีพฤติกรรมทำหนังสือเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ไม่มีข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง ถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยามต่อองค์กรและตัวบุคคล
2.อาจารย์สุรพล จรรยากูล ทำหนังสือร้องเรียนการบริหารภายในของมหาวิทยาลัยต่อหน่วยงานภายนอกต่างๆ โดยร้องเรียนเรื่องเดิมซ้ำกันไปยังหน่วยงานหลายครั้ง
3.อาจารย์สุรพล จรรยากูล มีพฤติกรรมเข้าแทรกแซงและก้าวก่ายการปฏิบัติงานในเรื่องต่างๆที่ไม่เกี่ยวกับภารกิจงานสอน งานวิจัยและหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองโดยตรง เช่น เรื่องโรงเรียนสาธิต เรื่องการสรรหาคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์
4.อาจารย์สุรพล จรรยากูล มีพฤติกรรมละเว้นและทอดทิ้งหน้าที่ราชการ งานการสอนและการวิจัย และไม่เอาใจใส่การทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษานิสิตที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องจัดลำดับในการทำงานดังกล่าวเป็นสำคัญ จะละเว้นหรือทอดทิ้งไม่ได้ในเรื่องการเรียนการสอนและการวิจัยเป็นหลัก”
หมายเหตุ
-โปรดดู คำสั่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ 2247/2550 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง สั่ง ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2550
-หลักฐานที่คณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงได้รับเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหา มีเฉพาะในส่วนของข้อกล่าวหาที่ 1 เท่านั้น ส่วนข้อกล่าวหาที่ 2 ข้อกล่าวที่ 3 และข้อกล่าวหาที่ 4 ไม่มีหลักฐานสนับสนุนใดๆเลย
เหตุการณ์ ลำดับที่ 5
ผลจากคำสั่งดังกล่าวนี้ คณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงได้รวบรวมหลักฐานที่เป็นเอกสารต่างๆที่ อ.สุรพล ได้เขียนและเผยแพร่เพื่อการเรียนรู้จำนวนรวมกว่า 100 หน้า เพื่อประกอบและสนับสนุนการพิจารณาพฤติกรรมของ อ.สุรพล ในประเด็นที่ 1 ที่ว่า“1.อาจารย์สุรพล จรรยากูล มีพฤติกรรมทำหนังสือเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ไม่มีข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง ถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยามต่อองค์กรและตัวบุคคล”
เอกสารต่างๆที่คณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงรวบรวมไว้ ประกอบด้วยเอกสารดังต่อไปนี้
กลุ่มที่ 1
บทความต่างๆที่กระผมเขียนและถูกนำมาเป็นเหตุแห่งการกล่าวหาทางวินัย มีดังนี้
(1)เรื่อง “อธิการ มศว คือผู้นำที่คน มศว ศรัทธา ภูมิใจ และสุขใจที่จะร่วมงานอย่างทุ่มเท”(45 หน้า)
(2)เรื่อง “ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา มศว : ล้อ มศว คิดต่อจากอาจารย์ประเวศ”(12 หน้า)
(3)เรื่อง “ร่าง พ.ร.บ. มศว(นอกระบบ)กับ“ปรากฏการณ์อีแอบ 4 มิติ””(เผยแพร่ต่อสาธารณะใน ThaiEduWatch.com โดยเครือข่ายคัดค้านการแปรรูปการศึกษา มิใช่โดย อ.สุรพล)
(4)เรื่อง “มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ:อย่าปล่อยให้ความประมาทของบางคน กลายเป็นหายนภัยต่อสาธารณชน”(เผยแพร่ต่อสาธารณะใน ThaiEduWatch.com โดยเครือข่ายคัดค้านการแปรรูปการศึกษา มิใช่โดย อ.สุรพล)
(5)เรื่อง “คำถามสำคัญเรื่อง มศว ออกนอกระบบราชการ”
(6)เรื่อง “การออกนอกระบบของ มศว เป็นมิจฉาทิฐิ”
(7)เรื่อง “จากระบอบทักษิณสู่ระบอบวิจิตร-กฤษณพงษ์: ทางสู่สวรรค์หรือทางลงนรกของมหาวิทยาลัยส่วนราชการไทย???”
(8)เรื่อง “มศว: จากระบบราชการ สู่ ระบบ “ราชกู”
(9)จดหมายเปิดผนึก เพื่อสื่อสารความรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ฉบับปรับปรุงล่าสุด 30 สิงหาคม 2550 เพิ่มเติมจากฉบับ 24 สิงหาคม 2552 ข้อเสนอต่อประชาคม มศว เรื่อง การเลือกตั้งผู้แทนคณาจารย์เป็นกรรมการสภา มศว
(10)จดหมายเปิดผนึก เพื่อสื่อสารความรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ฉบับ 4 กันยายน 2550 เรื่อง ปรากฏการณ์ 3 กันยายน 2550 กับความรับผิดชอบเชิงจริยธรรม
(11)จดหมายเปิดผนึก เพื่อสื่อสารความรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ฉบับ 24 กันยายน 2550 (ปรับปรุงจากฉบับ 22 กันยายน 2550) เรื่อง ความจริงของอดีตที่ถูกซ่อนเร้นในการได้มาซึ่งกรรมการสภา มศว จากการเลือกตั้งของคณาจารย์ มศว
กลุ่มที่ 2
เอกสารอื่นๆที่ไม่มีลักษณะเป็นบทความวิชาการ หรือเป็นบทความวิชาการของบุคคลอื่นๆ ประกอบด้วยเอกสารดังต่อไปนี้
(1)บันทึกข้อความถึงท่านอธิการบดี เรื่อง จดหมายเปิดผนึก เพื่อขอวิงวอนให้ชะลอการนำร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(ออกนอกระบบ)เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเปิดโอกาสให้ประชาคม มศว ได้ร่วมพิจารณาจนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้อีกครั้งหนึ่ง ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2549
(2)จดหมายถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง โปรดให้ความเมตตาต่อชาว มศว โดยชะลอการนำเสนอร่าง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(ออกนอกระบบ)ต่อคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2549
(3)หนังสือถึงนายกสภา มศว และกรรมการสภา มศว(ระบุชื่อบุคคล) เรื่อง ขอรับทราบความชัดเจนเกี่ยวกับการออกนอกระบบของ มศว ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550
(4)แบบสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “การออกนอกระบบของ มศว” โดย ดร.สุรพล จรรยากูล ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์
(5)หนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล 0009/220 เรื่อง การปรับฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นหน่วยงานของรัฐ ลงวันที่ 26 เมษายน 2543
(6)บทความเรื่อง “ทิศทางของมหาวิทยาลัยนอกระบบ” เขียนโดย นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ในหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 3 มกราคม 2550
(7)บทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยในกำกับที่ควรจะเป็น” เขียนโดย ดร.วิชัย ตันศิริ ในหนังสือพิมพ์มติชน
หมายเหตุ
-การเอาผิด อ.สุรพล ด้วยการอ้างอิงถึงบทความในเอกสารวิชาการของ ปอมท. เป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหาร มศว ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกใจนัก เนื่องจากเหตุผล ดังนี้
(1)ในครั้งแรกที่ได้พยายามลงโทษ ดร.ไชยา มาแล้ว แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
(2)เงื่อนไขการเป็นเอกสารวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์คุ้มครองบทความทั้ง 2 บทความไว้แล้วในระดับหนึ่ง
(3)การเอาความผิด อ.สุรพล โดยนำเอาบทความทั้ง 2 ข้างต้นที่ตีพิมพ์มาเป็นสาเหตุ อาจจะถูกต่อต้านจากประชาคมวิชาการของประเทศได้โดยตรง
ดังนั้น อธิการบดี มศว จึงหันเหเหตุแห่งความผิดมาเป็นบทความดั้งเดิมของ อ.สุรพล ซึ่งได้เผยแพร่ต่อบุคลากร มศว ผ่านทางอีเมล์แทน
บทความจำนวน 2 บทความใน(1) และ(2) ที่ส่งทางอีเมล์เป็นบทความเดียวกันกับอีก 2 บทความที่จัดพิมพ์ในเอกสารวิชาการของ ปอมท. แต่มีขนาดยาวมากกว่า เพราะมีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการสะท้อนภาพองค์การของ มศว โดยการวิเคราะห์ผ่านสัญลักษณ์อักษร SWU
อธิการบดีนำเอาเนื้อหาของบทความทั้ง 2 นี้ ในส่วนที่แตกต่างไปจากบทความที่จัดพิมพ์ในเอกสารวิชาการของ ปอมท. มาเป็นเหตุแห่งการกล่าวหาทางวินัย
นอกจาการใช้บทความทั้ง 2 เรื่องที่ส่งทางอีเมลเป็นเหตุแห่งการกล่าวโทษแล้ว ยังดึงเอาบทความและข้อเขียนอื่นๆที่ อ.สุรพล ได้ศึกษาและวิเคราะห์เกี่ยวกับการเลือกตั้งกรรมการสภา มศว ประเภทคณาจารย์ และเกี่ยวกับการออกนอกระบบของ มศว(กลุ่ม 1 เรื่องที่ 3 ถึงเรื่องที่ 11) รวมทั้งจดหมายอื่นๆเกี่ยวกับเรื่องการออนอกระบบ(กลุ่มที่ 2 เรื่องที่ 1 ถึงเรื่องที่ 7) มาเป็นเหตุแห่งการกระทำความผิดด้วย โดยพยายามชี้ว่า อ.สุรพล ใช้คำหยาบ ใช้ข้อความเป็นเท็จสร้างความเสียหายและดูหมิ่นอธิการบดี สภามหาวิทยาลัย และ มศว
-ดูบทความเหล่านี้ได้ใน http://surapoljyk.blogspot.com/
เหตุการณ์ ลำดับที่ 6
คณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง ได้สรุปผลการสอบหาข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้
“พฤติกรรมการกระทำดังกล่าวของอาจารย์สุรพล จรรยากูล......... ถือเป็นการกระทำที่ไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม เสียดสี ก้าวร้าว หยาบคาย ดูหมิ่น กล่าวเท็จ และเหยียดหยามมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิการบดี และสภามหาวิทยาลัย อย่างที่ไม่เคยมีข้าราชการของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกระทำมาก่อน และขัดต่อพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 ว่าด้วยวินัยและการรักษาวินัย”
หมายเหตุ
-ด้วยเหตุผลของความไม่ชัดเจนในประเด็นข้อกล่าวหาว่าโยงกับเอกสารใดและส่วนใด อ.สุรพล จึงขอให้คณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงแจ้งให้ทราบให้ชัดเจนในแต่ละจุดแต่ละประเด็น แต่ในท้ายที่สุด ไม่ได้คำตอบต่อข้อสงสัยดังกล่าว อ.สุรพล จึงไม่ได้มีโอกาสไปพบคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงแต่อย่างใด มูลความผิดจึงเกิดจากการสรุปของคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น
-ไม่มีการระบุคำว่า “ผิดวินัยร้ายแรง” ตามมาตราใดมาตราหนึ่งที่ชัดเจนแต่อย่างใด
เหตุการณ์ ลำดับที่ 7
หลังจากที่คณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงสรุปผลการดำเนินงานเสร็จสิ้นแล้ว อธิการบดีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อสอบสวนความผิดวินัยร้ายแรงของ อ.สุรพล โดยในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนครั้งนี้ ได้ระบุข้อกล่าวหาว่า อ.สุรพล กระทำการผิดวินัย ดังนี้
“ด้วยอาจารย์สุรพล จรรยากูล............. ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เรื่องจัดทำเอกสารสิ่งพิพม์ต่างๆหลายฉบับ ที่มีเนื้อหาข้อความวิจารณ์โดยใช้ข้อความไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม เสียดสี ก้าวร้าว หยาบคาย ดูหมิ่นโดยกล่าวเท็จ และเหยียดหยามมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิการบดี และสภามหาวิทยาลัย และเผยแพร่เอกสารต่อสาธารณะ....... เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของมหาวิทยาลัย อธิการบดี และสภามหาวิทยาลัย........ ถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานดูหมิ่น เหยียดหยามผู้ร่วมปฏิบัติราชการ และกระทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้ที่ราชการของตน อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วตามมาตรา 41 และมาตรา 42.......”
หมายเหตุ
-โปรดดู คำสั่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ 1796/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน สั่ง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2552
เหตุการณ์ ลำดับที่ 8
คณะกรรมการสอบสวนที่อธิการบดีตั้งขึ้น ได้ใช้หลักฐานส่วนใหญ่จากคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง และไม่ใช้หลักฐานบางอย่างในการสอบสวน นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมหลักฐานอื่นๆเพิ่มเติม
เอกสารต่างๆอันเป็นหลักฐานที่คณะกรรมการสอบสวนใช้ในการดำเนินการสอบสวน จึงประกอบด้วยเอกสารดังต่อไปนี้
กลุ่มที่ 1
บทความต่างๆที่ อ.สุรพล เขียนและถูกนำมาเป็นเหตุแห่งการกล่าวหาทางวินัย มีดังนี้
(1)เรื่อง “อธิการ มศว คือผู้นำที่คน มศว ศรัทธา ภูมิใจ และสุขใจที่จะร่วมงานอย่างทุ่มเท”
(2)เรื่อง “ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา มศว : ล้อ มศว คิดต่อจากอาจารย์ประเวศ”
(3)เรื่อง “ร่าง พ.ร.บ. มศว(นอกระบบ) กับ “ปรากฏการณ์อีแอบ 4 มิติ”
(4)เรื่อง “คำถามสำคัญเรื่อง มศว ออกนอกระบบราชการ”
(5)เรื่อง “การออกนอกระบบของ มศว เป็นมิจฉาทิฐิ”
(6)เรื่อง“จากระบอบทักษิณสู่ระบอบวิจิตร-กฤษณพงษ์:ทางสู่สวรรค์หรือทางลงนรกของมหาวิทยาลัยส่วนราชการไทย???”
(7)เรื่อง “มศว: จากระบบราชการ สู่ ระบบ “ราชกู”
(8)จดหมายเปิดผนึก เพื่อสื่อสารความรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ฉบับปรับปรุงล่าสุด 30 สิงหาคม 2550 เพิ่มเติมจากฉบับ 24 สิงหาคม 2552 ข้อเสนอต่อประชาคม มศว เรื่อง การเลือกตั้งผู้แทนคณาจารย์เป็นกรรมการสภา มศว
(9)จดหมายเปิดผนึก เพื่อสื่อสารความรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ฉบับ 24 กันยายน 2550 (ปรับปรุงจากฉบับ 22 กันยายน 2550) เรื่อง ความจริงของอดีตที่ถูกซ่อนเร้นในการได้มาซึ่งกรรมการสภา มศว จากการเลือกตั้งของคณาจารย์ มศว
กลุ่มที่ 2
เอกสารอื่นๆที่ไม่มีลักษณะเป็นบทความวิชาการ หรือเป็นบทความวิชากรของบุคคลอื่นๆ ประกอบด้วยเอกสารดังต่อไปนี้
(1)จดหมายถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง โปรดให้ความเมตตาต่อชาว มศว โดยชะลอการนำเสนอร่าง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(ออกนอกระบบ)ต่อคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2549
(2)แบบสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “การออกนอกระบบของ มศว” โดย ดร.สุรพล จรรยากูล ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์
(3)หนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล 0009/220 เรื่อง การปรับฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นหน่วยงานของรัฐ ลงวันที่ 26 เมษายน 2543
(4)บทความเรื่อง “ทิศทางของมหาวิทยาลัยนอกระบบ” เขียนโดย นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ในหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 3 มกราคม 2550
(5)บทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยในกำกับที่ควรจะเป็น” เขียนโดย ดร.วิชัย ตันศิริ ในหนังสือพิมพ์มติชน
กลุ่มที่ 3
คำอภิปรายในการสัมมนาทางวิชาการที่จัดขึ้นใน มศว ที่เป็นเหตุแห่งการกล่าวหาทางวินัย ได้แก่
(1)คำอภิปรายของ อ.สุรพล ในการประชุมเรื่อง “ร่าง พ.ร.บ. กับอนาคต มศว” วันที่ 8 มกราคม 2550 จัดโดยสภาคณาจารย์ฯ(หลักฐานใหม่ของคณะกรรมการสอบสวน)
(2)คำอภิปรายของ อ.สุรพล ในการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “เกณฑ์มาตรฐานภาระงานสายวิชาการ” วันที่ 1 สิงหาคม 2551 จัดโดยสภาคณาจารย์ฯ(หลักฐานใหม่ของคณะกรรมการสอบสวน)
หมายเหตุ
-คณะกรรมการสอบสวนวินัย ได้จัดส่งสำเนาเอกสารทั้งหมดที่เป็นหลักฐานในการสอบสวนวินัยให้แก่ อ.สุรพล
-ดูบทความเหล่านี้(บางส่วน)ได้ใน http://surapoljyk.blogspot.com/
เหตุการณ์ ลำดับที่ 9
คณะกรรมการสอบสวนวินัยได้ระบุไว้ในเอกสารแจ้งข้อกล่าวหา อ.สุรพล โดยสาระสำคัญของความผิดวินัยที่อ้างอิงมาจากคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง มีดังนี้
“ด้วยคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงตามคำสั่งมหาวิทยาลัย............. ได้รายงานการสอบหาข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยร้ายแรงโดยมีการกระทำความผิดจากหลักฐานดังนี้.........
..................
..................
คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาตามเอกสาร..... มีการใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ หยาบคาย ก้าวร้าว เสียดสี ดูหมิ่นสภามหาวิทยาลับและอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผู้ถูกกล่าวหายังได้เผยแพร่และส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวัย....... มาตรา 41 ฐานกลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม ผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมปฏิบัติราชการ อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง”
และเมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้สรุปพยานหลักฐานต่างๆแล้ว ได้มีการระบุความผิดของ อ.สุรพล ไว้เพิ่มเติมอีก ดังต่อไปนี้
“พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว ถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานดูหมิ่นเหยียดหยามผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมปฏิบัติราชการ และทำลายชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ในฐานการกระทำอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและยังเป็นผู้จงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ ดังคำเปรียบเทียบ เสียดสี ล้อเลียนการบริหารนโยบายของอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา(ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร) และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ(ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน) โดยเฉพาะเรื่องนโยบายของรัฐบาลในการให้มหาวิทยาลัยของรัฐออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ทั้งๆที่เป็นข้าราชการในสังกัดสถาบันอุดมศึกษา....... ซึ่งการกระทำทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ตามมาตรา 39 วรรคห้า มาตรา 41 วรรคสอง และมาตรา 44 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547”
หมายเหตุ
-เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อสรุปของคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงเอง และข้อความที่คณะกรรมการสอบสวนอ้างถึงข้อสรุปของคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง ไม่ตรงกันในสาระสำคัญ
เหตุการณ์ ลำดับที่ 10 ก่อนที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงจะเริ่มกระบวนการสอบสวน อ.สุรพล ได้ยื่นหนังสือต่ออธิการบดีในฐานะผู้ออกคำสั่งแต่งตั้ง เพื่อใช้สิทธิตามข้อบังคับและตามกฎหมายในการคัดค้านประธานคณะกรรมการสอบสวนและกรรมการสอบสวนบางคน เนื่องจากเหตุผลด้านสภาวะการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ทั้งก่อนและหลังการได้รับคำสั่งแต่งตั้ง และเหตุผลด้านผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำหน้าที่สอบสวนและการทำหน้าที่อื่นในขณะเดียวกัน
เหตุการณ์ ลำดับที่ 11
อธิการบดีได้รับคำร้องคัดค้านกรรมการสอบสวนของ อ.สุรพล และได้วินิจฉัยให้กรรมการสอบสวนที่ถูกคัดค้านทำหน้าที่สอบสวนต่อไป โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้น
เหตุการณ์ ลำดับที่ 12
ในระหว่างที่รอให้อธิการบดีพิจารณาและวินิจฉัยคำคัดค้านคณะกรรมการสอบสวน ข้อบังคับกำหนดว่าคณะกรรมการสอบสวนต้องระงับการสอบสวนเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสอบสวนที่ถูกคัดค้านไม่ระงับการดำเนินการสอบสวนเป็นการชั่วคราวแต่อย่างใด แต่ได้ดำเนินการสอบสวนต่อไปจนถึงการสอบสวนขั้นตอนที่ 6 คือ ขั้นตอนการเรียก อ.สุรพล ไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวน แม้ว่า อ.สุรพล จะได้แจ้งถึงการคัดค้านดังกล่าวให้ทราบเป็นหนังสือแล้วก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวนี้ของคณะกรรมการสอบสวนถือว่าไม่ชอบตามข้อบังคับที่กำหนดไว้
เหตุการณ์ ลำดับที่ 13
อ.สุรพล ได้ใช้สิทธิร้องทุกข์ตามกฎหมาย โดยการร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ฯประจำ มศว ในประเด็นที่คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนโดยไม่ชอบตามข้อบังคับ ขณะที่รอคำวินิจฉับของอธิการบดีดังที่กล่าวมา
ในที่สุด คณะกรรมการอุทธรณ์ฯได้มีคำวินิจฉัย โดยกำหนดให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงกลับไปดำเนินการสอบสวนใหม่นับตั้งแต่ขั้นตอนแรก เนื่องจากการสอบสวนตามขั้นตอนที่ 1 ไม่ชอบตามข้อบังคับข้างต้น และส่งผลให้การสอบสวนอีก 5 ขั้นตอนที่ตามมาไม่ชอบตามข้อบังคับไปด้วยเช่นกัน
เหตุการณ์ ลำดับที่ 14
ผลจากการวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ อันเนื่องมาจากการจงใจกระทำการสอบสวนโดยไม่ชอบตามข้อบังคับของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงข้างต้น อ.สุรพล จึงยื่นหนังสือถึงอธิการบดีอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่คณะกรรมการสอบสวนจะเริ่มดำเนินการสอบสวนครั้งใหม่ในรอบที่ 2 ทั้งนี้ เพื่อใช้สิทธิตามกฎหมายคัดค้านคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงทั้งคณะ เนื่องจาก อ.สุรพล เห็นว่าคณะกรรมการสอบสวนทั้งคณะจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการสอบสวนให้ถูกต้องตามที่ข้อบังคับกำหนด ซึ่งเท่ากับไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมสูงสุดในการสอบสวน อ.สุรพล ได้อีกแล้ว
หมายเหตุ
-การคัดค้านคณะกรรมการสอบสวนครั้งนี้ เป็นไปตามข้อบังคับ มศว ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณาเพื่อลงโทษทางวินัย พ.ศ. 2552 ข้อ 10(7) ที่กำหนดว่า “ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิคัดค้านประธานกรรมการหรือกรรมการสอบสวน หากผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1)............
(2)............
...........
...........
(7)มีเหตุอื่นใดที่อาจทำให้การสอบสวนไม่เป็นกลางหรือเสียความเป็นธรรม”
เหตุการณ์ ลำดับที่ 15
อย่างไรก็ตาม อธิการบดีได้วินิจฉัยให้คณะกรรมการสอบสวนชุดเดิมทำหน้าที่สอบสวนต่อไป ดังเช่นที่ได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วในการคัดค้านครั้งที่ 1
เหตุการณ์ ลำดับที่ 16
ในการดำเนินการสอบสวนใหม่รอบที่ 2 นี้ ระหว่างที่รอการวินิจฉัยจากอธิการบดี คณะกรรมการสอบสวนไม่ระงับการสอบสวนเป็นการชั่วคราว แต่ได้เดินหน้าดำเนินการสอบสวนขั้นตอนที่ 1 ใหม่ต่อไปอีกเช่นเดิม จนกระทั่งถึงขั้นตอนที่เรียก อ.สุรพล ไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวน แม้ว่า อ.สุรพล จะแจ้งถึงการคัดค้านคณะกรรมการสอบสวนรอบที่ 2 ดังกล่าวให้ทราบเป็นหนังสือแล้วก็ตาม
ในขั้นตอนการให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวน อ.สุรพล แจ้งให้คณะกรรมการสอบสวนทราบถึงข้อสงสัยในข้อกล่าวหาหลายประการ และคณะกรรมการสอบสวนแจ้งว่าจะตอบข้อสงสัยในข้อกล่าวหาให้ครบถ้วน เพื่อที่ อ.สุรพล จะได้ทำคำโต้แย้งเพิ่มเติมให้ครบทุกประเด็นกล่าวหา หลังจากนั้น คณะกรรมการสอบสวนจึงจะเริ่มดำเนินการสอบปากคำพยานบุคคลในฝ่ายของ อ.สุรพล
เหตุการณ์ ลำดับที่ 17
จากการที่คณะกรรมการสอบสวนไม่ระงับการสอบสวนชั่วคราว ระหว่างที่รอการวินิจฉัยจากอธิการบดี อ.สุรพล จึงใช้สิทธิตามกฎหมายร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ฯในรอบที่ 2 อีกเช่นกัน เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบสวนทั้งคณะ เพราะดำเนินการขัดต่อข้อคับคับเช่นเดียวกันกับการสอบสวนในรอบที่ 1 ขณะนี้ อยู่ระหว่างการรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ
เหตุการณ์ ลำดับที่ 18
ในระหว่างที่คณะกรรมการสอบสวนยังมิได้ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกล่าวหาให้ครบทุกประเด็นตามที่ได้ตกลงไว้กับ อ.สุรพล คณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการเรียกพยานของ อ.สุรพล บางคนไปให้ถ้อยคำ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ นอกจากจะไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลแล้ว ยังถือว่าไม่เป็นธรรมต่อ อ.สุรพล อีกด้วย เพราะเหตุว่า อ.สุรพล และพยานของ อ.สุรพล ควรได้มีโอกาสสื่อสารเกี่ยวกับคำโต้แย้งข้อกล่าวให้ครบทุกประเด็นเสียก่อน แล้วจึงเริ่มไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวน
เหตุการณ์ ลำดับที่ 19
จากการที่คณะกรรมการสอบสวนเรียกพยานในฝ่ายของ อ.สุรพล ไปให้ถ้อยคำอย่างไม่ถูกต้องข้างต้นนั้น อ.สุรพล จึงใช้สิทธิตามกฎหมายร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ฯอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบสวนทั้งคณะ เพราะดำเนินการขัดต่อข้อคับคับอีกเช่นเดียวกัน ขณะนี้ อยู่ระหว่างการรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ
เหตุการณ์ ลำดับที่ 20
ในการสอบปากคำของพยานในฝ่ายของ อ.สุรพล มีข้อเท็จจริงว่า การสอบปากคำเป็นไปอย่างเร่งรัด โดยที่คณะกรรมการสอบสวนต้องการให้พยานของ อ.สุรพล ให้ถ้อยคำแบบสรุปความ ขณะที่พยานของ อ.สุรพล ประสงค์ที่จะให้ความคิดเห็นโดยละเอียดตามที่เป็นจริงเกี่ยวกับบทความ การกระทำ และเจตนาของ อ.สุรพล ในการเขียนและเผยแพร่บทความดังกล่าว
วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น